ความสุขของคนเมืองที่มากกว่าหน้าจอ
พื้นที่สาธารณะ ความสุขของคนเมืองที่มากกว่าหน้าจอ
สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 11 พ.ศ.2561 มีฉันทมติเห็นชอบประเด็นนโยบาย “การร่วมสร้างสรรค์พื้นที่สาธารณะในเขตเมืองเพื่อสุขภาวะสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” เสนอแนวทาง 4 ข้อเพื่อให้คนในเมืองใหญ่ได้มีพื้นที่สาธารณะไว้สร้างความสุขแทนหน้าจอมือถือ
ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ อัศวโกวิทวงศ์ ประธานคณะทำงานประเด็น “การสร้างสรรค์พื้นที่สาธารณะในเขตเมืองเพื่อสุขภาวะสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” มองว่าพื้นที่เมืองคือหนึ่งในความเชื่อมโยงที่มีผลต่อสุขภาพ โดยเฉพาะในเขตเมืองที่มีความสลับซับซ้อน แต่มีพื้นที่สาธารณะน้อยมาก โดยเฉพาะกรุงเทพฯ นั้นมีพื้นที่รกร้างไม่ได้ใช้ประโยชน์กว่า 70,000 ไร่ คิดเป็น 8% ของพื้นที่ในกรุงเทพฯ
ซึ่งหากหันมามองเรื่องพฤติกรรม และความเร่งรีบในชีวิตที่มีผลต่อสุขภาวะ คนเมืองมักจะใช้เวลาไปกับสื่อออนไลน์ เทคโนโลยีอยู่แต่ในห้อง ในบ้าน ในออฟฟิศ ซึ่งจะทำอย่างไรให้คนหันออกมาใช้ชีวิตนอกบ้าน ซึ่งพื้นที่เมืองเองทุกวันนี้ก็ยังไม่ตอบโจทย์ของการเอื้ออำนวยให้คนออกมาใช้ ควรทำอย่างไรให้เกิดการชักชวน เกิดความเอื้อให้คนออกมาใช้พื้นที่สาธารณะมากขึ้น
“พื้นที่สาธารณะที่ผู้คนเข้าใจหมายถึงพื้นที่รัฐ พื้นที่หลวงเท่านั้น เช่นริมน้ำ สวนสาธารณะ แต่ความเป็นจริงเราหมายถึงพื้นที่ใดๆ ก็ได้ ที่ชุมชน คนในเมืองได้ออกมาใช้ประโยชน์ได้” ผศ.ดร.ณัฐวุฒิให้นิยามของคำว่าพื้นที่สาธารณะ ที่หลายคนยังเข้าใจคาดเคลื่อน
นอกจากนี้เขายังมีความเห็นว่าพื้นที่สาธารณะมีความสำคัญต่อสุขภาวะหรือคุณภาพชีวิตมากกว่าความสุขบนหน้าจอมือถือ
ในมิติที่เรามองจากสภาพที่เป็นอยู่ คนไม่ได้ขาดพื้นที่สาธารณะ มันมีอยู่ แต่มันจำกัดด้วยเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ เช่น เราอยากไปทะเล เราก็ต้องเสียเงินซื้อบริการ เช่น ซื้อห้องพัก ผ้าใบ กาแฟ เพื่อจะใช้บริการ ซึ่งวาระการสร้างสรรค์พื้นที่สาธารณะในเขตเมืองในการประสมัชชาสุขภาพครั้งที่ 11 เราต้องการลดความเลื่อมล้ำในการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะเหล่านี้ อยากให้ประชาชนมีกิจกรรมที่จรรโลง มีทางเลือกของการใช้พื้นที่มากขึ้นสำหรับคนที่มีรายได้น้อย
