ข่าว

ยามีล ท้องอืดพบแก๊สในลำไส้เล็ก ให้ยาดูแลใกล้ชิด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"น้องยามีล" ท้องอืด ทีมสัตวแพทย์ดูแลอย่างใกล้ชิด" ระดมทีมแพทย์ในภูเก็ตวินิจฉัยโรค "น้องยามีล" ช่วงเย็นอาการคงที่

 

          22 ส.ค.62-วานนี้ (21 ส.ค.) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.)โดยทีมสัตวแพทย์ของศูนย์วิจัย ทช. ทะเลอันดามัน รายงานสุขภาพของน้องยามีล ตรวจพบอาการเกร็งท้องมาตั้งแต่ช่วง 20.00 น. ของวันที่ 19 สิงหาคม 2562 ทีมแพทย์เฝ้าสังเกตุอาการ โดยอาการดังกล่าวยังเป็นต่อเนื่อง ทีมแพทย์ให้ยาลดอาการอักเสบ ร่วมกับยากระตุ้นทางเดินอาหาร พร้อมสอดท่อระบายแก๊ส ทำให้ยามีลมีอาการดีขึ้นบ้าง แต่ยามีลยังมีอาการเกร็งท้อง ต่อมาได้ x-ray พบลำไส้เล็กมีการสะสมของแก๊สเป็นจำนวนมาก กระเพาะอาหารมีอาหารอยู่แต่ไม่มีการเคลื่อนตัว แต่ไม่พบวัตถุแปลกปลอม 

           อาการล่าสุด เช้านี้ เวลา 07.00 น. น้องยามีล ยังมีอาการปวดเกร็งบริเวณท้อง จะทำการ x-ray อีกครั้งในช่วงเช้า พร้อมให้ยาลดอาการปวด

            ทีมสัตวแพทย์ วินิจฉัยว่าอาจเกิดการบิดหมุนของลำไส้ ทำให้เกิดการอุดตันของระบบทางเดินอาหาร ที่เกิดจากภาวะท้องผูกก่อนหน้านี้ หรือลักษณะการว่ายน้ำที่มีการบิดตัวอย่างรวดเร็ว

               ยามีล ท้องอืดพบแก๊สในลำไส้เล็ก ให้ยาดูแลใกล้ชิด

            แนวทางการรักษา ทีมสัตวแพทย์จะพยายามระบายแก๊สออก ร่วมกับการให้ยาปฏิชีวนะ และกระตุ้นการทำงานของทางเดินอาหาร ทั้งนี้ น้องยามีล ยังอยู่ในช่วงการรักษา ทางทีมสัตวแพทย์ พิจารณาแล้วอาจเกิดภาพที่ไม่เหมาะสม จึงขอปิดการแพร่ภาพจากกล้อง CCTV ชั่วคราวก่อนในช่วงนี้ และจะอัพเดทอาการให้ทราบอย่างต่อเนื่องต่อไป

 

"ระดมทีมแพทย์ในภูเก็ตวินิจฉัยโรคน้องยามีล ช่วงเย็นอาการคงที่"
           คืบหน้า อาการยามีล ทีมสัตวแพทย์ ศูนย์วิจัย ทช. ทะเลอันดามัน ร่วมกับทีมแพทย์จากโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ประกอบด้วย แพทย์เด็ก แพทย์ศัลยกรรม วิสัญญีแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการ x-ray และทีมสัตวแพทย์ของศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวม 12 คน วินิจฉัยอาการโรคของ น้องยามิล และแนวทางการรักษา


           สาเหตุการป่วย เกิดจากสภาวะลำไส้หยุดทำงาน ซึ่งพบได้ในเด็ก (คน) เป็นอาการที่ลำไส้ไม่มีการเคลื่อนตัว ทำให้อาหารในระบบทางเดินอาหารไม่เคลื่อนที่ จึงเกิดการสะสมและเกิดการสร้างแก๊สขึ้นในระบบทางเดินอาหาร แก๊สที่เกิดขึ้นทำให้ผนังลำไส้บางลง เกิดการแตกของเส้นเลือดฝอยทำให้เกิดการติดเชื้อตามมา นอกจากนี้แก๊สที่เกิดขึ้นยังส่งผลกระทบไปดันบริเวณปอด ทำให้เกิดการหายใจติดขัดด้วย

                ยามีล ท้องอืดพบแก๊สในลำไส้เล็ก ให้ยาดูแลใกล้ชิด
             แนวทางการรักษา จะระบายอาหารที่เป็นของแข็งออกจากกระเพาะและลำไส้ ให้สารอาหารและเกลือแร่ประเภทของเหลว ให้ยาบรรเทาปวดเกร็ง และยาปฎิชีวนะอย่างต่อเนื่อง พร้อมการเฝ้าระวังตลอด ๒๔ ชั่วโมง และติดตามผลการทำงานของลำไส้ โดยใช้เครื่อง X-ray และอัลตร้าซาวด์


            สภาพอาการโดยรวม น้องยามีล มีอาการคงที่ ชีพจร 50-70 ครั้ง/นาที อัตราการหายใจ 4-8 ครั้งใน 5 นาที มีอาการปวดเกร็งในบางครั้ง อาการโดยรวมค่อนข้างคงที่ ยังอยู่ในระวังเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

 

 

ขอบคุณเรื่อง /ภาพ  : เซฟบุ๊ก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