
ชาวเน็ตจวก! หนุ่มจับปลาโรนิน นำชิ้นส่วนทำเครื่องประดับ
สังคมออนไลน์ ไม่พอใจหนุ่มที่คาดว่า เป็นทหารเรือ โพสต์ภาพโชว์จับปลาโรนิน ซึ่งเป็นหนึ่งในสัตวน้ำ 12 ชนิด ถูกขึ้นบัญชีเป็นสัตว์คุ้มครอง
เฟซบุ๊กเพจ อยากดังเดี๋ยวจัดให้ return เผยภาพของชายหนุ่มคนหนึ่ง กำลังโพสต์เฟซบุ๊กโชว์ภาพจับปลาโรนิน หรือปลากระเบนท้องน้ำ ได้ 1 ตัว พร้อมระบุข้อความว่า “ได้มาตัวนึง ไม่กล้าไปแจ้ง ทำพรื้อดีนิ” พร้อมพูดคุยกับเพื่อนในโพสต์ว่า จะแบ่งชิ้นส่วนต่างๆ ของปลาทำเครื่องประดับ นอกจากนี้ เพจที่นำมาภาพมาแฉ ยังระบุอีกว่า ชายหนุ่มคนนี้ น่าจะเป็นทหารเรืออีกด้วย ส่งผลให้ชาวเน็ตต่างเข้ามาตำหนิการกระทำของชายคนนี้ พร้อมเรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจ
นอกจากนี้ในคอมเม้นท์ยังได้มีการพูดคุยกับเพื่อนฝูง ว่าจะมีการแบ่งชิ้นส่วนต่างๆของปลาไปทำเครื่องประดับ ทำให้เรื่องราวดังกล่าวกลายเป็นที่วิจารณ์ไปทั่วสังคมออนไลน์ จนชาวเน็ตต่างเข้าไปคอมเม้นท์ต่อว่า รวมทั้งได้มีการสืบประวัติ คาดว่าหนุ่มเจ้าของโพสต์ดังกล่าวนั้นเป็นทหารเรือ
สำหรับปลาโรนิน ถือเป็นสัตว์น้ำ 12 ชนิด ที่ถูกขึ้นบัญชีเป็นสัตว์คุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2535 ในลำดับที่ 15-26 ที่ประกอบด้วย ปลากระเบนปีศาจครีบโค้ง, ปลากระเบนปีศาจครีบสั้น, ปลากระเบนปีศาจแคระ, ปลากระเบนปีศาจหางหนาม, ปลากระเบนแมนต้าแนวปะการัง, ปลากระเบนแมนต้ายักษ์, ปลากระเบนราหูน้ำจืด หรือปลากระเบนเจ้าพระยา, ปลาโรนิน หรือปลากระเบนท้องน้ำ, ปลาฉนากเขียว, ปลาฉนากปากแหลม, ปลาฉนากฟันเล็ก, และปลาฉนากยักษ์ โดยประกาศดังกล่าว ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา
ขณะที่ผู้ครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองชั่วคราว ซากสัตว์คุ้มครอง หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากสัตว์คุ้มครอง เช่น แหวนหัวปลาโรนิน ให้นำรูปภาพ หรือของจริง ยื่นขอครอบครอง ระหว่างวันที่ 1 กันยายน ถึงวันที่ 29 พฤศจิกายน ไม่เช่นอาจถูกปรับเงิน 4 หมื่นบาท
ด้านเว็บไซต์กรมประมงให้ข้อมูลว่า ปลาโรนิน มีลักษณะหัวใหญ่ รูปทรงแบนกลมโค้งมน ปากกลม ครีบอกแผ่กว้าง ครีบหลังตั้งสูง 2 ตอน ขนาดโตเต็มวัยมีความยาวได้ถึง 3 เมตร หนักได้ถึง 135 กิโลกรัม พบอาศัยอยู่ตามทะเลที่เป็นดินทรายปนโคลน และแนวปะการังใกล้ชายฝั่ง ปัจจุบันเป็นปลาที่พบเห็นได้ยาก และมีสถานภาพเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในระดับโลก