ข่าว

"พีระ" คว้าชัยเก้าอี้นายกเล็กสงขลา
ลบภาพผูกขาด "พี่น้องตระกูลชูช่วย"

"พีระ" คว้าชัยเก้าอี้นายกเล็กสงขลา ลบภาพผูกขาด "พี่น้องตระกูลชูช่วย"

04 พ.ย. 2552

ผลเลือกตั้ง "นายกเทศมนตรีนครสงขลา" เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา จะว่าผิดคาดก็ได้ หรือจะว่าไม่แปลกก็ไม่น่าแปลก เมื่อ พีระ ตันติเศรณี ผู้สมัครหมายเลข 1 ทีมสงขลาใหม่ ที่ได้รับแรงสนับสนุนจาก นิพนธ์ บุญญามณี รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เอาชนะ กิตติ ชูช่ว

  แม้ก่อนหน้านี้จะมีการประเมินว่า คะแนนของทั้งคู่จะก้ำกึ่งสูสีกัน เพราะฝ่ายแรกมีนักการเมืองระดับชาติหนุนหลัง ส่วนฝ่ายหลังก็มีพี่ชายมีดีกรีเป็นถึงแชมป์เก่านายกเทศมนตรีนครสงขลา

 ทว่า คะแนนที่ออกมากลับขาดลอยกว่าที่คาดไว้เยอะ โดยพีระได้คะแนนไปถึง 19,814 คะแนน ขณะที่กิตติได้เพียง 9,453 คะแนนเท่านั้น !!

 การเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้ออกมาใช้สิทธิ์ 62.80 เปอร์เซ็นต์ จากจำนวนผู้สิทธิ์รวมทั้งสิ้น 48,168 คน ซึ่งต่ำกว่าที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเทศบาลนครสงขลาตั้งเป้าไว้ที่ 70 เปอร์เซ็นต์

 อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะไม่เป็นไปตามเป้า แต่ก็ถือว่าสูงกว่าการเลือกตั้งเมื่อปี 2551 ซึ่งครั้งนั้นมีผู้มาใช้สิทธิ์ประมาณ 36 เปอร์เซ็นต์ แต่ครั้งนั้นเป็นการลงสมัครแบบไม่มีคู่แข่ง จึงไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้

 เซียนการเมืองในเมืองสงขลาวิเคราะห์ว่า มีปัจจัยอย่างน้อย 3 ประการที่นำมาสู่ชัยชนะของพีระในครั้งนี้

 ประการแรก คือ การสร้างกระแส "เปลี่ยน" ของพีระที่ได้ผลเกินคาด โดยเฉพาะการโจมตีความพยายามในการสร้างเครือข่าย "ทายาททางการเมือง" ของอดีตนายก อุทิศ ชูช่วย นายก อบจ.สงขลา ปัจจุบัน เพื่อกระตุ้นเตือนไม่ให้เกิดการผูกขาดทางการเมือง

 ประการที่สอง คือ การออกมาใช้สิทธิ์ของคนเมืองและคนรุ่นใหม่ ซึ่งออกมาใช้สิทธิ์มากขึ้น และเป็นคะแนนที่ชี้ขาดในการเลือกตั้ง โดยเฉพาะสมาคมจีน และนักธุรกิจ ซึ่งนอกจากจะออกมาใช้สิทธิ์กันมากแล้ว ยังลงขันช่วยพีระอย่างเต็มที่ตั้งแต่มีการประกาศตัวลงแข่งขัน

 ประการสุดท้าย คะแนนส่วนตัวของพีระที่มีเหนือกิตติ ในฐานะที่เป็นผู้มีประสบการณ์ทางการเมืองมามากกว่า ทั้งในเวทีเล็ก (เทศบาลนครสงขลา) และเวทีใหญ่ (องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา) รวมถึงภาพนักการเมืองรุ่นใหม่ที่เป็นทางเลือกของประชาชน

 ขณะที่ความพ่ายแพ้ของกิตติก็น่าจะมาจากปัจจัย 3 ประการด้วยกัน
 ประการแรก ความเป็นนักการเมืองน้องใหม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์ แม้จะประสบความสำเร็จทางธุรกิจ แต่สำหรับถนนการเมือง กิตติยังถือว่าใหม่มาก โดยเพิ่งได้รับการเลือกตั้งซ่อม ส.ท. และเข้ามาเป็นประธานสภาเทศบาลนครสงขลาเมื่อปี 2551 เท่านั้น

 ประการที่สอง เกิดจากกระแสการต้องการความเปลี่ยนแปลงของคนเมืองรุ่นใหม่ที่ไม่ต้องการให้เกิดการผูกขาดทางการเมืองในเทศบาลนครสงขลาของคนตระกูล "ชูช่วย" หลังจากอุทิศเคยนั่งเก้าอี้ติดต่อกันมานานถึง 10 ปีแล้ว

 ประการที่สาม คือ ความไม่ต้องการให้เกิดการผูกขาดทางการเมืองใน จ.สงขลา ของ "สองพี่น้องตระกูลชูช่วย" เนื่องจากอุทิศดำรงตำแหน่งนายก อบจ.สงขลา อยู่แล้ว จึงไม่ต้องการให้กิตติเป็นนายกเทศมนตรีนครสงขลาอีก

 กระนั้น ถ้ามองในแง่ดี แม้ผลการเลือกตั้งครั้งนี้กิตติจะพ่ายแพ้อย่างหมดรูป แต่ถ้าพิจารณาเฉพาะจำนวนคะแนนที่ได้รับสำหรับนักการเมืองน้องใหม่อย่างกิตติ ก็ถือว่าเป็นคะแนนที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง และยังมีโอกาสให้แก้ตัวใหม่อยู่เสมอ

 ส่วนถนนทางการเมืองในตำแหน่งนายกเทศมนตรีของพีระก็นับว่าสดใสไม่น้อย เพราะนอกจากเจ้าตัวจะได้รับชัยชนะแล้ว ลูกทีมในตำแหน่งสมาชิกสภาเทศบาลนครสงขลาทั้ง 3 เขต ก็ตกเป็นของ "ทีมสงขลาใหม่" แบบเบ็ดเสร็จเช่นกัน

 ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าพีระจะใช้โอกาสที่มีอยู่ได้อย่างเต็มศักยภาพเพื่อพัฒนาเทศบาลนครสงขลาได้ดีเทียบเท่าหรือเหนือกว่านายกคนเก่าอย่างอุทิศได้แค่ไหน

 ถ้าโชว์ฝีมือได้ดี โอกาสที่จะนั่งเก้าอี้ต่ออีกสมัยก็มีสูง แต่ถ้าโชว์ฝีมือไม่เข้าตาก็ยังมีกิตติรอท้าชิงเก้าอี้อยู่ในสมัยหน้า หรืออาจมีนักการเมืองคลื่นลูกใหม่ก้าวเข้ามาท้าชิงเก้าอี้เพื่อเพิ่มสีสันให้แก่การเมืองในเทศบาลนครสงขลา ไม่ใช่ "เก้าอี้ผูกขาด" ของใครคนใดคนหนึ่ง

"สมชาย สามารถ"