ข่าว

กรมศุลฯยึด "ปลาไหลแก้ว" 800 กก.

กรมศุลฯยึด "ปลาไหลแก้ว" 800 กก.

21 ธ.ค. 2561

ตะลึง !! กรมศุลกากรแถลงจับกุมผู้ลักลอบนำเข้าปลาไหลแก้ว สายพันธุ์ยุโรป น้ำหนักรวม 800 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 40 ล้านบาท

 

              เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 21 ธันวาคม 2561 ที่ฝ่ายสืบสวนและปราบปราม ส่วนควบคุมทางศุลกากร สำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ชั้น 3 ตึก BC เขตปลอดอากรท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ อธิบดีกรมศุลกากร นายสรศักดิ์ มีนะโตรี รองอธิบดีกรมศุลกากร นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นายเชาวน์ ตะกรุดเงิน ผู้อำนวยการส่วนควบคุมทางศุลกากร นายสุรพัศ สิขเรศ หัวหน้าฝ่ายสืบสวนและปราบปราม และนายกิตติพงศ์ กิตติขจร รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ร่วมกันแถลงข่าวจับกุมผู้ลักลอบนำเข้าปลาไหล ยุโรป สายพันธุ์ Anguilla anguilla ซึ่งเป็นชนิดพันธุ์ที่อยู่ในบัญชีหมายเลข 2 ของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) และชนิดสัตว์น้ำตามบัญชีแนบท้ายประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์ป่า ซากของสัตว์ป่าที่ห้ามนำเข้าหรือส่งออก พร้อมของกลางปลาไหลแก้ว สายพันธุ์ยุโรป (The European eel species Anguilla anguilla) น้ำหนัก 800 กิโลกรัม รวมมูลค่าประมาณ 40 ล้านบาท

 

 

กรมศุลฯยึด \"ปลาไหลแก้ว\" 800 กก.

 

 

 

              นายกฤษฎา กล่าวว่า กรมศุลกากรได้มีนโยบายสำคัญในการปราบปรามสินค้าลักลอบ หลีกเลี่ยงอากร ข้อห้าม ข้อจำกัด เพื่อความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี ปกป้องสังคมและสิ่งแวดล้อม และเข้มงวดพิเศษในการสกัดกั้นป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้า ส่งอออก นำผ่านสัตว์น้ำใกล้สูญพันธุ์ ภายใต้พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2558 และอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) จึงได้สั่งการให้จับกุมผู้กระทำความผิด โดยเฝ้าติดตามข้อมูลข่าวสาร สำนักงานข่าวทั่วโลกและพยายามแกะรอยพฤติกรรมกลุ่มผู้ค้าที่มีความเสี่ยงจะนำเข้ามายังประเทศไทย พร้อมทั้งสืบสวนหาข่าวเชิงลึกจนพบว่ามีขบวนการลักลอบส่งออกปลาไหลยุโรป สายพันธุ์ Anguilla anguilla ซึ่งเป็นชนิดพันธุ์ที่อยู่ในบัญชีหมายเลข 2 ของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) และชนิดสัตว์น้ำตามบัญชีแนบท้ายประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์ป่า ซากของสัตว์ป่าที่ห้ามนำเข้าหรือส่งออก จึงได้สั่งการให้เข้มงวดเฝ้าระวังตรวจสอบสินค้าประเภทปลาไหลยุโรปเป็นพิเศษ

 

 

กรมศุลฯยึด \"ปลาไหลแก้ว\" 800 กก.

 

 

              นายกฤษฎา กล่าวว่า จนกระทั่งเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนและปราบปราม ส่วนควบคุมทางศุลกากร สำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ ด่านตรวจสัตว์น้ำท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กรมประมง ได้ตรวจสอบข้อมูลบัญชีสินค้าทางอากาศยาน (Manifest) ซึ่งบรรทุกมากับอากาศยานเที่ยวบินที่ QR830 พบว่ามีสินค้าต้องสงสัยสำแดงชนิดสินค้าเป็น COOL SHRIMPS จำนวน 3 หีบห่อ น้ำหนัก 357 กิโลกรัม โดยส่งจากประเทศต้นทางคือประเทศโรมาเนีย ส่งมายังผู้รับในประเทศไทย จึงได้ขอความช่วยเหลือจากหัวหน้าด่านตรวจสัตว์น้ำท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในการนำตัวอย่างสินค้าไปตรวจสอบผลการตรวจสอบพบว่าสินค้าเป็นปลาไหลยุโรป สายพันธุ์ Anguilla anguilla และวันที่ 20 ธ.ค. ยังพบว่ามีข้อมูลการนำเข้าสินค้าตามบัญชีสินค้าทางอากาศยาน (Manifest) สำแดงชนิดสินค้าเป็น COOL SHRIMPS จำนวน 3 หีบห่อ น้ำหนัก 352 กิโลกรัม นำเข้ามาทางสายการบินกาต้าร์แอร์เวย์ เที่ยวบินที่ QR838 ขนส่งจากประเทศต้นทางโรมาเนีย ปลายทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ประเทศไทย ตรวจสอบพบว่าสินค้าเป็นเป็นปลาไหลยุโรป สายพันธุ์ Anguilla anguilla เช่นเดียวกัน รวมมูลค่าสินค้าทั้งหมด 40 ล้านบาท

 

 

กรมศุลฯยึด \"ปลาไหลแก้ว\" 800 กก.

