ข่าว

ตรวจซ้ำน้ำพริกหนุ่ม 17 ตย.กว่าร้อยละ 63 สารกันบูดเกินมาตรฐาน

ตรวจซ้ำน้ำพริกหนุ่ม 17 ตย.กว่าร้อยละ 63 สารกันบูดเกินมาตรฐาน

01 ส.ค. 2562

ฉลาดซื้อ พบสูงสุดเกินกว่า 11 เท่า แนะยกระดับมาตรฐานของฝากทั่วไทย สร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค

 

               ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคเหนือ แถลงข่าว "ผลทดสอบสารกันบูดในน้ำพริกหนุ่ม 17 ยี่ห้อ" (รอบสอง) โดย ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ กองบรรณาธิการ นิตยสารฉลาดซื้อ , นางสาวมลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการด้านอาหาร มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และนางสาวพวงทอง ว่องไว เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคเหนือ

 

 

 

ตรวจซ้ำน้ำพริกหนุ่ม 17 ตย.กว่าร้อยละ 63 สารกันบูดเกินมาตรฐาน

 

 

 

ตรวจซ้ำน้ำพริกหนุ่ม 17 ตย.กว่าร้อยละ 63 สารกันบูดเกินมาตรฐาน

 

 

 

ตรวจซ้ำน้ำพริกหนุ่ม 17 ตย.กว่าร้อยละ 63 สารกันบูดเกินมาตรฐาน

 

 

 

               เผยผลตรวจสารกันบูดในน้ำพริกหนุ่ม 17 ยี่ห้อ รอบสอง พบเพียง 2 ยี่ห้อ ที่ตรวจไม่พบสารกันบูด ที่เหลือกว่าร้อยละ 63 พบสารกันบูดเกินมาตรฐาน และไม่ระบุข้อมูลการใช้วัตถุกันเสียบนฉลากบรรจุภัณฑ์ แนะหน่วยงานรัฐลงพื้นที่สุ่มตรวจคุณภาพของฝากระดับจังหวัดทั่วประเทศ พร้อมจัดอบรมความรู้การใช้วัตถุเจือปนอาหารอย่างถูกต้องให้กับผู้ประกอบการ

 

 

 

ตรวจซ้ำน้ำพริกหนุ่ม 17 ตย.กว่าร้อยละ 63 สารกันบูดเกินมาตรฐาน

 

 

 

               ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อฯ ร่วมกับ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคเหนือ ภายใต้โครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ สุ่มเก็บตัวอย่างน้ำพริกหนุ่มในพื้นที่ภาคเหนือจำนวน 17 ตัวอย่าง ส่งตรวจวิเคราะห์หาปริมาณวัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิก และกรดซอร์บิก เป็นครั้งที่ 2 หลังจากเคยสุ่มตรวจในครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม 2561 โดยผลทดสอบ มีดังนี้

               พบ น้ำพริกหนุ่ม 2 ตัวอย่าง ที่ตรวจไม่พบสารกันบูดเลย ได้แก่ 1) น้ำพริกหนุ่มอุ้ยคำ (ตราขันโตก) จากตลาดวโรรส จ.เชียงใหม่
และ 2) น้ำพริกหนุ่ม ยี่ห้อ วรรณภา จากร้านวรรณภา จ.เชียงราย

               และ มีน้ำพริกหนุ่ม 8 ตัวอย่าง ที่ตรวจพบสารกันบูดประเภทกรดเบนโซอิก และกรดซอร์บิก แต่ไม่เกินมาตรฐาน (ไม่เกิน 500 มก./กก.) ได้แก่ 1) ยี่ห้อ แม่ศรีนวล จากร้านของฝากสามแยกเด่นชัย จ.แพร่ พบปริมาณกรดเบนโซอิก  30.67  มก./กก. 2) ยี่ห้อ มารศรี น้ำพริกหนุ่มสูตรดั้งเดิม จากตลาดสดแม่ต๋ำ จ.พะเยา พบปริมาณกรดเบนโซอิก  36.92  มก./กก. 3) ยี่ห้อ แม่มารศรี น้ำพริกหนุ่ม - ปลาร้า จากร้านปะเลอะเยอะแยะ จ.เชียงราย พบปริมาณกรดเบนโซอิก  41.73  มก./กก. 4) ยี่ห้อ ป้าแอ็ด จากตลาดหลักเมือง จ.ลำปาง พบปริมาณกรดเบนโซอิก 387.38 มก./กก. 5) ยี่ห้อ ศุภลักษณ์ รสเผ็ดมาก จากตลาดสดแม่ต๋ำ จ.พะเยา พบปริมาณกรดเบนโซอิก 51.92 มก./กก. และ กรดซอร์บิก 338.17 มก./กก. (รวม 390.09 มก./กก.)

