
ศาลสวิสล้มผลประชามติครั้งแรกใน 171 ปีชี้ข้อมูลไม่โปร่งใส
เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของสวิตเซอร์แลนด์ ศาลสูงสั่งล้มประชามติด้วยเหตุผลว่าผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ได้รับข้อมูลเพียงพอ
สวิตเซอร์แลนด์จัดให้ประชาชนออกเสียงลงประชามติมาแล้วกว่า 300 ครั้งเพื่อตัดสินข้อเสนอต่างๆในระดับชาติ 600 ข้อเสนอ มาตั้งแต่ปี ค.ศ.1848 แต่ยังไม่เคยมีสักครั้งที่ผลประชามติจะถูกประกาศให้เป็นโมฆะ
พรรคคริสเตียนเดโมแครต เสนอให้จัดทำประชามติเมื่อกุมภาพันธ์ 2559 เพื่อตัดสินว่า ควรเก็บภาษีคู่สมรสกับคู่รักอยู่ด้วยกันแต่ไม่จดทะเบียน ในระบบเดียวกันหรือไม่ ทั้งนี้เนื่องจากคู่สมรสในสวิตเซอร์ถูกเก็บภาษีจากรายได้นำมารวมกัน บ่อยครั้งที่สามีภรรยาต้องจ่ายภาษีมากกว่าคู่รักไม่ได้จดทะเบียน ที่ชำระภาษีแยกกัน ทำให้แต่ละคนได้รับประโยชน์จากค่าลดหย่อนมากกว่า
ผลลงคะแนนปรากฎว่าข้อเสนอนี้ถูกปฏิเสธ ด้วยคะแนน 50.8% ต่อ 49.2%
แต่พรรคยื่นคำร้องต่อศาลสูงว่า ไม่ควรยอมรับผลคะแนนที่ออกมา เพราะผู้มีสิทธิออกเสียงไม่เข้าใจขอบข่ายของปัญหาและถูกชี้นำด้วยข้อมูลผิด
ก่อนลงประชามติ สถิติทางการระบุว่า มีคู่สมรส 8 หมื่นคู่ ได้รับผลกระทบจากระบบภาษีปัจจุบัน แต่ในปี 2561 รัฐบาลปรับแก้ตัวเลขเป็น 4.54 แสนคู่
ศาลสูงมีคำพิพากษาเมื่อวันพุธที่ผ่านมา ให้ผลประชามติเป็นโมฆะ โดยให้เหตุผลว่า รายละเอียดไม่ครบถ้วน และความไม่โปร่งใสของข้อมูล ละเมิดเสรีภาพในการออกเสียงของพลเมือง เมื่อพิจารณาจากผลการลงคะแนนสูสีมาก กับความร้ายแรงของเหตุผิดปกติหลายอย่าง เป็นไปได้ว่าผลลงประชาชาติอาจจะแตกต่างออกไป
ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงได้รับข้อมูลผิดพลาด ทำให้ไม่สามารถจินตนาการได้ว่าจำนวนสามีภรรยาที่ได้รับผลกระทบจากระบบภาษี มากกว่าตัวเลขที่ประกาศถึง 5 เท่า
พรรคคริสเตียนเดโมแครต แสดงความยินดีกับผลตัดสินของศาล โดยมองว่าเป็นการส่งเสริมสิทธิทางการเมืองของชาวสวิส
ขณะที่รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ ระบุว่าได้ตั้งกลุ่มศึกษามาตรการเพิ่มเติม เพื่อยกระดับคุณภาพการเตรียมตัวก่อนตัดสินใจของประชาชน
คำตัดสินประวัติศาสตร์ของศาลสูงสวิตเซอร์แลนด์ ถูกนำไปเปรียบเทียบกับการจัดลงประชามติแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษในปี 2559 ที่ฝ่ายโหวตอยู่กับอียู โต้มาตลอดว่าผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ได้รับข้อมูลจำเป็นเพียงพอต่อการตัดสินใจ
ในช่วงหาเสียงก่อนวันลงคะแนน ฝ่ายโหวตแยกตัว อ้างว่าระบบสาธารณสุขอังกฤษจะได้รับงบเพิ่ม 350 ล้านปอนด์ต่อสัปดาห์หากอังกฤษออกจากอียู แต่หลังจากนั้นแกนนำฝ่ายโหวตแยกตัว ก็ออกมาอ้อมแอ้มว่าเป็นข้อมูลคลาดเคลื่อน
ทั้งนี้ ระบบประชาธิปไตยโดยตรงของสวิตเซอร์แลนด์ อนุญาตให้ประชาชนผลักดันการลงประชามติระดับประเทศได้ หากสามารถรวบรวมรายชื่อสนับสนุนข้อเสนอนั้น เกิน 1 แสนชื่อ