ข่าว

 ทุ่ม1.3พันล.ช่วยเกษตรลดต้นทุน ใช้"สหกรณ์"ผลิตปุ๋ยใช้เอง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 ทุ่ม1.3พันล.ช่วยเกษตรลดต้นทุน ใช้กลไก"สหกรณ์"ผลิตปุ๋ยใช้เอง  

 

            แนวทางการส่งเสริมการลดต้นทุนการผลิตผ่านสถาบันเกษตรกร ภายใต้โครงการปุ๋ยผสมใช้เองผ่านสหกรณ์การเกษตรเพื่อลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรนั้น เป็นอีกนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่สนับสนุนให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยผสมเองที่มีธาตุอาหารพืชที่เหมาะสมตามค่าวิเคราะห์ดินแต่ละพื้นที่ และตรงกับความต้องการของพืชแต่ละชนิด โดยเฉพาะต้นทุนเรื่องปุ๋ย ซึ่งรัฐบาลจะต้องเร่งรัดจัดหาปุ๋ยให้เกษตรกรได้ใช้ในราคาที่ถูกลง 30% เนื่องจากปัจจุบันราคาปุ๋ยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกันเกษตรกรส่วนใหญ่ ยังใช้ปุ๋ยไม่ถูกต้องตามความเหมาะสมของสภาพพื้นดิน ส่งผลทำให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำกว่ามาตรฐาน

 ทุ่ม1.3พันล.ช่วยเกษตรลดต้นทุน ใช้\"สหกรณ์\"ผลิตปุ๋ยใช้เอง

 ทุ่ม1.3พันล.ช่วยเกษตรลดต้นทุน ใช้\"สหกรณ์\"ผลิตปุ๋ยใช้เอง

 

 

              “รัฐบาลมีแนวคิดที่จะช่วยเกษตรกรลดต้นทุนการผลิต โดยการสนับสนุนให้สหกรณ์เป็นศูนย์กลางในการผลิตปุ๋ยผสมใช้เองตามค่าการวิเคราะห์ดิน และจำหน่ายให้สมาชิกและเกษตรกรในแต่ละพื้นที่  ซึ่งได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมสหกรณ์จัดทำโครงการปุ๋ยผสมใช้เองฯ โดยให้สหกรณ์การเกษตรในระดับอำเภอผลิตปุ๋ยที่มีคุณภาพและจำหน่ายในราคาที่เป็นธรรม และผลักดันให้ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด เป็นตัวกลางในการสั่งซื้อแม่ปุ๋ยจากบริษัทนำเข้าในราคาที่ถูกกว่าราคาตลาดและกระจายต่อให้แก่สหกรณ์การเกษตรในแต่ละจังหวัดนำแม่ปุ๋ย ซึ่งเป็นปุ๋ยที่มีธาตุอาหารหลักพืช คือ N P K สูตรเข้มข้น เป็นวัตถุดิบเพื่อนำไปผสมและผลิตปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน หรือสูตรที่เกษตรกรต้องการใช้จำหน่ายให้แก่สมาชิกสหกรณ์และเกษตรกรทั่วไป”

                บางช่วงบางตอนที่ "กฤษฎา บุญราช" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวกับผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนากว่า 900 คนจากกลุ่มสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศ ที่สนใจเข้าร่วมโครงการประมาณ 462 แห่ง ณ โรงแรมปริ๊นซ์พาเลซ โดยโครงการนี้เป็นไปตามที่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ เร่งหาวิธีลดต้นทุนปัจจัยการผลิตเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร โดยเฉพาะต้นทุนเรื่องปุ๋ย ซึ่งกรมพัฒนาที่ดินจะวิเคราะห์ข้อมูลดินของแต่ละพื้นที่ เพื่อกำหนดสูตรปุ๋ยที่มีแร่ธาตุเหมาะสมกับสภาพดินให้สหกรณ์นำไปผลิต รวมทั้งกรมส่งเสริมการเกษตรให้ความรู้แก่เกษตรกรถึงข้อดีในการผลิตปุ๋ยใช้เอง ซึ่งจะมีธาตุอาหารที่เหมาะสมกับการปลูกพืชแต่ละชนิด และส่งผลต่อคุณภาพผลผลิตและบำรุงดินไม่ให้เสื่อมโทรม 

