ข่าว

 3 บก.วิเคราะห์ 'สุริยะ-ธนาธร'อันตรายใหม่ในการเมืองไทย?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 3 บก.เครือเนชั่น ชำแหละสาแหรก 3 ก๊กในตระกูลจึงรุ่งเรืองกิจ - ขุดผลงานโบว์ดำ "สุริยะ" - "คดีธนาธรถือหุ้นสื่อ" หวั่น อนค.เดินเกมนอกสภาฯ ดึงมวลชนสนับสนุน

             

          เมื่อวันที่ 6 ก.ค.62 เวลา 17.00 น. นายสมชาย มีเสน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Nation Group นายวีระศักดิ์ พงศ์อักษร บรรณาธิการบริหาร หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และนายบากบั่น บุญเลิศ บรรณาธิการอำนวยการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ 3 บก.ใหญ่เครือเนชั่น ได้จัดรายการวิเคราะห์การเมือง เนชั่นสุดสัปดาห์กับ 3 บก. ออกอากาศผ่านเนชั่นทีวี ช่อง 22    ตอน “สุริยะ-ธนาธร อันตรายใหม่ ในการเมืองไทย?”

     โดยรายการแบ่งออกเป็น 3 เบรก โดยระบุว่า 2 อา-หลาน แห่งตระกูลจึงรุ่งเรืองกิจ จะเป็นบุคคลที่ร้อนที่สุดในการเมืองไทย และจะเป็นหอกข้างแคร่ในทางการเมืองไทยหรือไม่ แม้นายสุริยะจะบอกว่าปัญหาภายในพรรคพลังประชารัฐเคลียร์เรียบร้อยแล้ว แต่อย่าเพิ่งเชื่อในคำพูดของนักการเมือง เพราะสิ่งที่นักการเมืองพูดอาจไม่ใช่เรื่องจริง ก่อนหน้านี้นายสุริยะก็เคยบอกว่าไม่รับตำแหน่งรัฐมนตรี สุดท้ายก็ต้องกลับลำ  

     เบรกแรก  เปิดสาแหรกตระกูลจึงรุ่งเรืองกิจ

     3 บก.เครือเนชั่น ได้ชำแหละสาแหรกของทั้ง 3 ก๊ก ของจึงรุ่งเรืองกิจ หรือ “แซ่จึง” เป็นตระกูลที่มาจากรากเหง้าเดียวกัน โดย 3 พี่น้องในตระกูลเริ่มต้นธุรกิจมาจากซัมมิทออโต้ แต่สุดท้ายมีความแตกแยกกันในครอบครัว 

    ก๊กแรก คือ นายสรรเสริญ จุฬางกูร หรือ จึงรุ่งเรืองกิจ(เดิม) พี่ชายคนโตขัดแย้งกับพี่น้อง ถึงขั้นเปลี่ยนนามสกุล และออกไปตั้งบริษัทใหม่ รวมทั้งอาณาจักรมี 37 บริษัท มูลค่านับหมื่นล้านบาท รวมถึงกิจการสายการบินนกแอร์ หลังการเสียชีวิตของนายสรรเสริญ นายทวีฉัตร จุฬางกูร (บุตรชาย) ขึ้นมาบริหารแทน

 3 บก.วิเคราะห์ 'สุริยะ-ธนาธร'อันตรายใหม่ในการเมืองไทย?

     ก๊กที่สอง อยู่ภายใต้การบริหารของน้องชาย 2 คน คือนายโกมลและนายสุริยะ พี่น้องคู่นี้ทำธุรกิจด้วยกัน มี 10 บริษัทในนามอินเตอร์เนชั่นแนลเอ็นจีเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) ซัมมิทอิเล็กทรอนิกส์ รายได้ของกลุ่มนี้ 22,000 ล้านบาท โดยลูกชายของนายโกมล คือนายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ ปัจจุบันเป็น ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ นอกจากนี้นายสุริยะยังตั้งบริษัทของตัวเองในกลุ่มบริษัทคุ้มทอง บริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ กิจการพลังงาน รายได้มากกว่าหมื่นล้านบาท 

    และก๊กที่สาม นายพัฒนา จึงรุ่งเรืองกิจ เปลี่ยนจากซัมมิทออโต้มาเป็นไทยซัมมิท ในปัจจุบัน หลังนายพัฒนาเสียชีวิต นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ แม่ของนายธนาธร ได้บริหารกิจการในเครือไทยซัมมิท รวม 29 บริษัท มูลค่า 60,000 ล้าน รวมกิจการของ 3 ก๊ก ในตระกูลนี้ มีมูลค่าเป็นแสนล้านบาท

    “เชื่อกันว่า ทั้งหมดในชื่อไทยซัมมิทและซัมมิท นำมาสู่ชื่อสามมิตร ซึ่งเป็นทุนใหญ่ที่สุด คือ ซัมมิท ไม่ใช่ 3 ส.”

