
ไอร์เจี๊ยะ น้ำท่วมท้น บ้านบนลุ่มน้ำสายบุรี
ปัญหาน้ำท่วมทางภาคใต้ยังคงเป็นภัยธรรมชาติที่พี่น้องชาวใต้ประสบเป็นประจำเรื่อยมา จากที่มีข่าวเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2552 ที่ผ่านมา ถึงเหตุที่ดินเชิงเขาหลังหมู่บ้านไอร์เจี๊ยะถล่มใส่บ้านพักหลังหนึ่ง จนทำให้ชาวบ้าน 8 คน สูญหายจมอยู่ใต้กองดิน
บ้านไอร์เจี๊ยะ ตั้งอยู่ที่ หมู่ 5 ต.ซากอ อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส มีความหมายว่า น้ำกิน มาจากภาษามลายูว่า “ไอร์” หมายถึง น้ำ และ “เจี๊ยะ” หมายถึง กิน ซึ่งลักษณะสภาพแวดล้อมของบ้านไอร์เจี๊ยะมีลำคลองล้อมรอบหมู่บ้าน ชาวบ้านอาศัยลำคลองนี้ทำการเกษตรและหล่อเลี้ยงชีวิตมายาวนาน
จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าที่เล่าต่อกันมาหลายชั่วอายุคน ว่า ผู้บุกเบิกบ้านไอร์เจี๊ยะเป็นคนที่อพยพมาจากประเทศมาเลเซียในสมัยสงครามโลก
บ้านไอร์เจี๊ยะ แยกออกมาจาก หมู่ 1 ต.ซากอ อ.รือเสาะ ปี พ.ศ.2517 และปีเดียวกัน ต.ซากอ ได้แยกออกจาก อ.รือเสาะ มาเป็นกิ่ง อ.ศรีสาคร และมาเป็น อ.ศรีสาคร จนถึงปัจจุบัน
ชื่อ ต.ซากอ อาจมาจากสะคะระ (sagara) ภาษาสันสกฤต-มาเลย์ แปลว่า ทะเล มหาสมุทร หรืออาจมาจาก surgai ในภาษามลายู แปลว่า แม่น้ำ ส่วนชื่อ อ.ศรีสาคร หมายถึง แม่น้ำ หรือ ทะเลอันประเสริฐ
จากความหมายของชื่อบ้าน ตำบล อำเภอ แสดงถึงความผูกพันของผู้คนกับสายน้ำที่มีอยู่อย่างมากมายในพื้นที่นี้ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากบริเวณ อ.ศรีสาคร ตั้งอยู่บนลุ่มน้ำสายบุรี ที่มีต้นน้ำจากเทือกเขาสันกาลาครี เขต อ.สุคิริน จ.นราธิวาส และไหลลงอ่าวไทยที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ส่วนบริเวณ ต.ซากอ นอกจากมีแม่น้ำสายบุรีไหลผ่านแล้ว ยังมีลำน้ำสาขาของแม่น้ำสายบุรีไหลผ่านอีกด้านหนึ่งด้วย
น้ำจากแม่น้ำลำคลองต่างๆ ที่อยู่รายรอบพื้นที่ และลมมรสุมช่วงปลายปีเป็นผลให้ปริมาณน้ำฝนและน้ำป่าไหลบ่าลงมาตามแม่น้ำเข้าท่วมพื้นที่บนลุ่มน้ำได้อย่างง่ายดาย ชื่อบ้านนามเมืองเหล่านี้ จึงบอกได้ถึงทรัพยากรธรรมชาติหรือลักษณะภูมิประเทศท้องถิ่นตั้งแต่อดีตได้อีกทางหนึ่ง
เรือนอินทร์ หน้าพระลาน