                ส่วนกรมวิชาการเกษตรจะให้คำแนะนำตามหลักวิชาการการผสมปุ๋ยเพื่อให้ได้ปุ๋ยที่มีคุณภาพมาตรฐาน และจะมีการตรวจสอบปุ๋ยที่สหกรณ์ผลิตขึ้น ก่อนจะออกใบอนุญาตผลิตและจำหน่ายปุ๋ยให้แก่สหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่เกษตรกรที่จะเลือกซื้อไปใช้ สำหรับเงินทุนในการผลิตปุ๋ยนั้น ขณะนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้จัดสรรวงเงินสินเชื่อ 1,300 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนโดยให้สหกรณ์กู้ยืม ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ร้อยละ 2 และ ธ.ก.ส.รับภาระดอกเบี้ย ร้อยละ 1 ต่อปี 

                “การประชุมในครั้งนี้เพื่อเชิญชวนสหกรณ์ทั่วประเทศ กว่า 400 แห่ง มาร่วมกับขับเคลื่อนการลดต้นทุนการผลิต โดยใช้วิธีการผลิตและจำหน่ายปุ๋ยเอง โดยให้ 4 เสือ ได้แก่ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร และกรมพัฒนาที่ดิน ลงพื้นที่ร่วมกันให้ความรู้วิธีการผสมปุ๋ยให้ตรงกับความต้องการของดินบริเวณนั้น โดยมีเป้าหมาย 1 แสนตัน ขณะนี้มีสมาชิกสหกรณ์แจ้งความต้องการปุ๋ยผสมใช้เอง รวม 7 หมื่นตัน ในเดือนมีนาคมจะเริ่มลงไปทำความเข้าใจกับเกษตรกร และเมษายนจะเริ่มฤดูกาลผลิต” กฤษฎากล่าว 

                รมว.เกษตรฯ ย้ำว่าสำหรับแนวทางเพิ่มเติมในการลดต้นทุนการทำเกษตรนั้น ได้แก่ การทำเกษตรระบบโควตา โดยกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ร่วมกันสำรวจความต้องการสินค้าเกษตร พื้นที่ไหนจะปลูกอะไรต้องดูตลาด เพื่อกำหนดโควตาตามความต้องการของตลาด นอกจากนี้ให้ตรวจสอบที่ดิน ส.ป.ก.กว่า 35 ล้านไร่ ที่จัดสรรให้เกษตรกร 7 ล้านครัวเรือนว่าพื้นที่ใดไม่ได้ใช้ประโยชน์ก็ให้เข้าไปปรับปรุงทำเป็นแปลงใหญ่ โดยเชิญภาคเอกชนและสถาบันการศึกษามาร่วมกันบริหารจัดการปรับปรุงดินให้เหมาะสมกับพืชในพื้นที่นั้นๆ ส่วนพื้นที่การเกษตรที่รกร้างหรือเจ้าของที่ดินไม่ได้ทำการเกษตรเนื่องจากอายุมาก ลูกหลานไม่ทำกิจการต่อ ให้กรมส่งเสริมการเกษตรเข้าไปพูดคุยทำความเข้าใจหาวิธีการช่วยเหลือ โดยใช้ Young Smart Farmer เข้าไปบริหารจัดการ เป็นการจ้างแรงงาน ซึ่งสามารถลดต้นทุนการผลิตได้

                  ด้าน พิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวเสริมว่า ได้ให้สหกรณ์จังหวัดทุกจังหวัด แจ้งรายละเอียดของโครงการนี้ไปยังสหกรณ์ต่างๆ และมีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรสมัครเข้าร่วมโครงการแล้ว จำนวน 462 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งในจำนวนนี้มีสหกรณ์ 242 แห่ง ได้แจ้งปริมาณความต้องการแม่ปุ๋ยแล้ว จำนวน 67,609.55 ตัน เพื่อนำไปผลิตปุ๋ยผสมใช้เองจำหน่ายให้แก่สมาชิกและเกษตรกรทั่วไป จำนวน 161,462 ราย 

