
"ทดลองแทรม"ดันระบบรางต้นแบบแห่งแรกของประเทศ
เปิดห้องทดลองเหมือนจริงแทรมสาย 907 จากญี่ปุ่นถึงขอนแก่น พร้อมใช้เป็นรถต้นแบบ จัดทำหลักสูตรการศึกษาเชื่อมต่อพัฒนาระบบขนส่งระบบราง เชื่อมต่อรถไฟฟ้า
18 มีนาคม 2562 จากการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งระบบรางในเขตเทศบาลนครแก่นมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการสมาร์ทซิตี้ผ่านการสร้างรถไฟฟ้ารางเบาอย่างเต็มกำลัง
กระทั่งได้รับการสนับสนุนโบกี้รถรางจากประเทศญี่ปุ่น จึงได้เกิดโครงการสร้างรถรางขนาดย่อม หรือ แทรมเพื่อนำร่องการสร้างรถไฟฟ้ารางเบาในพื้นที่ และถือเป็นห้องทดลองระบบรางครั้งแรกของประเทศที่จะเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับนักศึกษาและประชาชนทั่วไป
นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น กล่าวถึงรถแทรม หรือ รถราง ที่ได้รับอนุเคราะห์จากประเทศญี่ปุ่นว่า รถแทรม สาย 907 ได้รับความอนุเคราะห์จาก บริษัท ทิสโกเด้ง ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเจ้าของรถแทรม มอบผ่านเทศบาลนครฮิโรชิมา ส่งต่อให้กับเทศบาลนครขอนแก่น โดยทางเทศบาลนครขอนแก่นรับรถแทรมจากญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการเมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 16 มี.ค. 62 โดยนำมาจอดไว้ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ศาลหลักเมือง เขตเทศบาลนครขอนแก่น โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสถาบันการศึกษา ภาครัฐ เอกชน ประชาชนและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ร่วมรับแทรมจากญี่ปุ่น ในครั้งนี้ด้วย
นายธีระศักดิ์ กล่าวว่า รถแทรมที่ได้รับมอบจากเทศบาลฮิโรชิม่า ประเทศญี่ปุ่น ตามโครงการพัฒนาทดลองระบบรางและต้นแบบรถแทรมขนาดเท่าของจริง โดยตั้งโชว์ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จนถึงปลายเดือนมีนาคม ต่อจากนั้นจะมอบให้กับเทคโนราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น ดำเนินการศึกษาเพื่อทดลองใช้ที่รอบบึงแก่นนคร ระยะทาง 4 กิโลเมตร หลังจากศึกษาความเป็นไปได้แล้ว ทางเทศบาลนครจะเปิดเวทีสาธารณะรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
“มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานวิทยาเขต จะได้จัดทำหลักสูตรระบบราง ซึ่งมีหลักสูตรอยู่แล้ว เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนจากของจริง หรือเป็นห้องแลปเสมือนจริง ใช้พื้นที่รอบบึงแก่นนครระยะทาง 4 กม. เป็นพื้นที่ศึกษาระบบราง โดยใช้รถแทรมคันนี้ให้นักศึกษาได้เรียนจากของจริง ขณะเดียวกันใช้เพื่อการส่งเสริมการท่องเที่ยวประชาชนที่มาได้ใช้บริการ สร้างความคุ้นเคยระบบรางซึ่งอยู่ในระดับดิน ให้กับประชาชนที่ใช้รถยนต์ส่วนตัว และใช้รถยนต์สาธารณะ ว่าสามารถใช้ร่วมกันโดยไม่มีปัญหา อีกทั้งเพื่อรอความพร้อมเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าระบบรางสายเหนือใต้ ของเทศบาลนครขอนแก่นด้วย” นายธีระศักดิ์ กล่าว
สำหรับโครงการนี้พบว่าได้รับเสียงตอบรับจากประชาชนที่มีทั้งเห็นด้วย และตั้งคำถามในการนำรถมือสองมาใช้ในการพัฒนาระบบรางจะทำให้ได้รับประโยชน์จริงหรือไม่นั้น
นายธีระศักดิ์ กล่าวว่า อาจมีประชาชนบางส่วนที่ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องรับรถเก่ามาใช้ในการศึกษา เนื่องจากการพัฒนารถไฟฟ้าระบบรางในขอนแก่นนั้น ทางจังหวัดได้ดำเนินการเอง ทั้งด้านการลงทุน การศึกษา การนำมาศึกษาไม่สามารถที่จะใช้รถใหม่ศึกษาได้ เพราะประเทศไทยยังไม่เคยมีรถรางในลักษณะนี้มาก่อน การนำรถมือสองจากฮิโรชิมาให้นักศึกษาได้ศึกษา เพื่อจะทดลองประกอบหรืออาจจะสร้างใหม่ขึ้นมาได้เอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการรถไฟฟ้าระบบรางสายเหนือใต้ เป็นโครงการที่จังหวัดขอนแก่นดำเนินการเอง รวมถึงสร้างรถเอง ซึ่งก่อนจะสร้างรถเองนั้น จึงจำเป็นต้องใช้รถรางมือสองจากญี่ปุ่นคันนี้เป็นต้นแบบเพื่อการศึกษา หลังจากได้ข้อมูลแล้วจึงจะจัดเวทีประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่
“นอกจากใช้รถรางเป็นต้นแบบในการศึกษาเรียนรู้แล้ว ยังได้เตรียมวางแผนศึกษาในเรื่องประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในทุกด้าน ทั้งการศึกษาค่าใช้จ่ายที่จะลงทุน รูปแบบการจัดหางบประมาณเพื่อการดำเนินการ การพัฒนาที่ดินรอบสถานีขนส่งซึ่งจะเป็นพื้นที่ต้นแบบในการทำก่อนทำโครงการใหญ่ ซึ่งจะทำให้ขอนแก่น เป็นพื้นที่ศึกษากรณีการพัฒนาระบบขนส่งระบบรางในระดับภูมิภาค และระดับประเทศ” นายธีระศักดิ์ กล่าว
เรื่องโดย : กวินทรา ใจซื่อ ภาพโดย : คมข่าวทั่วไทย