ข่าว

    "บิ๊กป้อม" นั่งหัวโต๊ะประชุมติดตามแก้แล้ง

   "บิ๊กป้อม" นั่งหัวโต๊ะประชุมติดตามแก้แล้ง

14 ส.ค. 2562

   "บิ๊กป้อม" นั่งหัวโต๊ะประชุมติดตามแก้แล้ง

             “บิ๊กป้อม” นั่งหัวโต๊ะประชุมติดตามแก้แล้ง กำชับทุกหน่วยงานเร่งมือช่วยเหลือ ปชช. 
เคาะงบบูรณาการน้ำ ปี 63 ราว 1.8 แสนล้าน  

   \"บิ๊กป้อม\" นั่งหัวโต๊ะประชุมติดตามแก้แล้ง

  

           วันที่ 14 สิงหาคม 2562  พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมติดตามความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และพิจารณาการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปี 2563 ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล  รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า รัฐบาลมีความห่วงใยในปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้น และเมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2562 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้เร่งดำเนินการมาตรการแก้ไขปัญหาภัยแล้งแบ่งเป็น 3 ระยะ โดยในส่วนของมาตรการเร่งด่วน ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการดำเนินการให้สามารรถช่วยเหลือประชาชนให้ทันท่วงที พร้อมมอบ สทนช. ติดตามผลการดำเนินการรายงาน ครม. ต่อไป ในส่วนของการพิจารณางบประมาณภายใต้แผนงานบูรณาการด้านทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ 256๓  ได้กำชับให้การพิจารณาแผนงานสอดคล้องกับแผนแม่บทน้ำและนโยบายของรัฐบาล ภายใต้หลักเกณฑ์ที่กำหนด จัดลำดับความสำคัญ ทั้งนี้ เพื่อลดความซ้ำซ้อนของแผนงานโครงการ จึงมอบให้สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย และ สทนช.พิจารณาความซ้ำซ้อนร่วมกับงบบูรณาการอื่นๆ งบตามภารกิจของหน่วยงาน และงบท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องด้วย

               ด้านนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์น้ำในภาพรวมของประเทศไทยในปัจจุบัน ปริมาณฝนที่ตกตั้งแต่ 1 พ.ค. – 11 ส.ค.2562 มีปริมาณต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเกือบทุกภาค  ยกเว้นภาคใต้ฝั่งตะวันออก ที่มากกว่าค่าเฉลี่ย 1% และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ที่มากกว่าค่าเฉลี่ย 3% สำหรับการคาดการณ์ฝนในระยะ 3 เดือนต่อจากนี้ เดือนสิงหาคม ปริมาณฝนใกล้เคียงค่าปกติ ยกเว้นภาคกลางและภาคตะวันออก เดือนกันยายน ปริมาณฝนใกล้เคียงค่าปกติ ยกเว้นภาคใต้ ส่วนเดือนตุลาคม ปริมาณฝนในทุกภาค ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ประมาณ 10% ในส่วนของการเคลื่อนตัวของพายุโซนร้อนวิภาในช่วงเวลาที่ผ่านมาส่งผลให้ภาคเหนือ อีสาน กลาง ตะวันออก มีฝนเพิ่มมากขึ้น ทำให้เขื่อนใหญ่มีน้ำเพิ่ม 1,560 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำปัจจุบัน มีน้ำผิวดินทั้งประเทศ 40,062 ล้าน ลบ.ม. (49%) โดยภาคเหนือ กลาง อีสาน และตะวันออก มีน้ำน้อยกว่า 50% โดยแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่มีน้ำใช้การน้อยกว่า 30% ถึง 26 แห่ง ด้านสถานการณ์น้ำ 4 เขื่อนหลัก ลุ่มเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำใช้การ 1,457 ล้าน ลบ.ม. ระบายวันละ 21 ล้าน ลบ.ม. หากไม่มีน้ำมาเติม จะระบายได้อีก 54 วัน

