ข่าว

เมื่อเนื้อเทียมจากพืชเริ่มครองโลก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย ..บุญรัตน์ อภิชาติไตรสรณ์

 

องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือเอฟเอโอ เคยทำนายว่าในปี 2593 หรืออีกราว 30 ปีข้างหน้า โลกจะเผชิญกับวิกฤติทางด้านอาหาร อันเนื่องจากประชากรโลกล้นโลก โดยคาดว่าในปีนั้น ประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 9.7 พันล้านคน

ช่วงหลายปีที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์ต่างพยายามแก้ไขปัญหานี้ หนึ่งในนั้นก็คือการผลิตเนื้อเทียมหรือเนื้อสังเคราะห์จากพืชเพื่อเสริมความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ทั่วโลกที่คาดว่าอาจจะเพิ่มสูงขึ้นถึงราว 70% จากปัจจุบัน

 

 

 

ว่าไปแล้ว อาหารเจ, อาหารมังสวิรัติ หรืออาหารจากโปรตีนพืชหรือเนื้อสัตว์เทียม หรือเนื้อสังเคราะห์แล้วแต่จะเรียก เริ่มไม่ใช่อาหารสำหรับคนชายขอบ หรือคนกินมังสวิรัติเพียงกลุ่มเดียวอีกแล้ว หากกำลังเป็นธุรกิจดาวรุ่งที่มีอนาคตสดใสเมื่อกระแสโลกกำลังเปลี่ยนไป กระทั่งกลับกลายเป็นอาหารขายดีตามซูเปอร์มาร์เก็ตอยู่ในขณะนี้ อีกทั้งยังกำลังเป็นอาหารยอดนิยมตามภัตตาคารฟาสต์ฟู้ดหรืออาหารจานด่วน รวมทั้งอุตสาหกรรมอาหาร ขณะที่นักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์วอลสตรีทต่างเพ่งตาเป็นมัน เมื่อเห็นกราฟแสดงราคาหุ้นไต่ระดับสูงขึ้น

 

 

เมื่อเนื้อเทียมจากพืชเริ่มครองโลก

 

ธนาคารเจพีมอร์แกน เชส ได้ข้อสรุปจากการประเมินว่า ตลาดอาหารทดแทนเนื้อสัตว์ หรืออาหารจากเนื้อสัตว์เทียมหรือ "เนื้อสะอาด” ที่ทำมาจากโปรตีนพืช จะทะยานขึ้นแตะ 100,000 ล้านดอลลาร์ อย่างง่ายๆ ภายใน 15 ปีนี้ ขณะที่ธนาคารบาร์เคลย์ทำนายว่า ตลาดเนื้อสัตว์เทียมหรืออาหารทดแทนเนื้อสัตว์ จะเติบโตจนมีสัดส่วนราว 10% ของตลาดเนื้อสดทั่วโลก หรือคิดเป็นมูลค่าราว 140,000 ล้านดอลลลาร์ ภายใน 10 ปีข้างหน้า

ในบรรดาภัตตาคารจานด่วนชื่อดังที่ปรับตัวต้อนรับแนวโน้มอาหารประเภทเนื้อสัตว์เทียมก็คือ เบอร์เกอร์คิง ที่ได้ทดลองวางตลาดอาหารมังสวิรัติ "วอปเปอร์” มาตั้งแต่เดือนเมษายน ขณะที่แมคโดนัลด์เผยโฉมเบอร์เกอร์เนื้อเทียมขึ้นที่เยอรมนี ด้านเคเอฟซี หรือ ไก่ทอดเคนทักกี กำลังศึกษาความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มเมนู "ไก่มังสวิรัติ” เช่นกัน

 

เมื่อเนื้อเทียมจากพืชเริ่มครองโลก

 

อาหารเนื้อเทียมไม่ว่าจะเป็นหมูเห็ดเป็ดไก่หรือแม้กระทั่งปลาที่ทำจากพืชในยุคแรกๆ ทำกันเป็นแค่อุตสาหกรรมเล็กๆ หรืออาจจะเฉพาะช่วงเทศกาลสำคัญอย่างเทศกาลกินเจ จึงไม่ได้ขยายเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เพียงแต่พัฒนารูปแบบให้มีความหลากหลายมากขึ้นทั้งรสชาติและรูปลักษณ์คล้ายของจริงมากขึ้น จนแทบแยกไม่ออกว่าจานไหนเป็นเนื้อจากสัตว์หรือเนื้อจากพืช ยกเว้นต้องทดลองชิม