     “ตระกูล จึงรุ่งเรืองกิจ ”คนที่สนใจการเมืองคนแรก คือ นายสุริยะ เข้ามาเป็นรัฐมนตรีครั้งแรก ในสมัยรัฐบาลชวน 2 ปี 41 โดยนายสุริยะมาจากปีกพรรคกิจสังคม จากนั้นย้ายไปพรรคไทยรักไทย ได้ตำแหน่งรมว. อุตสาหกรรม และในปี 45 หลังปรับครม.ได้เป็นรมว.คมนาคม หลังเลือกตั้งปี 48 เป็นรองนายกฯควบรมว.อุตสาหกรรม ก่อนมาเป็นรัฐมนตรีนายสุริยะมีความใกล้ชิดกับนายมนตรี พงษ์พานิช ถือว่ามีสะสมประสบการณ์การเมืองมายาวนาน มีผลงานทั้งโบว์แดงและโบว์ดำ

       เมื่อนายสุริยะมาเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ ในช่วงแรกชื่อของนายสุริยะเป็นปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่ 1 แต่มีเสียงคัดค้านเรื่องภาพลักษณ์ จึงผลักดันให้นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ มาเป็นปาร์ตี้ลิสต์ ลำดับที่ 1 แทน ดันนายสุริยะไปเป็นลำดับที่ 2 และยังเป็นที่น่าสังเกตว่าหลังการเลือกตั้งผ่านไปแล้ว นายสุริยะและนายณัฏฐพล ยังตกเป็นข่าวชิงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกันอีก ซึ่งก่อนหน้านี้การสำรวจความเห็นของ โพลล์เนชั่น ผลปรากฏว่า เสียงส่วนใหญ่เห็นว่าไม่ควรให้กลุ่มสามมิตรคุมกระทรวงพลังงาน อาจเป็นเพราะภาพลักษณ์ในอดีตบอกปัจจุบัน ทำให้มีข้อเคลือบแคลงและตั้งข้อสงสัยในตัวนายสุริยะ

   เบรกสอง ผลงานชิ้นโบว์ดำ"สุริยะ"

      ย้อนไปดูผลงานกว่า 20 ปี ในวงการทางการเมืองของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ในบทบาทรมว.อุตสาหกรรม ในยุคของนายสุริยะมีการแปรรูป ปตท. รัฐวิสาหกิจในปี 44  ขายหุ้นหมดเกลี้ยงภายในเวลา 1.17 นาที ซึ่งเป็นการเปิดขายหุ้นแบบไอพีโอที่เปิดให้จองผ่านสถาบันการเงิน

      ในยุคนั้นปตท.เป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้การดูแลของรมว.อุตสาหกรรม  เมื่อหุ้นปตท. ถูกขายให้นักการเมือง ญาติ และพรรคพวก นายทวีฉัตร จุฬางกูร หลานชายของนายสุริยะซื้อหุ้น 2.2 ล้านหุ้น และตระกูลมหากิจศิริ 5.108 ล้านหุ้น ในครั้งนั้นมีการชี้แจงว่านายทวีฉัตรเป็นนักเล่นหุ้น จึงได้รับสัดส่วนหุ้นจากโบรกเกอร์แสนหุ้น และได้หุ้นผู้มีอุปการะคุณจากปตท. 2.1 ล้านหุ้น  จึงมีการตั้งข้อสงสัยว่าได้สิทธิ์เกินสิทธิ์ ซื้อในราคาพาร์ 35 บาท หลังซื้อหุ้น 20 ปี เมื่อแตกพาร์มาแล้วราคาหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่า กลายเป็นประเด็นให้มีการเรียกร้องให้ทวงคืนปตท. จากนั้นในปี 2545 มีมติครม.ให้นายสุริยะไปวางโครงสร้างกระทรวงพลังงานเท่ากับว่านายสุริยะเป็นผู้ให้กำเนิดกระทรวงพลังงาน แต่ยังไม่เคยเป็นรมว.พลังงาน  ยังไม่ได้นั่งว่าการ ครั้งนี้จึงอาจเป็นความใฝ่ฝัน 

 3 บก.วิเคราะห์ 'สุริยะ-ธนาธร'อันตรายใหม่ในการเมืองไทย?

