
แสนยานุภาพ"ไทย-เขมร"ห่างชั้น!"สงครามเศรษฐกิจ"น่ากลัวกว่าปืน
สถานการณ์ความขัดแย้งไทย-กัมพูชาขณะนี้กำลังเขม็งเกลียวถึงขีดสุด แม้บิ๊กทหารของทั้งสองประเทศจะยังย้ำความสัมพันธ์ที่ดี และไม่ต้องการให้เกิดสงคราม แต่สถานการณ์เปราะบางเช่นนี้ย่อมมีโอกาสเกิด "น้ำผึ้งหยดเดียว" ได้ทุกเมื่อ
พล.ท.วีร์วลิต จรสัมฤทธิ์ แม่ทัพภาคที่ 2 ที่เป็นตัวแทนฝ่ายไทยเจรจากับ พล.อ.เจีย ดารา รองผู้บัญชาการทหารสูงสุดกัมพูชา แม้จะตอบรับไมตรีของเขมรเป็นอย่างดี
ทว่า เมื่อถามถึงความพร้อมรบของฝ่ายไทย แม่ทัพภาคที่ 2 ก็ย้ำเสียงดังฟังชัดว่า "เราไม่แพ้" หากเกิดการปะทะกันขึ้นจริงๆ !!
ประเมินจากสถานการณ์แล้วจึงมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการปะทะกันขึ้น แต่นายทหารระดับสูงของไทยประเมินว่า โอกาสที่จะเกิดสงครามขนาดใหญ่แทบจะเป็นไปไม่ได้ ทั้งจากความต้องการของตัวผู้นำกัมพูชา และศักยภาพกองทัพที่ต่างกันมาก
พิจารณาดูจากอาวุธยุทโธปกรณ์ที่กัมพูชามีส่วนใหญ่ก็ล้วนเป็นมรดกจากสงครามเขมร 3 ฝ่าย ซึ่งล้วนมาจากการบริจาคจากจีน และรัสเซีย หรือพันธมิตรอย่างเวียดนามแทบทั้งสิ้น อีกทั้งส่วนใหญ่ก็มีสภาพเก่าเก็บไม่ต่ำกว่า 30-40 ปี
ส่วนเขี้ยวเล็บของกองทัพเรือ และกองทัพอากาศแทบไม่ต้องพูดถึง เพราะกัมพูชาไม่ได้มีเรือรบขนาดใหญ่พอที่จะต่อกรกับทัพเรือไทย ขณะที่เครื่องบินขับไล่ที่มีเพียง 2 ลำ ก็เชื่อว่า ถ้าถึงเวลาต้องใช้จริงๆ คงขึ้นบินไม่ได้แน่
ฝ่ายความมั่นคงมองว่าผู้นำเขมรน่าจะใช้อาวุธอย่างอื่นมารบกับไทยมากกว่า
โดยเฉพาะ "อาวุธทางเศรษฐกิจ" ที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ของไทย รวมทั้งบรรดาธุรกิจของนักลงทุนไทยในกัมพูชาเป็นเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพ
สอดคล้องกับข่าวที่ว่าอดีตผู้นำพลัดถิ่นยังเตรียมที่จะดึง "นักลงทุนตะวันออกกลาง" มาทำธุรกิจด้านเกษตร เช่น การทำนา จึงไม่แปลกที่ผู้นำเขมรจะเลือกจูบปากกับอดีตนายกฯ ของไทยอย่างออกนอกหน้า
กองทัพจึงประเมินว่า โอกาสที่จะได้ใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ และกำลังพลอย่างเต็มศักยภาพคงยากที่จะเกิดขึ้น ยกเว้นการยั่วยุให้ไทยตบะแตกตีโต้กลับไปหนักๆ ตามเกมของกัมพูชาเพื่อดึงนานาชาติมากดดันไทย พร้อมกับใช้อดีตนายกฯ ไทยมาช่วยขย่มอีกทางหนึ่ง