 

 

 

              สำหรับปลาไหลยุโรป สายพันธุ์ Anguilla anguilla หรือ ปลาไหลแก้ว (Glass eels) กระจายพันธุ์อยู่ตามแถบชายฝั่งแม่น้ำในทวีปยุโรป และใกล้ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน โดยที่ปลาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์จะว่ายน้ำไปวางไข่ในทะเลซาร์กัสเพียงแห่งเดียว และเมื่อปลาวางไข่แล้วจะตาย สำหรับลูกปลาเมื่อฟักเป็นตัวอ่อน จะมีลักษณะโปร่งแสงใสเหมือนวุ้นเส้น และจะเดินทางกลับสู่แม่น้ำทางทวีปยุโรป โดยลอยไปตามกระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีม ซึ่งอาจจะเสี่ยงต่อการถูกสัตว์น้ำชนิดอื่นจับกินเป็นอาหาร โดยตัวอ่อนใช้เวลานานถึง 2-3 ปี ในการเดินทางมาถึงชายฝั่งแม่น้ำในทวีปยุโรป และใช้เวลา 8-15 ปี ในการเจริญเติบโตเต็มวัย ปลาไหลยุโรปจัดเป็นปลาเศรษฐกิจที่มีความสำคัญชนิดหนึ่งของทวีปยุโรป โดยใช้บริโภคกันมาอย่างยาวนาน สามารถปรุงได้หลายวิธีและจัดเป็นอาหารราคาแพง จนกระทั่งกลางปี พ.ศ.2552 รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ได้ออกกฎหมายห้ามล่าปลาไหลยุโรปเพื่อการค้าระหว่างเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน เพราะเกรงว่าจะสูญพันธุ์ ทั้งนี้มีจำนวนประชากรปลาไหลยุโรปลดลงกว่าร้อยละ 95 ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา

 

 

กรมศุลฯยึด \"ปลาไหลแก้ว\" 800 กก.

 

 

              อย่างไรก็ตาม กรมศุลกากรได้ให้ความสำคัญกับการปราบปรามการกระทำผิดสินค้าเกี่ยวกับอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) อย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กรมศุลกากรได้จับกุมผู้กระทำผิดตามอนุสัญญาฯ ที่พยายามลักลอบผ่านทางสนามบิน มีมูลค่าสินค้ารวมมากกว่า 1,000 ล้านบาท

 

 

กรมศุลฯยึด \"ปลาไหลแก้ว\" 800 กก.

 

 

              รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับปลาไหลมีทั้งหมด 15 สายพันธุ์ แต่มีเพียงหนึ่งสายพันธุ์คือ ปลาไหลแก้ว ที่เป็นสายพันธุ์ที่อยู่ในอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) เนื่องจากมีจำนวนลดลงและใกล้จะสูญพันธุ์ เพราะเนื้อปลาไหลแก้วมีราคาแพงมาก และเป็นอาหารจานโปรดของชาวยุโรป บางส่วนมีความเชื่อว่าเป็นยาที่เพิ่มพลังและบำรุงกำลัง ทำให้มีผู้ลักลอบส่งออกปลาไหลแก้วมีต้นทางจากยุโรป ก่อนที่จะส่งต่อลูกปลากไหลแก้ว แบบ elver เข้ามาหลายประเทศในแถบเอเชีย ซึ่งจะมีการนำลูกปลาไหลแก้วไปเลี้ยงให้โตเต็มที่ จากนั้นจึงส่งออกไปยังประเทศที่ 3 ในแถบเอเชีย อาทิ ฮ่องกง จีน ซึ่งเจ้าหน้าที่เชื่อว่าในประเทศไทยยังไม่มีสถานที่เพาะเลี้ยงปลาไหลแก้วเพื่อเพิ่มมูลค่าก่อนส่งออก แต่น่าจะถูกนำมาพักไว้ ก่อนส่งต่อไปยังประเทศที่ 3 อย่างไรก็ตามอยู่ระหว่างการขยายผลจับกุมผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป

 

 

กรมศุลฯยึด \"ปลาไหลแก้ว\" 800 กก.

 

 

กรมศุลฯยึด \"ปลาไหลแก้ว\" 800 กก.

 

 

กรมศุลฯยึด \"ปลาไหลแก้ว\" 800 กก.

 

 

กรมศุลฯยึด \"ปลาไหลแก้ว\" 800 กก.