
คนไทยบริจาคสเต็มเซลล์ให้ชาวยุโรปรอดตาย
สาวไทยทำบุญครั้งใหญ่ที่สุดในชีวิต บริจาคสเต็มเซลล์ข้ามเชื้อชาติ ต่อชีวิตผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชาวยุโรป รอดตายราวปาฏิหาริย์ ถือเป็นรายที่ 5 ของเมืองไทย กว่าจะเจอกันได้เหมือนกับ วาสนา ที่ต้องสร้างมาร่วมกันแต่ชาติปางก่อน
น.ส.วิลาสินี ผณินทร อายุ 34 ปี สมาชิกโครงการจิตอาสา (CSR Volinteer) พนักงานบัญชี บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด ผู้บริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต (สเต็มเซลล์) รายที่ 41 ของประเทศไทย และเป็นรายที่ 5 ที่มอบสเต็มเซลล์ให้แก่ชาวต่างชาติ โดยเพิ่งมีการบริจาคไปเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กล่าวว่า ได้เข้าร่วมลงทะเบียนเป็นผู้บริจาคสเต็มเซลล์เมื่อ 5 ปีที่แล้ว โดยการแนะนำของเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ที่มารับบริจาคโลหิตที่บริษัทจัดขึ้นทุก 3 เดือน จนกระทั่งเมื่อต้นเดือนตุลาคม ได้รับการติดต่อจากศูนย์บริการโลหิต ว่าสเต็มเซลล์ไปตรงกับชาวต่างชาติในประเทศแถบยุโรป ซึ่งมีโอกาสน้อยมากที่จะตรงกันได้ เพราะเป็นคนละเชื้อชาติ แค่คนไทยกับคนไทย หรือคนเอเชียกับคนเอเชียก็มีโอกาสน้อยแล้ว แต่กรณีนี้เป็นคนเอเชียกับคนยุโรป รู้สึกตื่นเต้นมาก และยินดีที่จะบริจาคทันที
"ตอนได้รับการติดต่อรู้แค่ว่าฝรั่งผู้หญิงเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ถ้าให้สเต็มเซลล์เขาจะรอดตาย ก็กลับไปปรึกษากับพ่อแม่ และตกลง ซึ่งต้องลางาน 2 อาทิตย์ เพื่อเตรียมตัวและพักฟื้นหลังการบริจาค บริษัทก็ให้ความร่วมมือ และไม่หักวันลา ถือเป็นการทำประโยชน์เพื่อสังคม และทำบุญครั้งใหญ่ที่สุดในชีวิต" วิลาสินี กล่าว
เมื่อตกลงที่จะบริจาคสเต็มเซลล์ ศูนย์บริการโลหิตก็พาไปตรวจสุขภาพชุดใหญ่เพื่อดูความพร้อมและความสมบูรณ์ของร่างกาย และนำตัวอย่างเลือดส่งไปให้ผู้ป่วยตรวจสอบอีกครั้ง เมื่อได้รับการยืนยันว่าตรงกัน ก็เริ่มขั้นตอนโดยศูนย์บริการโลหิตนัดไปฉีดกระตุ้นสเต็มเซลล์ทางเส้นเลือดเป็นเวลา 4 วัน จากนั้นก็เข้านอนในโรงพยาบาลรามาธิบดี แพทย์เลือกเจาะที่เส้นเลือดดำบริเวณคอ ใช้เวลาในการดึงสเต็มเซลล์ประมาณ 4 ชั่วโมง และใช้เวลาในการดึงสเต็มเซลล์ถึง 2 วัน
ระหว่างที่ดึงสเต็มเซลล์ออกจากกระแสโลหิต มีอาการเกร็งมือและอ่อนเพลีย คล้ายการบริจาคโลหิตทั่วไป ไม่ได้รู้สึกกลัว เพราะแพทย์ที่ทำการดึงสเต็มเซลล์อธิบายขั้นตอนไว้ก่อนแล้ว และคอยดูแลเป็นอย่างดี หลังจากดึงสเต็มเซลล์เสร็จ ต้องนอนพักผ่อนอีก 3 วัน และพักฟื้นจนกว่าร่างกายจะแข็งแรงและไปทำงานได้ โดยศูนย์บริการโลหิตก็นัดไปเจาะเลือดซ้ำหลังบริจาค 1 เดือน เพื่อดูว่า จำนวนเม็ดเลือดขาวเพิ่มเป็นปกติแล้วหรือยัง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าขณะนี้ น.ส.วิลาสินี กลับไปทำงานตามปกติแล้ว ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง และมีจำนวนเม็ดเลือดขาวกลับสู่ภาวะปกติ สามารถใช้ชีวิตได้เหมือนเดิม และสามารถบริจาคโลหิตต่อไปได้อีกด้วย ซึ่งศูนย์บริการโลหิตจะนำเสนอชื่อคุณวิลาสินีเพื่อขอรับพระราชทานเข็มที่ระลึกจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสต่อไป
ด้าน น.ส.ภาวินี คุปตวินทุ หัวหน้าฝ่ายห้องปฏิบัติการร่วมกับองค์การอนามัยโลก ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย กล่าวว่า เป็นโอกาสยาก และน้อยมาก ที่สเต็มเซลล์ของคนไทยจะไปตรงกับชาวต่างชาติ มีประมาณ 1 ต่อ 100,000 เท่านั้น ส่วนขั้นตอนที่จะรู้ว่าสเต็มเซลล์ตรงกันหรือไม่ เริ่มจากการตรวจลักษณะเนื้อเยื่อเม็ดเลือดขาว (HLA) ของอาสาสมัคร เมื่อผ่านแล้ว HLA จะถูกขึ้นทะเบียนด้วยระบบคอมพิวเตอร์ในเมืองไทย และไทยก็เป็นเครือข่ายข้อมูลอาสาสมัครสเต็มเซลล์ของออสเตรเลีย ซึ่งออสเตรเลียก็เป็นสมาชิกกับอีกหลายประเทศในแถบยุโรป และอเมริกา ทำให้ข้อมูล HLA ของคนไทยแพร่หลายออกไปทั่วโลก
ซึ่งขั้นตอนการเก็บสเต็มเซลล์และขั้นตอนการขนส่งไปจนถึงผู้บริจาคจะต้องทำตามขั้นตอนอย่างถูกต้องและระมัดระวังที่สุดและต้องภายใน 48 ชั่วโมง เพื่อให้เกิดผลต่อการรักษา และ ขณะที่ดำเนินการทุกอย่างจนเสร็จสิ้น ทั้งผู้ให้สเต็มเซลล์ และผู้รับสเต็มเซลล์ จะไม่มีโอกาสได้รับรู้ข้อมูลของกันและกันเลย นี่เป็นระดับสากลที่ทุกประเทศใช้เหมือนกัน