ข่าว

'จตุคามคริปโตฯ' สิ้นมนต์ขลัง หมดตัว-เลิกเห่อบ้าระหํ่า!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ไทยแลนด์ อาจนับได้ว่า เป็นประเทศแรกของโลกที่อนุญาตให้เอกชนสามารถระดมทุนหรือเงินจากประชาชน นักลงทุน ผ่านการออกเหรียญดิจิตอล (ICO) ได้อย่างเต็มรูปแบบ

ทางออกนอกตำรา ฉบับ 3418 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 15-17 พ.ย.2561 โดย...บากบั่น บุญเลิศ

 

 

‘จตุคามคริปโตฯ’ สิ้นมนต์ขลัง

หมดตัว-เลิกเห่อบ้าระหํ่า!

 

 

          ไทยแลนด์ อาจนับได้ว่า เป็นประเทศแรกของโลกที่อนุญาตให้เอกชนสามารถระดมทุนหรือเงินจากประชาชน นักลงทุน ผ่านการออกเหรียญดิจิตอล (ICO) ได้อย่างเต็มรูปแบบและถูกต้องตามกฎหมาย พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ พ.ศ. 2561

           สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ออกเกณฑ์รองรับการออกและเสนอขาย โทเคนดิจิตอลผ่านไอซีโอ และการเห็นชอบไอซีโอพอร์ทัล มาตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2561

            ขณะที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ปลดล็อกให้บริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของสถาบันการเงิน ยกเว้นสถาบันการเงิน ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิตอลได้ เช่น ตั้งบริษัทลูกขึ้นมาปฏิบัติงานเป็นการเฉพาะ ทำให้บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน บริษัทประกันวินาศภัย บริษัทประกันชีวิต สามารถทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับคริปโตเคอร์เรนซี และสินทรัพย์ดิจิตอลได้

            คาดหมายกันว่า Crypto Economy น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนของระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ของไทย

            แต่เชื่อหรือไม่ว่า นับตั้งแต่กลุ่มเจมาร์ทตั้งบริษัทลูกขาย JFIN coin สร้างปรากฏการณ์ระดมทุนสะท้านเมือง ขายเหรียญครั้งแรกจำนวน 100 ล้านเหรียญ ในราคา 6.60 บาท คนเห่อกันทั้งเมืองเข้าคิวซื้อเหรียญในตอนเปิดขาย ICO ราว 2,000 คน กวาดเงินไป 660 ล้านบาท

            ทว่า จนถึงบัดนี้ JFIN coin ราคายังไม่ฟื้น ราคาล่าสุดวิ่งเล่นอยูู่่ที่ 2.20 บาท ถีบตัวไปสูงสุดที่ 2.49 บาท ตํ่าสุด 2.15 บาท นักลงทุนหลายพันรายที่จองซื้อไว้ขาดทุนกันหนักหน่วงเกินกว่า 70% หลายคนเลือดท่วมตัวมองไม่เห็นอนาคตของเงินดิจิตอลสกุลนี้

            นี่อาจเป็นตัวสะท้อนภาพหนึ่งว่า การระดมทุนผ่าน ICO ทั่วโลกนับพันรายการ แต่ประสบความสำเร็จเพียง 3.8% นอกนั้นสร้างความเสียหายให้นักลงทุน หลอกลวงกว่า 80% ล้มเหลว 6% ไปไม่รอด 5%

            คนรุ่นใหม่หลายคนอาจเถียงว่าคริปโตฯ น่าจะเป็นทางเลือกในการระดมทุนของกลุ่มสตาร์ตอัพที่ไม่มีทางเข้าถึงแหล่งเงินและต้องการเงินมาพัฒนากิจการ แต่การระดมทุนผ่านโทเคนต่างๆ จำเป็นจะต้องมี “จริยธรรม” ในเรื่องความรับผิดชอบกับผู้ถือหน่วย ผู้ควักเงินไปลงทุนซื้อเหรียญด้วย การที่บทเรียนแรกไม่ผ่าน บทเรียนต่อไปจึงยากเย็นแสนเข็ญ

            วันที่ 8 พฤศจิกายน 2561 ผมมีโอกาสไปนั่งฟัง คุณรพี สุจริตกุล เลขาธิการ ก.ล.ต.พูดในงาน Fintech Challenge 2018 ต้องบอกว่า สะท้านใจ “คนพันมิลเลนเนียล” คุณรพีบอกว่าตลาด ICO และเงินคริปโตเคอร์เรซีในประเทศไทยว่า ถึงตอนนี้ได้ผ่านจุดที่ “เห่อแบบบ้าระหํ่า” ไปเรียบร้อยแล้ว

            ผมไปขอสปีชของรพีมานำเสนอแล้วกันนะครับ ต้องบอกว่าน่าสนใจในเรื่องแนวคิด บทบาทก.ล.ต.นักลงทุน และคนวัยมิลเลนเนียลลองพิจารณาดู...ก่อนเงินในกระเป๋าคุณหายวับ

            “ช่วงนี้เป็นช่วงที่เรากำลังอยู่ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมาก ภายใน ก.ล.ต.เอง เราเชื่อว่าภายใน 5 ปีข้างหน้า ไม่ใช่เฉพาะธุรกิจเท่านั้นที่เราจะเปลี่ยนแปลงไปแบบคาดไม่ถึง สิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงไปมาก คือ การใช้ชีวิตของคนเรา ซึ่งถ้าถามว่า การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดจากอะไร แน่นอนว่า เทคโนโลยีมาแล้ว เราจะได้เห็นเทคโนโลยีรูปแบบต่างๆ เข้ามาสู่ชีวิตประจำวันของเรา และเป็นตัวที่สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนได้สูงมาก จากโฆษณาบนรถไฟฟ้า”

            เว็บไซต์หนึ่งทำให้คนสามารถเลือกโรงแรม ร้านอาหารได้ในราคาที่ถูกและถูกใจตัวเอง ในโฆษณายังบอกด้วยว่า คนกว่า 10 ล้านคนที่สามารถเข้าถึงรายการนั้นๆ จึงเป็นคำถามว่า เมื่อไหร่ที่เทคโนโลยีนี้จะนำพาไปสู่การเปิดตลาดทุน....

            เพราะตลาดทุนบ้านเรานั้นมีขนาดใหญ่มาก มี Market Cap 110% ของ GDP มูลค่าซื้อขายบางวันวิ่งไปถึง 6-7 หมื่นบาท หรืออาจถึงแสนล้านบาทได้ แต่หากดูภาพจริงแล้วคนไทยเข้าถึงตลาดทุนน้อยมาก ถ้าดูแค่จำนวนคนจริงๆ ไม่ได้ดูแค่บัญชี คนที่ใช้งานตลาดทุนให้เป็นประโยชน์มีแค่ 3-4 ล้านคนเท่านั้นเอง ซึ่งถือว่าน้อยมากสำหรับประเทศที่มีประชาชนถึงกว่า 60 ล้านคน เราเชื่อว่าเทคโนโลยีจะเป็นอะไรที่สามารถช่วยเปิดศักราชของการลงทุนให้เข้าถึงประชาชนได้ และไม่ใช่มีความสำคัญแค่ตลาดทุนเท่านั้น แต่เป็นความสำคัญต่อประเทศของเรา

            หากประชาชนมีความรู้ในการบริหารการลงทุนของตัวเองได้ สร้างผลตอบแทนได้อย่างมีประสิทธิภาพก็จะทำให้ทุกคนเกิดอิสรภาพทางการเงิน ใช้ตลาดทุนสร้างความมั่งคั่งของประเทศ ไม่ต้องพึ่งพากราฟอื่นๆ สร้างคุณภาพชีวิตให้ประสบความสำเร็จได้ในบั้นปลาย นี่จึงถือเป็นโจทย์ที่สำคัญ...

            อีกด้านหนึ่งก็จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับตลาดของ ICO ซึ่งผมคิดว่า เราเพิ่งห่างจากจุดที่เราเรียกว่า การเห่อแบบบ้าระหํ่า เราผ่านจุดที่เรียกว่า ถ้าผ่านป้าย ICO คริปโตเคอร์เรนซีไป ก็จะมีคนเฮเข้าไปโดยที่ไม่ลืมหูลืมตา ซึ่งจุดนั้นเราได้ผ่านมันมาแล้วซึ่งก็เป็นไปตามกระบวนการการตลาดจะต้องมีการพัฒนา

            เราได้เห็นพัฒนาการทางด้านนี้ เห็นมุมมองของคนในแต่ละด้านจากการที่ยืนกันคนละจุด มีการแบ่งแยกชัดเจนยิ่งไปกว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา
เสียอีก ขณะที่บางรัฐมองว่า คริปโตฯเหล่านี้เป็นเรื่องที่น่าเกลียดน่ากลัว ไม่น่าสนับสนุน เป็นเรื่องที่เต็มไปด้วยการโกง

            อีกด้านหนึ่งคนที่มองแบบสุดโต่งว่า คริปโตฯจะเป็นอะไรที่เข้ามาโอเวอร์เทกตลาด Positional ทั้งหมด และในที่สุดตลาดนี้ก็ไม่สามารถจะอยู่ได้ ถือว่าทั้ง 2 มุมมองนี้หายไปค่อนข้างเยอะแล้วก็เข้ามาอยู่ตรงกลางมากขึ้น ในการที่ทั้ง 2 ข้างเดินเข้ามาหาตรงกลางมากขึ้นเป็นเพราะคิดเปลี่ยนความคิดรึเปล่า ก็อาจจะไม่เชิง อาจจะเห็นว่าจริงๆ แล้วเป็นวิวัฒนาการของตัวตลาดเอง ทั้งในด้านผู้เล่นและผู้ประกอบการ รวมไปถึงผู้ลงทุนในสิ่งพวกนี้ที่มองเห็นว่า การเก็งกำไรหรือการลงทุนแบบบ้าระหํ่าโดยที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจเป็นอะไรที่ไม่สามารถจะสร้างความยืดหยุ่นให้กับเราได้

            ตลาดพวกนี้เริ่มจากขนาดกลาง เด็กเข้าสู่วัยรุ่นและก็อาจจะก้าวกระโดดไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่ในเวลาเพียงแค่สั้นๆ เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วตลาดตรงนี้เป็นตลาดที่จะต้องเรียนรู้อีกเยอะมาก ทั้งในด้านผู้ประกอบการ ผู้ลงทุน แล้วก็คนที่มีส่วนร่วม แน่นอนที่สุด ผมคิดว่าสิ่งที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ก็คือ คนที่ทำหน้าที่ ติวเตอร์ เราเองก็ฝึกหัดเข้ามาให้จำกัดดูแลตลาดนี้ ก็จำเป็นมากที่จะต้องปรับปรุงค่อนข้างเยอะ

            การปรับตัวไม่ใช่เพียงแค่การสร้างความรู้ลึก ต้องมี Mindset ในเรื่องของมุมมอง ต้องเข้าใจว่าสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในตลาดมันจะนำความเปลี่ยนแปลงขอบเขตของผู้ร่วมอย่างไร ทั้งพฤติกรรมของผู้ลงทุน ผู้ประกอบการ คนที่เข้ามาเล่นใหม่ พวกนี้เป็นเรื่องในส่วนของ mindset ที่สำคัญมาก การที่เราต้องกำกับดูแลในสิ่งที่เป็น precision space เป็นเรื่องที่เราจะต้องคิดว่ามุ่งไปข้างหน้ามากน้อยแค่ไหน และเป็นเรื่องที่ Challenging มาก เพราะเป็นเรื่องใหม่ และเราเป็น ก.ล.ต. ประเทศแรกของโลกเสียด้วยซํ้า ที่ได้รับ

            บทบาทหน้าที่ให้เข้ากำกับดูแลในส่วนนี้ ประเทศที่พัฒนาแล้วก็ยังไม่กล้าทำ แต่การดำเนินการจะต้องมีทั้ง 2 ด้าน คือด้านกิจการกำกับ และสนับสนุน

            ความยากคือการต้องบาลานซ์ทั้ง 2 ด้าน รวมทั้งทำอย่างไร ที่จะต้องมีเครื่องมือต่างๆ ในการที่จะพัฒนาให้ตลาด success ได้ เรื่องการสร้าง education และการสร้าง awareness เป็นเรื่องที่สำคัญมากที่เราจะต้องมี insight และก็ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองให้เข้ากับสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลง

            ผมนำมาเสนอให้เห็นภาพการรับมือเงินดิจิตอลของผู้กำกับสั่งการที่จะมีผู้เล่นเป็นเศรษฐีในพริบตาและเป็นจนคนในเวลาอันสั้น

            ผมทราบว่า ในสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้ ก.ล.ต.จะประกาศผู้ที่ผ่านเกณฑ์คัดเลือกเป็นผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิตอล (ไอซีโอ พอร์ทัล) 1 ราย เพื่อทำหน้าที่คัดกรองโครงการการระดมทุนด้วยวิธีเสนอขายเหรียญดิจิตอล (ICO) ให้คนทั่วไป แว่วว่า ไอโคร่า ของ ดร.การดี เลียวไพโรจน์ คือรายนั้น

            ขณะที่ อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ก็กำลังพิจารณาเห็นชอบออกใบอนุญาตจัดตั้งเป็นศูนย์ซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซี (เอ็กซ์เชนจ์) อีก 4-5 ราย เห็นว่า “รับแลกเงินสีส้ม” ก็อยู่ในนี้

            ตลาดจตุคามรามเทพคริปโตเคอร์เรนซี ที่ปัจจุบันมีการซื้อขายกันวันละ 100-200 ล้านบาท จะปรอทแตกหรือเข็ดขยาดต้องติดตาม...

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