
จากจุดรุ่งที่สุดของ ทษช. จนถึงวันถูกยุบพรรค
ต้นเหตุยุบทษช.ต้องย้อนกลับไปที่ปรากฏการณ์เมื่อ8 ก.พ.ที่ ทษช.สร้าง"บิ๊กเซอร์ไพรส์"กับการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯตอนนั้นกก.บห.พรรค ดูหึกเหิมราวกับได้รับชัยชนะแล้ว
ต้นเหตุของคดียุบพรรคไทยรักษาชาติ ต้องย้อนกลับไปที่ปรากฏการณ์ เมื่อวันศุกร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.วันสุดท้าย และเป็นเส้นตายของการส่งชื่อ "แคนดิเดตนายกฯ" หรือ "ว่าที่นายกฯในบัญชีของพรรคการเมือง" ด้วยว่าอะไรเกิดขึ้น..
ในวันนั้น พรรคไทยรักษาชาติได้สร้าง "บิ๊กเซอร์ไพรส์" กับการเสนอชื่อ"แคนดิเคตนายกฯ" โดยกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติ มากันอย่างพร้อมหน้า (ยกเว้นนายรุ่งเรือง พิทยศิริ)ยื่นรายชื่อแคนดิเดตนายกฯของพรรคต่อ กกต. กรรมการบริหารพรรคแต่ละคนดูกระหยิ่มยิ้มย่อง ราวกับได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้แล้วก็มิปาน
แต่สำหรับ กกต. ต้องประชุมกันอย่างเคร่งเครียดอยู่หลายวันกับรายชื่อแคนดิเดตนายกฯของพรรคไทยรักษาชาติ ก่อนจะมีมติเมื่อวันที่ 13 มีนาคม ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้มีคำสั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติ ด้วยข้อหากระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามกฎหมายพรรคการเมือง มาตรา 92(2)
14 ก.พ. ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณา บางคนแซวว่าเป็น "มติวาเลนไทน์"
ต่อจากนั้นศาลก็เปิดโอกาสให้พรรคไทยรักษาชาติส่งคำชี้แจงข้อกล่าวหา และศาลรัฐธรรมนูญนัดประชุมอีกครั้งเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์
พรรคไทยรักษาชาติส่งคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา 8 ประเด็นให้กับศาลในวันที่ 20 กุมภาพันธ์
ส่วนฝั่ง กกต.ก็ได้ส่งคำคัดค้าน (หมายถึงคำคัดค้านคำชี้แจงของไทยรักษาชาติ) ยื่นต่อศาลในวันที่ 26 กุมภาพันธ์
และเมื่อถึงวันที่ 27 ก.พ. ศาลรัฐธรรมนูญลงมติว่า ศาลได้รับเอกสารคำร้องของ กกต. และคำชี้แจงของพรรคไทยรักษาชาติและคำคัดค้านของ กกต.ทั้งหมดแล้ว ศาลเห็นว่ามีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้แล้ว โดยไม่มีความจำเป็นต้องไต่สวนพยานทั้งสองฝ่าย และนัดประชุมอีกครั้งในวันนี้ ( 7 มี.ค.) เพื่อให้ตุลาการแถลงด้วยวาจา และนัดอ่านคำวินิจฉัย นำมาซึ่งการยุบพรรคไทยรักษาชาติ เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคในการที่จะไปตั้งพรรคการเมืองใหม่หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองอื่นเป็นเวลา 10 ปี