                  สำหรับความก้าวหน้ามาตรการเร่งด่วนที่ได้ติดตามการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย  1.ปฏิบัติการฝนหลวง เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. ถึง 11 ส.ค. 2562 จำนวน 4,214 เที่ยวบิน และมีจังหวัดที่มีรายงานฝนตกรวม 58 จังหวัด 2.การสำรวจพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำและการสนับสนุนเครื่องจักรเครื่องมือช่วยเหลือประชาชน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทานสนับสนุนเครื่องสูบน้ำสำหรับพื้นที่นาปี-พืชไร่ จำนวน 214 เครื่อง และสำหรับการอุปโภค-บริโภค 71 เครื่อง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรน้ำได้ทำการสูบน้ำ 40,154,373 ลบ.ม.  แจกจ่ายน้ำ 9,660,471 ลิตรให้กับครัวเรือน 384,346 ครัวเรือน และกรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้แจกจ่ายน้ำ 8,091,370 ลิตร เป็นต้น 3. การพิจารณาปรับแผนการระบายน้ำจากแหล่งน้ำต่าง ๆ โดยเฉพาะที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 ของความจุ สทนช. ได้ประชุมผู้เกี่ยวข้องวางแผนการระบายน้ำเป็นรายอ่างเก็บน้ำ ทั้งอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ตั้งแต่วันที่ 5 ส.ค. – 31 ต.ค. 2562 ในลักษณะเช่นเดียวกับการปรับลดการระบายน้ำ 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยมีเงื่อนไขคาดการณ์ปริมาณน้ำเข้าอ่างเก็บน้ำใช้ปีฝนแล้ง และน้ำในเขื่อนปลายฤดูฝนจะต้องไม่น้อยกว่าระดับน้ำต่ำสุด สำหรับมาตรการที่ 4 และ 5  การปรับลดการระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลักในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและแผนการใช้น้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองเพื่อการประปานครหลวง สทนช. ร่วมกับ กฟผ. กรมชลประทาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และการประปานครหลวง ประชุมหารือวางแผนการปรับลดการระบายน้ำจากสี่เขื่อนหลักในลุ่มเจ้าพระยาแบบขั้นบันไดเพื่อสำรองปริมาณน้ำไว้ต้นฤดูแล้ง 62/63 จำนวน 348 ล้าน ลบ.ม. และวางแผนการใช้น้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองเพื่อการประปานครหลวง จำนวน 15 ล้าน ลบ.ม. 

                  ในส่วนของมาตรการที่จะต้องเร่งรัดหน่วยงานดำเนินการ ประกอบด้วย การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ และแนวทางการแก้ไขให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและประชาชนในพื้นที่รับทราบในภาพรวมโดยมีกระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพ  และการเร่งรัดผลการดำเนินงานจากหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณ งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปี 2562 จำนวน 144 โครงการ เป็นงานในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน จำนวน 44 โครงการ มีผลการดำเนินการ 31% กรมทรัพยากรน้ำบาดาล จำนวน 26 โครงการ ผลการดำเนินการ 73% การประปาส่วนภูมิภาค 2 โครงการ มีผลการดำเนินการ 48% กรมพัฒนาที่ดิน 1 โครงการ มีผลการดำเนินการ 11% และมีหน่วยงานที่อยู่ระหว่างรอการจัดสรรงบประมาณจากสำนักงบประมาณ อีก 2 หน่วยงาน ได้แก่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 28 โครงการ และโครงการที่อยู่ในความร่วมมือระหว่างกองทัพบกและมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ อีก 43 โครงการ 

                   นอกจากนี้ ที่ประชุมวันนี้ยังได้ติดตามสถานการณ์น้ำที่อ่างเก็บน้ำมรสวบ อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์    ซึ่งก่อสร้างโดยสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท (รพช.) เมื่อปี พ.ศ. 2539 ความจุเก็บกักน้ำ 1.6 ล้าน ลบ.ม. ที่เกิดการซึมของน้ำผ่านใต้ฐานรากอ่างเก็บน้ำ (เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2562 เวลาประมาณ 04.00 น.) สถานการณ์ปัจจุบัน กรมทรัพยากรน้ำได้เร่งระบายน้ำผ่านทางอาคารระบายน้ำและทางระบายน้ำล้น เพื่อลดระดับน้ำในอ่าง และจากการประเมินสถานการณ์ ปริมาณน้ำที่ระบายไม่ส่งผลกระทบน้ำเอ่อล้นลำน้ำเข้าท่วมชุมชนและพื้นที่การเกษตรบริเวณท้ายอ่าง ทั้งนี้  พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และได้มอบหมายให้ สทนช. เร่งประสานหน่วยงานที่รับผิดชอบอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กให้ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงที่อยู่ในความรับผิดชอบตั้งแต่ในขั้นตอนของการออกแบบ การใช้ประโยชน์และการบำรุงรักษาให้อยู่สภาพพร้อมใช้งาน