 

 

 

ตรวจซ้ำน้ำพริกหนุ่ม 17 ตย.กว่าร้อยละ 63 สารกันบูดเกินมาตรฐาน

 

 

 

               6) ยี่ห้อ อำพัน จากร้านข้าวแต๋นของฝาก จ.ลำปาง พบปริมาณกรดเบนโซอิก 435.29 มก./กก. 7) น้ำพริกหนุ่มอุ้ยแก้ว จากตลาดสดแม่ต๋ำ จ.พะเยา พบปริมาณกรดเบนโซอิก 437.27 มก./กก. และ 8) ยี่ห้อ นันทวัน (เจียงฮาย สูตรดั้งเดิม) จาก จ.เชียงราย พบปริมาณกรดเบนโซอิก 455.80 มก./กก. โดยตั้งข้อสังเกตถึงปริมาณกรดเบนโซอิกที่ตรวจพบเล็กน้อย อาจเป็นกรดเบนโซอิกจากธรรมชาติ ซึ่งไม่ได้มาจากการเติมโดยผู้ผลิต เพราะสารกันบูดในปริมาณน้อย ไม่เพียงพอต่อการใช้เพื่อการถนอมอาหาร

               สำหรับ น้ำพริกหนุ่มที่เหลืออีก 7 ตัวอย่าง ตรวจพบปริมาณสารกันบูดมากกว่า 500 มก./กก. ซึ่งเกินมาตรฐาน ได้แก่ 1) ร้านดำรงค์ จากตลาดวโรรส จ.เชียงใหม่ พบปริมาณกรดเบนโซอิก  890.32  มก./กก. 2) น้ำพริกหนุ่มล้านนา จากตลาดของฝากเด่นชัย จ.แพร่ พบปริมาณกรดเบนโซอิก  1026.91  มก./กก. 3) ยี่ห้อ นิชา (เจ๊หงส์ น้ำพริกหนุ่ม) จากตลาดวโรรส จ.เชียงใหม่ พบปริมาณกรดเบนโซอิก  1634.20  มก./กก. 4) ยี่ห้อ เจ๊หงส์ จากตลาดวโรรส จ.เชียงใหม่ พบปริมาณกรดเบนโซอิก  1968.85  มก./กก.

 

 

 

ตรวจซ้ำน้ำพริกหนุ่ม 17 ตย.กว่าร้อยละ 63 สารกันบูดเกินมาตรฐาน

 

 

 

               5) ยี่ห้อ แม่ชไมพร จากตลาดสดอัศวิน จ.ลำปาง พบปริมาณกรดเบนโซอิก  2231.82  มก./กก. 6) ยี่ห้อ ยาใจ (รสเผ็ด) จากร้านของฝากสามแยกเด่นชัย จ.แพร่ พบปริมาณกรดเบนโซอิก  3549.75  มก./กก. และ 7) น้ำพริกหนุ่มอุมา จากตลาดสดแม่ต๋ำ จ.พะเยา พบปริมาณกรดเบนโซอิก  5649.43  มก./กก. ซึ่งตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 389 พ.ศ. 2561 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 5) อนุญาตให้ตรวจพบวัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิก ปริมาณสูงสุดได้ไม่เกิน 500 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม และ ประเภทกรดซอร์บิก ปริมาณสูงสุดได้ไม่เกิน 1000 มก./กก. ในหมวดอาหารประเภทเครื่องปรุงรส

               ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ กองบรรณาธิการ นิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า “แม้ร่างกายจะสามารถขับสารกันบูดออกได้ทางระบบปัสสาวะ แต่ถ้าหากเราได้รับสารกันบูดบ่อยๆ จากอาหารหลายชนิดในสามมื้อ โดยเฉพาะในอาหารสำเร็จรูป หรืออาหารแปรรูป อาจเกิดปัญหาต่อตับและไตซึ่งต้องทำงานหนักในการขับออก”

               นางสาวมลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการด้านอาหาร มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า “จากผลทดสอบตัวอย่างน้ำพริกหนุ่มที่พบสารกันบูดสูงสุดนั้น มีปริมาณสูงถึง 5649.43 มก./กก. ซึ่งเกินกว่าที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ถึง 11 เท่า”

 

 

 

               “นอกจากนี้ หากมีการใช้วัตถุเจือปนอาหาร เช่น วัตถุกันเสีย ก็ต้องระบุข้อมูลการใช้สารกันบูดไว้บนฉลากบรรจุภัณฑ์ให้ผู้บริโภคทราบ ซึ่งน้ำพริกหนุ่มทั้ง 17 ตัวอย่าง พบว่ามีเพียง 2 ตัวอย่าง (ร้อยละ 11) เท่านั้น ที่ระบุว่าใช้วัตถุกันเสีย โดยเฉพาะน้ำพริกหนุ่ม 7 ยี่ห้อ ที่มีปริมาณสารกันบูดเกินมาตรฐาน นั้นไม่มียี่ห้อใดเลย ที่ให้ข้อมูลบนบรรจุภัณฑ์ว่าใช้สารกันบูด”

               นางสาวพวงทอง ว่องไว เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคเหนือ กล่าวว่า “น้ำพริกหนุ่มถือว่าเป็นสินค้าประจำภาคเหนือที่นักท่องเที่ยวนิยมซื้อหาเป็นของฝาก จากผลตรวจน้ำพริกหนุ่มในครั้งนี้ พบว่ากว่าร้อยละ 63 นั้นมีปริมาณสารกันบูดเกินมาตรฐาน สิ่งที่ทางเครือข่ายจะดำเนินงานต่อคือการประสานสำนักงานสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อช่วยกันสำรวจคุณภาพมาตรฐานสินค้าของฝากประเภทอื่นๆ นอกจากน้ำพริกหนุ่ม รวมถึงได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้วัตถุเจือปนอาหารให้ถูกต้องกับผู้ประกอบการ เพื่อช่วยกันยกระดับมาตรฐานของฝากภาคเหนือ สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว”

               นางสาวมลฤดี กล่าวเสริมว่า “นอกจากสินค้าของฝากอย่าง น้ำพริกหนุ่ม โรตีสายไหม และแกงไตปลาแห้งแล้ว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้เคยสุ่มตรวจสารกันบูดในขนมปังไส้ เฉาก๊วย และขนมจีน ซึ่งส่วนใหญ่พบว่าผู้ประกอบการไม่ได้มีการแสดงฉลากให้ถูกต้องชัดเจน โดยเฉพาะข้อมูลเรื่องการใช้วัตถุเจือปนอาหารประเภทสารกันบูด จึงอยากเสนอให้หน่วยงานของรัฐที่กำกับดูแล ได้ออกกฎหมาย ข้อกำหนด หรือบทลงโทษ ให้ผู้ประกอบการได้มีการจัดทำฉลากบนบรรจุภัณฑ์ให้ชัดเจนและเป็นรูปธรรมเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค”

 

 

 

               “นอกจากนี้ ในเรื่องสินค้าประเภทของฝาก ก็อยากฝากให้หน่วยงานที่กำกับดูแลในระดับจังหวัด ได้ลงพื้นที่สุ่มตรวจคุณภาพของฝากร่วมกับผู้ประกอบการ เพื่อช่วยกันพัฒนาคุณภาพของฝากให้ได้มาตรฐาน สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค” นางสาวมลฤดีกล่าว

               อ่านผลทดสอบสารกันบูดในน้ำพริกหนุ่ม ได้ที่ https://www.chaladsue.com/article/3174