                     ทั้งนี้หากเกษตรกรปรับเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยที่มาจากค่าวิเคราะห์ดินที่เหมาะสม คาดว่าจะสามารถลดต้นทุนปัจจัยการผลิตปุ๋ยให้แก่เกษตรกรได้ประมาณปีละ 2,000 บาท/ตัน และสามารถลดต้นทุนจากการใช้ปุ๋ยผสมใช้เองของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 228.38 ล้านบาท ซึ่งหลังจากนี้หากมีสหกรณ์เห็นประโยชน์ที่จะช่วยสมาชิกและเกษตรกรลดต้นทุนจากการใช้ปุ๋ยผสมเอง ก็สามารถแจ้งความประสงค์และแจ้งปริมาณความต้องการแม่ปุ๋ยได้เพิ่มเติม โดยติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานสหกรณ์จังหวัดทุกจังหวัด 

                   “ในอนาคตคาดหวังว่าสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรจะสามารถนำข้อมูลจากการเก็บค่าวิเคราะห์ดินของสมาชิกเป็นรายแปลงมาเป็นข้อมูลในการวางแผนจัดหาปุ๋ยหรือบริการผสมปุ๋ยที่เหมาะกับสภาพดินตามค่าวิเคราะห์ดินและเหมาะสมกับพืชแต่ละชนิดเพื่อจำหน่ายให้แก่สมาชิกและเกษตรกรต่อไป” อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์กล่าวทิ้งท้าย

     

                                          

                                 มารู้จักความหมายสูตรปุ๋ยเคมี“N-P-K” 

              ศ.ดร.สรสิทธิ์ วัชโรทยาน ปรมาจารย์ด้านดินและปุ๋ย อดีตอาจารย์ด้านปฐพีวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กล่าวในรายการ “เกษตรวาไรตี้” ทางสถานีวิทยุ ม.ก. ถึงรายละเอียดของปุ๋ย โดยระบุว่าเมื่อพูดถึงปุ๋ยเกษตรกรจะนึกถึงสองอย่างคือปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งเกษตรกรมีความจำเป็นจะต้องใช้ในการปรับปรุงบำรุงดิน  หลังจากที่ดินใช้งานมานานแล้วความเสื่อมโทรมของดินก็ย่อมเกิดขึ้น  โดยเฉพาะปุ๋ยเคมีที่เกษตรกรนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายและมีความสำคัญในปรับปรุงบำรุงดิน 

            “ถ้าเกษตรกรรู้จักปุ๋ยเคมีที่ตัวเองใช้อย่างถูกต้องก็จะช่วยประหยัดเงินค่าปุ๋ย ใช้ปุ๋ยถูกลงและผลผลิตดีขึ้น นี่คือประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับ”

                ศ.ดร.สรสิทธิ์ยังได้แนะนำวิธีการใช้ปุ๋ยเคมี  ประการแรกเกษตรกรจะต้องรู้จักสูตรปุ๋ยก่อนในเบื่้องต้น โดยให้สังเกตเลข 3 ตัวตรงใต้คำว่าปุ๋ยเคมีด้านข้างกระสอบ ที่ระบุ 10-10-10  หรือ 15-0-0 ซึ่งหมายควมว่าเป็นปริมาณเนื้อธาตุอาหารในกระสอบที่เกษตรกรซื้อ โดยตัวเลข 10 ตัวแรกเป็นเปอร์เซ็นต์ของเนื้อธาตุอาหารไนโตรเจน 10 ตัวที่สองเป็นฟอสฟอรัส และ 10 ตัวที่สามเป็นโปแตสเซียม

