ข่าว

"นวัตกรรมยางพาราไทย"ตอกย้ำจ.สงขลา"รับเบอร์ซิตี้"

"นวัตกรรมยางพาราไทย"ตอกย้ำจ.สงขลา"รับเบอร์ซิตี้"

12 ก.ย. 2561

จังหวัดสงขลาบูรณาการทุกภาคส่วนจัด"นวัตกรรมยางพาราไทย"ครั้งที่1ชูคอนเซ็ปท์"Rubber is Life ยางคือชีวิต"โชว์นิทรรศการห่วงโซ่ธุรกิจ-นวัตกรรม4.0ตอกย้ำรับเบอร์ซ์ซิตี้

 ข่าว-ภาพ...  สมชาย  สามารถ 


          12 กันยายน 2561 นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เปิดเผย ผู้สื่อข่าวว่า จังหวัดสงขลาเป็นเมืองแห่งยางพารา ที่เกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกยางพาราเป็นรายได้หลัก การจัดงานในครั้งนี้เป็นความร่วมมือจากหลายภาคส่วนและถือเป็นครั้งแรกที่ได้รวบรวมนวัตกรรมยางพาราจากแต่ละมหาวิทยาลัยนำมาจัดนิทรรศการ เพื่อให้เกษตรกรเห็นถึงการแปรรูปยางพารามาใช้ให้เกิดคุณค่ามากที่สุด
               

          โดยงาน “นวัตกรรมยางพาราไทย” Thailand Rubber Innovation Expo 2018 ครั้งที่ 1 จัดภายใต้แนวคิด “Rubber is Life ยางคือชีวิต” ระหว่างวันที่ 14-16 กันยายน 2561 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติ ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาขึ้น เพื่อสร้างโอกาสทางด้านการตลาดให้ผู้ประกอบการ เป็นการส่งเสริมสนับสนุน และเปิดช่องทางด้านการตลาดของยางพาราในจังหวัดสงขลา สามารถเชื่อมโยงตลาดกลางยางพาราทั้งใน และต่างประเทศ

 

\"นวัตกรรมยางพาราไทย\"ตอกย้ำจ.สงขลา\"รับเบอร์ซิตี้\"


               
          ทั้งยังเป็นการยกระดับให้มีการผลิต แปรรูปยางพาราให้ได้มาตรฐาน เป็นที่ยอบรับ สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยนำผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากยางพารา เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรอุตสาหกรรมยางพารา รณรงค์ให้ทุกภาคส่วนใช้ประโยชน์ภายในและต่างประเทศ ให้ส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐ เอกชน สถาบันเกษตร SME ร่วมมือบูรณาการขับเคลื่อนนวัตกรรมยางพาราเพื่อเพิมมูลค่าแบบครบวงจร
                
          จังหวัดสงขลา จึงได้บูรณาการภาครัฐและเอกชน ให้มีการพัฒนางานวิจัยด้านนวัตกรรมยางพารา สามารถพัฒนาต่อยอดนำสู่การใช้ประโยชน์ จึงต้องการนำเสนองานวิจัย ผลิตภัณฑ์แปรรูปยางพาราจากหน่วยงานการศึกษา ทั้งนักวิชาการ นักศึกษา หรือหน่วยงานภาคเอกชนรวมทั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาและทั่วภาคใต้ ซึ่งมีนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จอาทิ ถนนยางพารา หรืออุตสาหกรรมจากโครงการรับเบอร์ซิตี้ หรือผลงานวิจัยทางด้านนวัตกรรมจากนักวิชาการมากมาย เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เกษตรกร และสามารถนำไปขยายผลต่อในสวนยางพารา

\"นวัตกรรมยางพาราไทย\"ตอกย้ำจ.สงขลา\"รับเบอร์ซิตี้\"

 

          นายขจรศักดิ์ กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินทางมาเป็นประธานเปิดงานในวันที่ 14 กันยายน พร้อมบรรยายพิเศษเรื่อง "นโยบายรัฐกับยางพาราแบบยั่งยืน" ขณะเดียวกันยังมีวิทยาการผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องกับยางพาราตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทางมาร่วมให้ความรู้ทั้งในรูแบบการเสวนาและบรรยายมากมาย
              
          นอกจากนั้น ในงานยังมีนิทรรศการจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะจากนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้(ฉลุง) รับเบอร์ซิตี้ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง การออกร้านโชว์และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางพาราราคาพิเศษ โปรโมชั่นจากสถาบันการเงิน และการเจรจาธุรกิจ ที่จะทำให้เห็นความร่วมมือในการส่งเสริมการผลิตและการตลาดยางพาราที่นำไปสู่ความยั่งยืนต่อไป
             
          "อยากจะเชิญชวนพี่น้องชาวสวนยาง เครือข่ายสหกรณ์ชาวสวนยาง นักวิชาการ นักวิจัย ข้าราชการ ภาคธุรกิจ และผู้เกี่ยวข้องกับยางพาราทุกภาคส่วน โดยเฉ6พาะอย่างยิ่งนักเรียน นักศึกษา เข้ามาชมงานครั้งนี้เพื่อเปิดโลกทัศน์ และมองหาโอกาสร่วมกันในการต่อยอดวงจรชาวสวนยางพาราอย่างยั่งยืน เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ และการลงทุนเกี่ยวกับยางพาราอย่างวครบวงจรด้วยนวัตกรรม 4.0" นายขจรศักดิ์ กล่าว
            
          ผศ.คำรณ พิทักษ์ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) กล่าวว่า การจัดงานมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีการนำเสนอ 30 งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมยางพารา รวมทั้ง 10 นวัตกรรมเด่นจากยางพารา เช่น เทคโนโลยีวัสดุปูเคลือบสระน้ำจากยางธรรมชาติ, ถนนยางพารา, แผ่นปูพื้นยางพารา, ยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก, หุ่นตังกวน สำหรับช่วยชีวิตCPR, ชุดอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายจากทวารเทียม

 

\"นวัตกรรมยางพาราไทย\"ตอกย้ำจ.สงขลา\"รับเบอร์ซิตี้\"


              
          "เราเปิดบูธการนำเสนองานวิจัยจากนักวิชาการ ม.อ. และการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจ รวมทั้งการสาธิตวิธีการทำถุงมือผ้าเคลือบยางพารา" ผศ.คำรณ กล่าว

          ผศ.ทวีศักดิ์ นิยมบัณฑิต คณบดีคณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) กล่าวว่า เกษตรกรชาวสวนยางต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ เพราะการทำสวนยางพาราสมัยใหม่ต้องอาศัยการจัดการเวลาในสวนยาง การบริหารจัดการเงิน หากยังทำสวนยางพาราเชิงเดี่ยวไม่ใช่คำตอบอีกต่อไป ชาวสวนยางพาราต้องเปลี่ยนพฤติกรรม โดยภายในงานจะมีการเสวนาเรื่อง "ต้นแบบการสร้างรายได้ของชาวสวนยาง" พูดคุยกับชาวสวนยางพาราที่นำโมเดลนี้มาใช้จนประสบความสำเร็จ
             
          รวมถึง การเสวนาเรื่อง “ต้นแบบการสร้างรายได้ของชาวสวนยาง”, “พลิกฟื้นยางพาราด้วย SMEs  และ Start up” และเรื่อง “สหกรณ์ชาวสวนยางกับการขับเคลื่อนเกษตร  อุตสาหกรรมยางพารา”, การบรรยายเรื่อง “รู้เท่าทันตลาดยางพารา” และเรื่อง “นวัตกรรมยางพารา : ความท้าทายใหม่” พร้อมกิจกรรมประกวด  Idea  Challenge  on  Rubber  Innovation, กิจกรรมนำเสนอสุดยอดนวัตกรรม, กิจกรรมสาธิต แปรรูปยางพารา และนิทรรศการต้นทาง กลางทาง และปลายทาง
          