อย่างไรก็ดี ในช่วง 2-3 ปีมานี้ อุตสาหกรรมเนื้อปรุงแต่งจากพืชกลับกลายเป็นธุรกิจที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่หรือสตาร์ทอัพด้านอาหารที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ส่วนใหญ่อยู่ในสหรัฐ, ยุโรป และอิสราเอล หรือมีผู้เข้ามาลงทุนในธุรกิจประเภทนี้มากขึ้น ทำให้การแข่งขันเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตมีแต่ลดลง จนใกล้เคียงกับราคาเนื้อสัตว์แท้ ดันให้กลายเป็นธุรกิจดาวรุ่งที่มีอนาคตสดใสรออยู่เบื้องหน้า

 

เมื่อเนื้อเทียมจากพืชเริ่มครองโลก

 

ส่วนหนึ่งสืบเนื่องจากมีเทคโนโลยีทันสมัยใหม่ๆ เข้ามาช่วยทั้งในการปรุงแต่งรสชาติให้ถูกปากถูกลิ้นมากขึ้น รวมถึงเนื้อสัมผัสของอาหารเทียมที่สมบูรณ์แบบมากขึ้น อีกส่วนหนึ่งมาจากกระแสนิยมของผู้บริโภคที่เลือกบริโภคผลิตภัณฑ์ประเภทเนื้อเทียมมากขึ้น โดยให้เหตุผลว่า เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำคัญในการช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมโลก หรือเพื่อคุ้มครองสัตว์ หรือเพื่อสุขภาพ ฯลฯ ความนิยมที่เพิ่มมากขึ้นทำให้บริษัทสามารถขยายกิจการให้ใหญ่ขึ้น สามารถผลิตเนื้อเทียมได้มากขึ้นเพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่

Impossible Food และ Beyond Meat ถือเป็นบริษัทลงทุนใหม่ด้านอาหารประเภท “ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์จากพืชที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” ที่เป็นที่รู้จักกันดีที่สุด

แต่ 2 บริษัทนี้กำลังประสบปัญหายุ่งยากเมื่อไม่สามารถสนองความต้องการที่พุ่งกระฉูดของนักลงทุนได้ ตอนที่นำหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์ที่วอลสตรีทในวันแรกของการซื้อขายหุ้นของบริษัท Beyond Meat Inc. พุ่งสูงขึ้นถึง 163% ถือเป็นการพุ่งสูงสุดอย่างเป็นประวัติการณ์ในการเสนอขายหุ้นไอพีโอ หรือการเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรกในรอบเกือบสองทศวรรษของบริษัทขนาดใหญ่ในประเทศนี้ นับแต่นั้นราคาหุ้นก็สูงขึ้นกว่า 2 เท่าตอนปิดตลาด และตอนที่มีการแถลงข่าวว่ายอดขายพุ่งขึ้น 140% ราคาหุ้นก็ดีดตัวสูงขึ้นเกือบ 40%

 

เมื่อเนื้อเทียมจากพืชเริ่มครองโลก

 

ส่วน Impossible Burger ซึ่งเป็นเมนูใหม่ที่วางขายในภัตตาคารจานด่วนกว่า 7,000 แห่งในสหรัฐและเอเชีย เมื่อเร็วๆ นี้ได้เพิ่มทุน 300 ล้านดอลลาร์ในตลาดทุน ทำให้มูลค่าของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็นราว 2,000 ล้านดอลลลาร์

ขณะเดียวกัน บรรษัทข้ามชาติผู้ผลิตอาหารยักษ์ใหญ่ระดับโลกต่างไม่ยอมตกขบวนรถด่วนสายนี้ รีบกระโจนสู่อุตสาหกรรมอาหารเนื้อเทียมที่ปรุงจากพืชเป็นแถวๆ อาทิ เนสท์เล บริษัทยักษ์ใหญ่สัญชาติสวิสได้เปิดตัว “Incredible Burger” ขึ้นในยุโรปเมื่อเดือนเมษายน โดยผสมผสานถั่วเหลือง ข้าวสาลี สารสกัดจากบีทรูทและพืชอาหารอื่นๆ เนสท์เลวางแผนจะเสนอเมนู “Sweet Earth” เบอร์เกอร์ผักที่ทำจากถั่วตามภัตตาคารจานด่วนในสหรัฐในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ส่วนบริษัทยูนิลีเวอร์ บริษัทข้ามชาติสัญชาติอังกฤษและเนเธอร์แลนด์เมื่อปีที่แล้วก็ได้นำเสนอร้านขายเนื้อเทียมที่ทำจากผัก โดยประกาศว่าจะเป็นเนื้อเทียมรายใหญ่สุดของโลก