                    สำหรับความคืบหน้าสถานการณ์ภัยแล้งที่ จ.สุรินทร์-บุรีรัมย์ ซึ่งนายกรัฐมนตรีและคณะจะลงพื้นที่ไปติดตามสถานการณ์ในต้นสัปดาห์หน้านั้น สถานการณ์ล่าสุด ที่จ.สุรินทร์ พบปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค การเกษตร และกระทบต่อการให้บริการของโรงพยาบาล เนื่องจากปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการผลิตประปา แหล่งน้ำสำคัญ โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง มีน้ำน้อยเนื่องจากฝนทิ้งช่วง ส่งผลให้การผลิตน้ำประปา ของการประปาส่วนภูมิภาคสาขาสุรินทร์ ไม่เพียงพอ โดยแนวทางแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วน ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ได้จัดตั้งห้องปฏิบัติการ (Operation Room) ภัยแล้งจังหวัดสุรินทร์ ปี 2562 เพื่อกำกับการช่วยเหลือจนกว่าสถานการณ์ภัยแล้งจะคลี่คลาย และปฏิบัติการฝนหลวงดำเนินการตั้งแต่เดือนเม.ย.62 จนถึงปัจจุบัน  นอกจากนั้นยังประสานหน่วยบัญชาการทหารพัฒนาขุดเจาะน้ำบาดาลในโรงพยาบาลจังหวัดสุรินทร์ จำนวน 8 บ่อแล้วเสร็จ ได้ปริมาณน้ำ 800,000 ลิตร รวมถึงใช้รถบรรทุกน้ำจากการประปาส่วนภูมิภาค สาขาสุรินทร์และส่วนราชการต่างๆ ส่งน้ำให้โรงพยาบาลเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น  ในส่วนของ จ.บุรีรัมย์ ปัจจุบันพบปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค เนื่องจากสถานการณ์น้ำในอ่างฯ ขนาดใหญ่และกลาง มีปริมาณน้ำน้อย โดยเฉพาะอ่างฯ ห้วยจระเข้มาก และอ่างฯ ห้วยตลาด อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ เป็นแหล่งน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปาของ กปภ.สาขาบุรีรัมย์ จำเป็นต้องหาน้ำมาเพิ่มเติมเพื่อให้เพียงพอต่อการผลิตประปา แนวทางแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วน โดยจัดทำฝนหลวงตั้งแต่ช่วงเดือน มี.ค.62 – ปัจจุบัน ปรับลดแรงดันน้ำประปาในช่วงกลางคืน ขุดชักเปิดทางน้ำภายในอ่างเก็บน้ำห้วยตลาดเพื่อให้ไหลเข้าบริเวณโรงสูบของการประปาโดยตรง และจัดหาแหล่งน้ำสำรองโดยผันน้ำจากเหมืองหินเอกชนมาเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำ รวมทั้งมอบหมายให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาล จัดทำแผนเร่งด่วนเจาะบ่อน้ำบาดาล บริเวณรอบอ่างฯ

         

          ในส่วนของในส่วนของการพิจารณาการปรับปรุงแผนงบประมาณรายจ่าย แผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ปี 2563 ซึ่งเป็นการทบทวนแผนที่คณะกรรมการฯ ชุดเดิมได้เคยเห็นชอบไว้แล้ว ที่ประชุมวันนี้ ได้ยืนยันหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ โดยหน่วยรับงบประมาณต้องส่งคำของบประมาณผ่านรัฐมนตรีเจ้าสังกัด เพื่อให้คณะกรรมการฯ พิจารณากลั่นกรองและเสนอประธานให้ความเห็นชอบ ก่อนส่งสำนักงบประมาณพิจารณา นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบคำสั่งปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ คณะกรรมการพิจารณาการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และในวันนี้ สทนช. ได้รวบรวมแผนงบประมาณด้านน้ำที่หน่วยงานปรับปรุงคำขอเพิ่มเติมจากที่อนุมัติไว้เดิม เพื่อเสนอคณะกรรมการฯ พิจารณา จำนวน 17,283 รายการ คิดเป็นวงเงินประมาณ 180,000 ล้านบาท โดยหลังจากนี้ สทนช. จะได้นำแผนงานที่ผ่านมติที่ประชุมไปจัดลำดับความสำคัญตามหลักเกณฑ์และข้อสังเกตในที่ประชุม จากนั้นจะนำเสนอสำนักงบประมาณเพื่อพิจารณาและเสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ให้ความเห็นชอบต่อไป