    ต่อมาเป็นอีกผล'งาน "โบว์ดำ"ในกระทรวงคมนาคมของนายสุริยะ ได้แก่ ก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ เครื่องตรวจวัตถุระเบิด ซีทีเอ็กซ์-เสี่ยเช จัดซื้อในวงเงิน 2,608 ล้านบาท แต่มีการตรวจสอบราคาซื้อจริงในต่างประเทศ 26 เครื่อง ควรมีราคาเพียง  1,432 ล้านบาท ส่วนต่างมากถึง 1,176 ล้านบาท  โครงการแอร์พอร์ตลิงค์งบลงทุนกว่า 25,000 ล้านบาท ซึ่งขาดทุนย่อยยับ ซึ่งกำลังจะขายพ่วงให้ซีพี

     และยังมีประเด็น สินบนโรลส์-รอยซ์ เครื่องยนต์ของเครื่องบิน  โดยมีคำให้การของผู้บริหารโรลส์-รอยซ์ ต่อศาลในประเทศอังกฤษ ว่าจ่ายสินบนให้ทางการไทย 1,273 ล้านบาท คดีดังกล่าวในอังกฤษศาลสั่งให้จ่ายค่าปรับไปแล้ว แต่ในเมืองไทยยังไม่มีผลการสอบสวนออกมา คดียังค้างอยู่ในสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทั้งนี้หากเป็นค่าคอมมิชชั่นที่ถูกต้องตามกฎหมายในสหรัฐอเมริกา โบอิ้ง อยู่ที่ 3%  ส่วนแอร์บัสในฝรั่งเศสคอมมิชชั่นอยู่ที่  5%  ในคำให้การระบุว่า เงินถูกโอนไปสิงคโปร์ และมีการขนเงินสดมายังโรงเรียนพาณิชยการแห่งหนึ่ง

    “นอกจากนี้ นายสุริยะยัง ยังมีผลงานเกี่ยวข้องกับสัมปทานดิวตี้ฟรี ปี  49  ประมูลจ้างเหมารปภ.สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งบริษัทล็อกซ์เลย์ได้สัญญา ผลงานประเมินทุก 3 ปี แต่สัญญาที่ให้ล็อกเลย์ให้ยาว 10 ปี นี่คือความผิดปกติ นายสุริยะจึงสร้างอนุสาวรีย์ไว้ 2-3 เรื่อง แอร์พอร์ตลิงค์ สุวรรณภูมิ ซีทีเอ็กซ์ โรลส์-รอยซ์ ปตท. จึงเป็นเรื่องที่ทำให้คนเคลือบแคลง ถ้านายสุริยะไปอยู่ในกระทรวงที่มีผลประโยชน์เยอะๆ จะมีปัญหาซ้ำรอยเดิมเกิดขึ้นอีกหรือไม่ หลังต่อรองกับพรรคภูมิใจไทยไม่ได้กระทรวงคมนาคม ก็มาแย่งกระทรวงพลังงานกับคนในพรรคพลังประชารัฐด้วยกันเอง ทำให้ต้องตามไปดูว่ากระทรวงพลังงานมีขุมทรัพย์อะไรที่รอรัฐมนตรีคนใหม่มาอนุมัติขับเคลื่อน”

      สำหรับขุมทรัพย์ในกระทรวงพลังงาน ได้แก่ กลุ่ม ปตท. 103,697 ล้านบาท การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) 50,000 ล้านบาท กระทรวงพลังงานมีงบไม่มาก แต่มีเงินนอกงบประมาณ กองทุนน้ำมัน  35,575 ล้านบาท กองทุนอนุรักษ์ส่งเสริมพลังงาน 27,633 ล้านบาท เฉพาะ 2 ส่วนนี้ เป็นเงินนอกงบประมาณที่ระบบตรวจสอบต่ำกว่าเงินในงบประมาณ อำนาจบริหารสั่งการอยู่ในมือของ  รมว.พลังงาน โครงการที่รอการอนุมัติของรัฐมนตรี อาทิ การนำเข้าก๊าซ LNG ไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปี วงเงิน 1 แสนล้าน การปรับโควต้าโรงไฟฟ้าก๊าซสุราษฏร์ธานีของ กฟผ.ให้เอกชน 1 ราย ลงทุน 20,000 ล้านบาท วิจารณ์กันว่าโครงการนี้ 1 เม็ก 10 ปึก 1 ก.ก. โครงการให้เอกชนเสนอค่าไฟฟ้าต่ำโดยไม่ต้องประมูลไอพีพี6,900 เมกกะวัตต์ อีก 8 โรง ลงทุนในวงเงินแสนล้านบาทเช่นกัน
   

