ข่าว

ไทยคดีศึกษาจี้รัฐยกเลิกเอ็มโอยู43ไทย-เขมร

ไทยคดีศึกษาจี้รัฐยกเลิกเอ็มโอยู43ไทย-เขมร

16 พ.ย. 2552

“ไทยคดีศึกษา”ออกแถลงการณ์จี้รัฐยกเลิกเอ็มโอยู 43 จวก“ปชป.”ต้นตอทำเสียดินแดน ให้เวลา 60 วันถ้าไม่ฉีกทิ้งจะแจ้งป.ป.ช.

 (16 พ.ย.) ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ นักวิชาการสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในฐานะแกนนำเครือข่ายติดตามสถานการณ์ปัญหาปราสาทพระวิหาร และเครือข่ายกว่า 18 กลุ่ม เปิดเผยว่า กลุ่มได้ออกแถลงเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกเอกสาร 4 ฉบับ ดังนี้ 1. บันทึกข้อตกลงร่วมหรือเอ็มโอยู ปี 2543 ระหว่างไทย-กัมพูชา ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2543 ซึ่งอ้างอิงแผนที่ 1:200,000 โดยสำคัญว่าเป็นแผนที่ซึ่งจัดทำขึ้นตามผลงานของคณะกรรมการปักปันเขตแดนระหว่างสยามกับอินโดจีน ปรากฎตามบันทึกของสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 12 มิถุนายน 2543 ลงนามโดยนายวรากรณ์  สามโกเศศ  รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติแทนเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และอนุมัติโดยนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น

 2.กรอบการเจรจาสำรวจและจัดทำเขตแดนบกไทย - กัมพูชา ที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2551 เนื่องจากในเอกสารประกอบการชี้แจงวาระดังกล่าวปรากฏว่ามีแผนที่ 1 : 200,000 เป็นตัวอย่างแผนที่ที่จัดทำขึ้นตามผลงานการปกปันเขตแดนของคณะกรรมการปักปันเขตแดนระหว่างสยามกับอินโดจีน

 3.ร่างข้อตกลงชั่วคราวระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย กับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ว่าด้วยปัญหาชายแดนในพื้นที่ปราสาทพระวิหาร ตามหนังสือนายกรัฐมนตรี ที่ นร 0503/11564 ลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2551 กราบเรียนประธานรัฐสภา เพื่อให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบ

 4. คำแถลงการณ์ร่วมในโอกาสการเยือนราชอาณาจักรกัมพูชาอย่างเป็นทางการของดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2544 เนื่องจากเป็นการยืนยันการอนุมัติ MOU 2544 ระหว่างไทยกับกัมพูชา ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2544

 นายสุวันชัย  แสงสุขเอี่ยม  สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คณะทำงานเฉพาะกิจศึกษาปัญหาเขาพระวิหาร กล่าวว่า รัฐบาลต้องยกเลิกเอกสารทั้ง 4 ฉบับอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะเอ็มโอยูปี 2543 ที่ลงนามในสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย มีม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร เป็นรมว.ต่างประเทศ เป็นการยอมรับแผนที่มาตราส่วน 1 – 200,000 ซึ่งเป็นแผนที่ทำให้เราเสียปราสาทพระวิหาร แม้แต่ศาลโลกก็ไม่ยอมรับแผนที่ฉบับนี้ แต่ไม่เข้าใจว่าเหตุใดรัฐบาลชุดนั้นกลับไปรับรอง ถ้าไม่รีบยกเลิกไทยจะเสียดินแดนเพิ่มอีกมากไม่ใช่แค่ 4.6 ตร.กม.ทั้งนี้เอ็มโอยูฉบับดังกล่าวไม่ได้ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาซึ่งขัดรัฐธรรมนูญปี 40 และ 50 เป็นไปได้ที่อาจจะมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ

 นายวีระ  สมความคิด  แกนนำเครือข่ายฯ  กล่าวว่า หากรัฐบาลไม่ดำเนินการยกเลิกเอกสารทั้ง 4 ฉบับภายใน 60 วันทางเครือข่ายจะร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ให้เอาผิดตามกฎหมายอาญาม.157 ละเว้นการปฎิบัติ