ยกตัวอย่างหลายพื้นที่ ที่มีการดำเนินการแล้ว แต่เกิดขึ้นในลักษณะที่เจ้าของที่ดินหรือหน่วยงานให้ความสนใจแต่ยังมีประปราย เช่น หาดบางแสนสำหรับคนที่ไม่มีสตางค์ มีนโยบายในการเพิ่มพื้นที่หาด ทางเทศบาลเสริมสุข จัดให้พื้นที่เอาเสื่อมา เอาอาหารมา ปิ่นโตมา จูงลูกหลานมา โดยไม่ต้องเสียค่าบริการ หรือ ห้างสรรพสินค้าบางแห่งเปิดให้บริการนักวิ่งบนดาดฟ้า โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย การใช้ประโยชน์ร่วมได้เกิดขึ้นแล้ว โอกาสที่จะมีส่วนหย่อมเล็กๆ เช่น วัดเปลี่ยนลานจอดรถให้เป็นสวนสงบ ไม่ใช่แค่ออกกำลังกายเท่านั้น คือ ทั้งสุขภาวะกาย หรือ สุขภาวะใจ การเปิดโอกาสให้คนละแวกนั้นมาใช้พื้นที่
ทั้งนี้ ได้มีการเสนอ 4 มติเข้าไปในที่ประชุมสมัชชาสุขภาพครั้งที่ 11 เกี่ยวกับแนวทางสู่การสร้างสรรค์พื้นที่สาธารณะในเขตเมืองเพื่อสุขภาวะสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งได้มีการเห็นชอบเรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วย
1.เครือข่ายชุมชนท้องถิ่น ต้องขับเคลื่อนเข้าไปในแผนของเทศบาล ให้ชุมชนสามารถทำได้เองโดยใช้สภาชุมชนที่มีอยู่แล้ว เสริมประเด็นเข้าไป
2.ขอให้หน่วยงาน เช่น จังหวัด โยงเข้าในนโยบาย ผ่านตัวชี้วัดและมีการผลักดัน
3.แนวทางมีอยู่แล้วแต่ต้องมาดูที่รายละเอียด เช่น ผังเมือง ช่วยสร้างมาตรการที่เอื้ออำนวย เช่น พื้นที่สีเขียว พื้นที่โล่งกลายเป็นพื้นที่สาธารณะแต่อยู่รอบนอกของเมือง อาจให้บุคคลที่มีพื้นที่สีแดงมีการวางแผนร่วมกับชุมชน เทศบาล ให้มาแบ่งปันพื้นที่
4.เราจะจูงใจคนอย่างไรให้มาร่วมแบ่งปันพื้นที่ เช่น ลดภาษีให้หากเพิ่มพื้นที่สาธารณะขึ้น เป็นต้น
“ปัจจุบันเรามีรูปธรรมให้เห็นมากขึ้น เกิดบทเรียนของการเรียนรู้พื้นที่สาธารณะมากขึ้น ปัญหาเรื่องสุขภาวะเกี่ยวกับเมือง เราไม่สามารถมีเวลาหยุดนิ่งมากเท่าไหร่ เพราะทุกวันนี้ โดยมาก ระบบสุขภาพเราใช้งบประมาณดำเนินการในการซ่อม เช่น ป่วยก็ไปหาหมอซึ่งมันคือปลายเหตุ เราต้องการพยายามป้องกันจากต้นเหตุ
การเพิ่มพื้นที่สาธารณะ รัฐทำอยู่ฝ่ายเดียวไม่ได้ เพราะบางทีการลงลึกไปยังชุมชมอาจจะยังมีไม่มาก เราพูดถึงการแบ่งปัน ไม่จำเป็นต้องเป็นของรัฐ อาจจะเป็นพื้นที่ของหน่วยงานใดก็ตามในช่วงเวลาหนึ่งเช่นสัปดาห์ละ 1 วัน ส่วนเวลาปกติก็เป็นพื้นที่ใช้งานปกติ เช่น ศูนย์ราชการฯแจ้งวัฒนะ หลัง 5 โมง เปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกเข้ามาใช้ เช่นมาวิ่ง ออกกำลังกาย”
ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ มองว่า นอกจากจะต้องสร้างพื้นที่สาธารณะแล้ว กิจกรรมในพื้นที่สาธารณะก็ต้องตอบโจทย์คนในชุมชนได้ด้วย “ถ้าเราได้การแบ่งปันพื้นที่มาแล้ว มีกลไก จัดสรร เราจะกำหนดกิจกรรมอะไร ให้คนมาใช้กิจกรรมเชิงรุก ต้องสร้างสรรค์กิจกรรมดีๆให้คนอยากออกมาใช้ กระบวนออกแบบกิจกรรมที่ดี ตอบโจทย์ความต้องการของคนในท้องถิ่น บางพื้นที่มีคนสูงอายุเยอะ ส่วนในเมืองวัยรุ่นเยอะ ทำอย่างไรให้เหมาะกับสถานที่และกลุ่มคน”