ข่าว

"ท่าแค”ต้นกำเนิด "มโนราห์"แห่งปักษ์ใต้
ททท.ผลักดันสู่แหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรม

"ท่าแค”ต้นกำเนิด "มโนราห์"แห่งปักษ์ใต้ ททท.ผลักดันสู่แหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรม

02 พ.ย. 2552

“มโนราห์” คือหนึ่งในเอกลักษณ์ทางศิลปวัฒนธรรมของชาวปักษ์ใต้ที่ชัดเจนที่สุด สำหรับคนใต้ มโนราห์ไม่ได้เป็นเพียงแค่ศิลปะการร่ายรำด้วยท่วงท่าที่งดงาม และอ่อนช้อยเท่านั้น

 แต่มโนราห์ยังผูกพันกับวิถีชีวิตชาวบ้านที่มีการผสมผสานระหว่างความเชื่อในพุทธศาสนากับศาสนาพราหมณ์และการถือผีแต่ดั้งเดิมจนก่อให้เกิดพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์มากมาย

 ทว่า จะมีสักกี่คนที่จะรู้ว่า จุดเริ่มต้นของศิลปะที่อยู่คู่ปักษ์ใต้มาแต่โบราณกาลมี "จุดเริ่มต้น" ณ แห่งหนตำบลใด!?

 ประเด็นนี้ ครูเปลื่อง ประชาชาติ ปราชญ์ด้านมโนราห์แห่งเมืองพัทลุง กล้าที่จะชี้ชัดว่า จากการศึกษาข้อมูลหลักฐานทางประวัติศาสตร์เมืองพัทลุงมีสิ่งบ่งชี้หลายอย่างที่ทำให้เชื่อได้ว่า ต.ท่าแค อ.ท่าแค จ.พัทลุง เป็นจุดกำเนิดมโนราห์แห่งปักษ์ใต้

 ครูเปลื่อง ตั้งข้อสังเกตประกอบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ด้วยว่า แม้การรำมโนราห์จะปรากฏอยู่ทั่วทุกแห่งหนในภาคใต้ และพิธีกรรมที่เรียกว่า “โนราโรงครู” ซึ่งหมายถึงมโนราห์ที่แสดงเพื่อประกอบพิธีเชิญโรงครู หรือบรรพบุรุษโนรามายังโรงพิธีเพื่อรับการเซ่นสังเวย รับของแก้บน และเพื่อครอบเทริดหรือผูกผ้าใหญ่แก่โนรารุ่นใหม่ ซึ่งเป็นพิธีที่พบได้ทั้งที่ นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง และสงขลา

 แต่ "โนราโรงครูท่าแค" กลับมีความพิเศษที่สุด เพราะพิธีกรรมนี้มีความหมายเพื่อให้ "ครูหมอโนรา" หรือ "ตายายโนรา" ทั้งหมดมาร่วมชุมนุมกัน เพราะชาวบ้านเชื่อกันมาแต่โบราณว่า บ้านท่าแคเป็นแหล่งกำเนิดโนรา และเป็นแหล่งสถิตหรือพำนักของครูโนรา

 ดังนั้น จึงทำให้โนราโรงครูวัดท่าแคมีรูปแบบและขั้นตอนพิธีกรรมแตกต่างไปจากโนราโรงครูทั่วไปอย่างชัดเจน

 “เมื่อถึงเวลาอันสำคัญ มโนราห์ทุกคนจะต้องกลับมาคารวบูชาครูที่ท่าแค ดังนั้นจึงไม่แปลก หากจะบอกว่าท่าแค คือ ศูนย์กลางมโนราห์ในภาคใต้” ครูเปลื่อง กล่าวย้ำ

 นอกจากนี้ ที่ท่าแคยังปรากฏหลักฐานการบันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของ “ขุนศรีศรัทธา“ ปรมาจารย์มโนราห์ ซึ่งเดินทางมาขึ้นแพที่หน้าวัดแห่งหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า "ท่าแพ" แต่ภายหลังเพี้ยนเป็น "ท่าแค" จนถึงปัจจุบัน

 ปัจจุบันที่วัดท่าแค ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของถนนเพชรเกษม ห่างที่ว่าการอำเภอเมืองพัทลุงไปไม่ถึง 10 กิโลเมตร ยังปรากฏ "หลักพ่อขุนศรีศรัทธา" ซึ่งแกะสลักท่ารำโนรา 12 ท่า ลงบนไม้รักเขา หรือต้นยอไม่ตกดิน ซึ่งถือเป็นที่เคารพสักการะของมโนราห์รุ่นหลัง

 ด้าน ประภาส อินทประสาธน์ ผอ.การท่องเที่ยวสำนักงานหาดใหญ่ (สงขลา-พัทลุง) กล่าวว่า วัดท่าแค นอกจากจะเป็นศาสนสถานที่มีความสำคัญและอยู่คู่ จ.พัทลุง มายาวนานแล้ว ยังเป็นต้นกำเนิดมโนราห์ของภาคใต้อีกด้วย

 โดยเฉพาะพิธีกรรมที่เรียกว่า “โนราโรงครู” แห่งท่าแค ซึ่งเป็นพิธีโบราณที่หาชมได้ยาก และมีขั้นตอนประกอบพิธีกรรมครบถ้วน

 "ททท.จึงเตรียมแนวทางดึงเจ้าของพื้นที่ ทั้งเทศบาล อบต. และหน่วยงานภาคเอกชน เข้ามาร่วมผลักดันให้ท่าแคกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว และศูนย์การเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญของภาคใต้”

 นี่คือความตั้งใจจริงของ ททท. ที่น่าชื่นชม และเชื่อว่าหน่วยงานท้องถิ่นใน ต.ท่าแค และใกล้เคียง คงจะร่วมผนึกกำลังก้าวไปด้วยกัน

สุพิชฌาย์ รัตนะ