      เบรกสาม 8 ก.ค. หมดเวลา “ธนาธร”แจงศาล ปมถือหุ้นสื่อ

      เป็นการวิเคราะห์ถึงนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ซึ่งถูกสั่งพักการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ระหว่างการต่อสู้คดีหุ้นสื่อในศาลรัฐธรรมนญ โดยประเด็นนี้รัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) ห้ามผู้ถือหุ้นสื่อหรือเป็นเจ้าของกิจการสื่อสารมวลชน ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. เพื่อป้องกันไม่ให้ใช้ทรัพยากรสื่อเอาเปรียบคู่แข่ง ในช่วงแรกนายธนาธรต่อสู้ว่าโอนหุ้นไปแล้ว จากนั้นเปลี่ยนมาต่อสู้ว่า บริษัทเลิกทำสื่อไปแล้ว หากศาลตัดสินว่าคนอื่นไม่ผิด นายธนาธรก็ต้องไม่ผิดด้วย ซึ่งในวันจันทร์ที่ 8 ก.ค.นี้ จะเป็นเดทไลน์ที่ศาลรัฐธรรมนูญให้เวลานายธนาธรชี้แจงภายใน 15 วัน ต่อมานายธนาธรขอขยายเวลาอีก 30 วัน รวมเป็น 45 วันแล้ว ดังนั้นศาลจึงไม่อนุญาตให้ขยายเวลาเพิ่มอีก ดังนั้นในวันที่ 8 ก.ค. นี้ นายธนาธรจะต้องส่งหลักฐานทั้งหมดไปให้ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องจับตาว่าศาลจะตัดสินเลยหรือเปิดศาลไต่สวน ทั้งนี้มีกระแสข่าวระบุว่าในการหารือของศาล จะเปิดศาลไต่สวนเพื่อเปิดโอกาสให้นายธนาธรต่อสู้คดี

 3 บก.วิเคราะห์ 'สุริยะ-ธนาธร'อันตรายใหม่ในการเมืองไทย?

       ในสัปดาห์หน้าจึงมีประเด็นที่ต้องจับตา เพราะก่อนหน้านี้นายธนาธร และนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) หอบเอกสารเป็นลังๆไปเสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พร้อมระบุว่าฝ่ายผู้ถูกร้องได้ตั้งคำถามต่อกกต.มากมาย แต่กกต.ตอบคำถามไม่ได้เลย อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ต้องพิจารณากันภายในศาล คือ การโอนหุ้นบริษัทวี-ลัค มีเดีย จำกัด เกิดขึ้นก่อนวันที่ 6 ก.พ. 62 หรือไม่ เพราะถูกตั้งข้อสังเกตและกล่าวหาว่า นายธนาธรโอนหุ้นในวันที่ 21 มี.ค.62 ขณะที่นายธนาธรเคยชี้แจงว่า ขายหุ้นให้นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ (มารดา) ไปตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค.62 แต่ เช็คที่สั่งจ่ายโดยแม่ยังไม่ได้นำไปขึ้นเงิน เช็คยังถูกเก็บอยู่ที่นางระวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ (ภรรยา)

     “หากมีการเปิดศาลไต่สวน เท่ากับเป็นการลากแม่ คือนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ นางระวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ ภรรยา และนายทวีกับนายปิติ หลานอีก 2 คน ไปเบิกความในศาล ซึ่งจุดตายอยู่ที่การซักถาม เพราะในศาลรัฐธรรมนูญไม่เพียงทนายฝ่ายโจทก์-จำเลย จะซักถามได้เท่านั้น แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็สามารถซักถามพยานได้ หรือสืบพยานในศาลได้เอง ส่วนนายปิยบุตรไม่ใช่พยานในคดี หากได้รับการแต่งตั้งเป็นทนายก็จะมีฐานะเป็นผู้แก้ต่างในคดี”

      กลายเป็นประเด็นที่ต้องจับตาว่า 2 อา-หลาน แห่งตระกูลจึงรุ่งเรืองกิจ จะเป็นอันตรายในการเมืองไทยหรือไม่ โดยนาย สุริยะเป็นตัวอันตรายสำหรับรัฐบาล และยังเป็นความมั่นคงของรัฐบาล พรรคพลังประชารัฐ จะอยู่รอดปลอดภัยเป็นรัฐบาลได้นานแค่ไหน ขณะที่นายธนาธร พยายามกล่าวย้ำมาตลอดว่า มีการตัดสินไม่ยุติธรรม ได้รับการปฏิบัติสองมาตรฐาน โดยพรรคอนาคตใหม่ไม่ได้เคลื่อนไหวเฉพาะในสภาฯ แต่เคลื่อนไหวนอกสภาฯ โดยดึงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งจะเกิดเป็นอันตรายต่อการเมืองไทยอีกครั้งหรือไม่

 ในรายการจึงมีการตั้งคำถามว่า จึงรุ่งเรืองกิจทั้ง 2 คนนี้ เป็นอันตรายใหม่ในการเมืองไทยหรือไม่

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