 

เมื่อเนื้อเทียมจากพืชเริ่มครองโลก

 

ด้านบริษัทเคลล็อก ได้นำเสนอเนื้อทางเลือกหรือเนื้อเทียมมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2513 หรือเมื่อราว 50 ปีมาแล้วผ่าน MorningStar Farms. แม้ว่าเนื้อเทียมแบรนด์นี้จะไม่โด่งดังเป็นที่ยอมรับเหมือนแบรนด์ใหม่ๆ แต่ก็ยังคงเป็นผู้ผลิตรายใหญ่สุดในสหรัฐ

ธุรกิจอาหารจานด่วนอื่นๆ ที่ไม่ยอมตกขบวนธุรกิจอาหารเนื้อเทียมยังมีอีกไม่ใช่น้อย รวมไปถึงเจบีเอสยักษ์ใหญ่แห่งบราซิล ซึ่งเปิดตัวเบอร์เกอร์ผักในตลาดแดนแซมบ้า และไทสัน ฟู้ดส์ ที่เคยลงทุนใน Beyond Meat ก็วางแผนจะออกผลิตภัณฑ์เนื้อเทียมของตัวเอง

จากรายงานของสถาบันอาหารเผยว่ายอดขายตลาดเนื้อที่ทำจากผักในอเมริกาพุ่งขึ้น 23% เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งตัวเลขนี้ถือว่าเป็นส่วนแบ่งในตลาดแค่ 1% ของตลาดเนื้อทั่วประเทศ น้อยกว่าผลิตภัณฑ์นมถั่วเหลือง นมจากอัลมอนด์ และนมมะพร้าว ที่สามารถแทรกตลาดนมสดได้ถึง 13%

 

เมื่อเนื้อเทียมจากพืชเริ่มครองโลก

 

กระนั้นก็มีการเตือนกันถึงเรื่องของความเสี่ยงต่างๆ เพราะแม้ว่าตลาดเนื้อเทียมที่ทำจากพืชจะมีศักยภาพสูงในการเติบโตแบบก้าวกระโดด แต่นักวิเคราะห์หลายคนเตือนถึงปัจจัยเสี่ยงอีกหลายอย่างที่อาจมองข้ามไป อาทิ ผลิตภัณฑ์เนื้อเทียมหรือเนื้อที่ทำจากพืชอาจจะมีคุณค่าอาหารน้อยกว่าที่อ้างไว้เพียงเพื่อจะดึงดูดให้ผู้บริโภคมาทดลองชิมดูเท่านั้น

 

นอกจากนี้ ธนาคารบาร์เคลยส์ยังเตือนถึงข้อจำกัดด้านกฎระเบียบต่างๆ รวมไปถึงการตลาดด้วย อาทิ กลุ่มผู้เลี้ยงวัวเนื้อได้พยายามล็อบบี้นักการเมืองในกรุงวอชิงตันให้จำกัดความคำว่า “เนื้อ” ว่าหมายถึงผลิตภัณฑ์ที่มาจากสัตว์เท่านั้น แถมยังเย้ยหยันเพื่อกดคุณค่าของเนื้อสังเคราะห์จากพืชว่าเป็น “เนื้อซอมบี้” ด้านเจพีมอร์แกนเสริมว่ายังมีความเสี่ยงว่าธุรกิจดาวรุ่งอาจจะถูกบีบให้ต้องเรียกเก็บสินค้า

 

ทั้งหมดนี้ยังต้องไม่ลืมว่าองค์การอนามัยโลกยังคงจัดให้เนื้อเทียมหรือเนื้อสังเคราะห์จากพืชอยู่ในกลุ่มอาหารประเภทจีเอ็มโอ หรืออาหารดัดแปลงพันธุกรรม ซึ่งหลายประเทศไม่รับประกันความเสี่ยงหรืออาจถึงขั้นกีดกันการนำเข้าด้วยซ้ำ

ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดเพื่อชิงส่วนแบ่งนี้ ซึ่งหนีไม่พ้นเรื่องของปลาใหญ่กินปลาเล็ก ผลกระทบจากความผิดพลาดเล็กน้อยอาจถูกขยายให้ใหญ่เกินเหตุจากบริษัทที่ใหญ่กว่าและมีความหลากหลายมากกว่าที่กำลังแข่งกันอยู่ในตลาดนี้ ซึ่งยังได้เปรียบในเรื่องการจัดส่งที่ทันสมัยพร้อมที่จะเข้าถึงตลาดทุนมากกว่า


 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