
ยอดจ้างงานภาคผลิตฟื้นตัวคาดว่างงานปีนี้ไม่ถึง6แสน
ยอดจ้างงานฟื้นตัว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับตัวเลขว่างงานปีนี้ ลุ้นไม่ถึง 6 แสนคน รับยังไม่กระจายทั่วถึง ชี้ภาคการผลิตเพิ่มขึ้นติดต่อกัน 2 เดือน หลังการส่งออกดีขึ้น ถือเป็นสัญญาณบวก
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด รายงานว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ปรับประมาณการแนวโน้มอัตราการว่างงานของไทยในปี 2552 ลงมาอยู่ที่ 1.5-1.6% จากเดิมที่คาดว่าจะมีอัตราการว่างงานเฉลี่ยอยู่ในกรอบ 1.6-1.8% ซึ่งดีขึ้นกว่าอัตราการว่างงานเฉลี่ย 1.7% ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ แต่ยังสูงกว่า 1.4% ในปี 2551 โดยจำนวนผู้ว่างงานเฉลี่ยในปี 2552 คาดว่าน่าจะอยู่ในช่วง 5.9-6.2 แสนคน จากในปี 2551 ที่มีผู้ว่างงานอยู่ที่ 5.2 แสนคน
"มีสัญญาณบวกที่ชัดเจนขึ้น จึงมีความเป็นไปได้ว่าจำนวนผู้ว่างงานเฉลี่ยในปี 2552 อาจต่ำกว่า 6 แสนคน ซึ่งดีกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม" ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ พร้อมให้ความเห็นว่า ภาวะการจ้างงานที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นอาจยังไม่กระจายตัวอย่างทั่วถึงเต็มที่ แต่จ้างงานในภาคการผลิตที่เพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน ถือเป็นสัญญาณบวกที่ดี เนื่องจากผู้มีงานทำในภาคการผลิตมีน้ำหนักมากถึงเกือบ 1 ใน 4 ของผู้มีงานทำนอกภาคเกษตรทั้งหมด
ทั้งนี้ จากตัวเลขการจ้างงานรวมเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ผู้มีงานทำมีจำนวน 38.30 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากที่ขยายตัว 1.5% ในเดือนกรกฎาคม เป็นผลจากการจ้างงานในภาคเกษตรที่หดตัว และการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่เติบโตในอัตราที่ชะลอลง
แม้ตัวเลขการจ้างงานรวมในเดือนสิงหาคม 2552 จะเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอลงเมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม แต่ภาวะการจ้างงานในหลายอุตสาหกรรมมีทิศทางปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะการจ้างงานในภาคการผลิตที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจน สอดคล้องกับจำนวนชั่วโมงทำงานเฉลี่ยต่อสัปดาห์ของผู้มีงานทำที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ตัวเลขผู้ว่างงานยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยหดตัวลงเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน ถึงแม้อัตราการว่างงานในเดือนนี้จะทรงตัวอยู่ในระดับเดียวกับเดือนก่อนที่ 1.2% หลังจากที่ขยับลดลงต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนเมษายนก็ตาม
หากพิจารณาปัจจัยที่มีผลต่อการจ้างงานในเดือนถัดๆ ไป พบว่ามีสภาวะที่ดีขึ้น ทั้งจากแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งขึ้น และการส่งออกของไทยก็ปรับตัวดีขึ้นอย่างมาก รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยบวกต่อภาวะการผลิตและการจ้างงานให้ทยอยฟื้นตัวในวงกว้างไปในอุตสาหกรรมต่างๆ มากขึ้น ประกอบกับจำนวนผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคมก็ลดลงต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม สอดคล้องกับอัตราการว่างงานที่ลดลงมาจาก 1.4% ในเดือนมิถุนายน มาอยู่ที่ 1.2% ในเดือนกรกฎาคมและเดือนสิงหาคม