เปรียบเทียบกำลังรบไทย-กัมพูชา
(กองทัพบกกัมพูชา)
รถถัง
- รถถังรุ่น T-55 จากรัสเซีย ประมาณ 100 คัน
- รถถังรุ่น Type-59 จากจีน ประมาณ 200 คัน
- รถถังเบา PT-76 จากรัสเซีย, รถถังเบา Type-62/63 จากจีน และรถถังเบา AMX-13 จากฝรั่งเศส อีกประมาณ 50 คัน
รถหุ้มเกราะ
- รถรบทหารราบ BMP-1 จากรัสเซีย 10 คัน
- รถเกราะสายพาน M113A1/A3 จากสหรัฐ 20 คัน
- รถเกราะล้อยาง BTR-60 จากรัสเซีย 120 คัน
- รถเกราะล้อยาง BTR-152 จากรัสเซีย 100 คัน
- รถเกราะล้อยาง OT-64 จากโปแลนด์ 26 คัน
(กองทัพเรือกัมพูชา)
กองทัพเรือของกัมพูชายังมีขนาดเล็กมาก คล้ายกองเรือใกล้ฝั่ง และกองเรือลำน้ำ โดยมีเรือตรวจการณ์ชั้น Kaoh จำนวน 2 ลำ และเรือเร็วโจมตี (เรือปืน) 2 ลำ
ต่อมา ในปี 2548 จีนได้บริจาคเรือตรวจการณ์ขนาด 46 เมตร จำนวน 4 ลำ เรือตรวจการณ์ขนาด 20 เมตร จำนวน 3 ลำ และเรือลำเลียงสัมภาระอีก 1 ลำ
(กองทัพอากาศกัมพูชา : เฉพาะเครื่องบินขับไล่)
- เครื่องบินขับไล่ MiG-21 Bis และ MiG-21UM จากรัสเซียอย่างละ 1 ลำ (ทำการบินไม่ได้)
+++++
ล้อมกรอบ
(กองทัพบกไทย)
รถถังหลัก
-M60A1/A3 จำนวน 178 คัน
-M48A5 จำนวน 105 คัน
-Type-69II จำนวน 60 คัน
รถถังเบา
-Stingray จำนวน 106 คัน
-FV101 Scorpion CVR(T) จำนวน 128 คัน
-M41/M42 จำนวน 200 คัน
รถเกราะ
-M901A3 Improved TOW Vehicle จำนวน 18 คัน
-V-150 APC จำนวน 162 คัน
-LAV-150 APC จำนวน 138 คัน
-M113A1/A3 APC ประมาณ 400 คัน
-Type-85 APC ประมาณ 450 คัน
Type-82 MLRS จำนวน 60 คัน
-Reva 4x4 จำนวน 85 คัน
-BTR-3E1 จำนวน 96 คัน
(กองทัพเรือไทย)
เรือบรรทุกเครื่องบิน
-ร.ล.จักรีนฤเบศร
เรือรบ
ร.ล.พุทธยอดฟ้าจุฬาโลก, ร.ล.พุทธเลิศหล้านภาลัย, ร.ล.เจ้าพระยา, ร.ล.บางปะกง, ร.ล.กระบุรี, ร.ล.สายบุรี, ร.ล.นเรศวร, ร.ล.ตากสิน, ร.ล.ตาปี, ร.ล.คีรีรัฐ, ร.ล.มกุฎราชกุมาร และ ร.ล.ปิ่นเกล้า ฯลฯ
(กองทัพอากาศไทย : เฉพาะเครื่องบินขับไล่)
-F-16A จำนวน 29 ลำ
-F-16ADF จำนวน 15 ลำ
-F-16B จำนวน 15 ลำ
-F-5T Tigres ประมาณ 16 ลำ
-F-5B/E ประมาณ 10 ลำ
ทีมข่าวความมั่นคง