              “ถ้าสังเกตปุ๋ยที่ขายตามท้องตลาด จะเห็นว่ามีเป็นร้อยๆ สูตร ซึ่งมักจะเกิดปัญหาสับสนแก่เกษตรกร ฉะนั้นสิ่งที่เกษตรกรต้องรู้อีกอย่างคือเรโชของปุ๋ยหรือสัดส่วนของธาตุอาหารในปุ๋ยนั้นๆ เช่นสูตร 10-10-10 เรโชปุ๋ยก็คือ 1:1:1 เรโชปุ๋ยความสำคัญมากเพราะเราจะรู้ได้ว่าการผลิตปุ๋ยนั้นๆ ผลิตมาเพื่อให้ใช้ในการปรับปรุงบำรุงดินหรือเพื่อใช้กับพืชชนิดไหนอย่างไร อย่างเช่นปุ๋ยที่มีตัวหน้าสูง ตัวกลางและตัวหลังต่ำ แสดงว่าปุ๋ยสูตรนี้มีธาตุอาหารเน้นการบำรุงต้น บำรุงใบให้โตเร็ว แต่การเจริญเติบโตของรากหรือดอกจะไม่มีหรือมีน้อยมาก แต่ตัวกลางสูง ก็หมายความว่าจะเป็นปุ๋ยเร่งดอกเร่งรากให้เจริญเติบโต ส่วนถ้าตัวท้ายสูงจะเร่งผลและเพิ่มความหวาน” ปรมาจารย์ด้านดินและปุ๋ยคนเดิมกล่าว

                 อัธยะ พินจงสกุลดิษฐ รักษาการผู้เชี่ยวชาญด้านวินิจฉัยคุณภาพและกำลังผลิตของดิน กรมพัฒนาที่ดิน กล่าวกับ “คม ชัด ลึก” ถึงการดำเนินการโครงการดังกล่าว โดยระบุว่านับเป็นสิ่งที่ดีจะช่วยลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกร โดยใช้สหกรณ์เป็นกลไกในการดำเนินการ ก่อนที่จะนำไปแจกจ่ายให้แก่สมาชิก ซึ่งหากให้เกษตรกรไปดำเนินการเองคงยาก เนื่องจากความพร้อมของแต่ละรายไม่เหมือนกัน  

                “สมาชิกสหกรณ์กว่า 7 ล้านครัวเรือน ถ้าจะให้แต่ละรายไปทำเองคงลำบาก การผสมปุ๋ยใช้เองโดยผ่านกลไกสหกรณ์จะเป็นการดีที่สุด จะเห็นว่าที่ผ่านมามีโครงการสนับสนุนให้เกษตรกรผสมปุ๋ยใช้เอง แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากความพร้อมของแต่ละคนไม่เหมือนกัน”

               เขาย้ำด้วยว่าในส่วนของกรมพัฒนาที่ดินนั้นจะเข้าไปดูแลใน 3 ระดับ เริ่มจากเข้าไปแนะนำสูตรการผสมตามที่เกษตรกรต้องการใช้ จากนั้นจะมุ่งไปที่การผสมปุ๋ยให้มีธาตุอาหารให้เหมาะกับพืชชนิดนั้นและสุดท้ายจะเน้นการผสมปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินโดยให้เกษตรกรนำดินในพื้นที่นั้นๆ ส่งมาตรวจวิเคราะห์ที่สำนักงานพัฒนาที่ดินในพื้นที่เพื่อหาธาตุอาหารในบริเวณนั้น ก่อนจะทำการผสมปุ๋ยเพื่อนำไปใช้ ซึ่งในขั้นตอนนี้อาจจะต้องใช้เวลาพอสมควร

                อย่างไรก็ตามสำหรับการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินสำหรับเทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” มี 3 ขั้นตอน ประกอบด้วย ขั้นตอนที่ 1 ตรวจสอบข้อมูลชุดดิน โดยสอบถามจากสถานีพัฒนาที่ดินในพื้นที่หรือศึกษาจากแผนที่ชุดดินระดับตำบลหรือที่เว็บไซต์ www.soil.doae.go.th ขั้นตอนที่ 2 วิเคราะห์เอ็น-พี-เค (N-P-K) โดยชุดตรวจสอบเอ็น-พี-เค ในดินแบบรวดเร็วใช้เวลาเพียง 30 นาที และเกษตรกรสามารถทำได้ด้วยตัวเอง แต่ต้องเก็บตัวอย่างดินให้ถูกวิธี ขั้นตอนที่ 3 ใช้ปุ๋ยตามคำแนะนำ โดยศึกษาจากคู่มือปุ๋ยสั่งตัดหรือโปรแกรม SimRice สำหรับข้าวได้ที่เว็ปไซต์ http://www.ssnm.info

        

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