          นายมนุชาธิป วรกาญจนานนท์ นักวิชาการสหกรณ์ชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทนสหกรณ์จังหวัดสงขลา กล่าวว่า ไฮไลท์ของการจัดงานครั้งนี้คือ นิทรรศการมีชีวิต ที่แสดงให้เห็นภาพว่ายางพาราเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตคนใต้ยังไง และ โชว์นวัตกรรมยางพาราทั้งต้นทาง กลางทาง และปลายทาง เพื่อต่อยอดสู่นวัตกรรม 4.0 เป็นการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ และสามารถนำไปจำหน่ายสู่ท้องตลาด โดยไม่ละทิ้งนิทรรศการที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตชาวสวนยางพาราตั้งแต่ดั้งเดิม
             
          นายประดิษฐ์ ร่มสุข หัวหน้ากองส่งเสริมและพัฒนายาง การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) สาขาหาดใหญ่ กล่าวถึงนิทรรศการต้นทางว่า เมื่อราคายางพาราตกต่ำ ชาวสวนยางพาราต้องเปลี่ยนแปลง โดยปรับปรุงให้เป็นสวนยางพารายุคใหม่ คือ หากยางพารามีอายุ 1-3 ปี ควรปลูกพืชแซมยางฯ ซึ่งเป็นอายุสั้น สามารถนำมาบริโภคได้ และ สร้างรายได้ หรือ หากยางพารามีอายุ 3 ปี ขึ้นไป ควรปลูกพืชร่วมยาง เช่น      ผักเหรียง, ผักกูด รวมทั้งภายในสวนยางพารา สามารถเลี้ยงสัตว์ได้
           
          “ในงานเราจะจัดกระท่อมเล็กๆ เพื่อแสดงให้เห็นถึงภาพวิถีชีวิตของการทำสวนยางยุคใหม่ มีเจ้าหน้าที่คอยอธิบายถึงวิธีการทำสวนคอยให้คำแนะนำแก่ผู้สนใจด้วย สิ่งที่จะทำให้ชาวสวนยางพาราหลุดพ้นจากราคายางพาราที่ตกต่ำ คือการปลูกพืชเชิงซ้อน ไม่ควรหวังรายได้จากยางพาราอย่างเดียว” นายประดิษฐ์ กล่าว
                
          นางปรีดิ์เปรม ทัศนกุล ผู้อำนวยการ ศูนย์บริการทดสอบรับรองภาคใต้ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า โซนนิทรรศการกลางทาง จะให้ความรู้การแปรรูปยางดิบมาตรฐาน GAP อาทิ การรวบรวมน้ำยางสด การผลิตยางก้อนถ้วยมาตรฐาน รวมทั้งมีหน่วยประชาสัมพันธ์ที่ให้ความรู้ด้านการแปรรูปยางกลางทางชนิดต่างๆ พร้อมทั้งแจกแผ่นพับการแปรรูปยางดิบ ให้เข้าใจการทำยางที่ได้มาตรฐาน เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจแก่เกษตรกร สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบกิจการยาง
                 
          "ประโยชน์ที่ได้รับการจัดนิทรรศการยางกลางทาง ท้าให้เกษตรกรเข้าใจหลักการจัดการน้ำยางสดให้มีคุณภาพดีตามมาตรฐาน GAP ก่อนน้าส่งเข้าโรงงานแปรรูปยางดิบชนิดต่าง ๆ เช่น ยางดิบ ยางแผ่นรมควัน ยางอัดก้อน ยางแท่ง น้ำยางข้น ตามมาตรฐาน GMP ที่สามารถผลิตยางที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ลดต้นทุนการผลิต ลดมลภาวะ ลดของเสียทั้งการน้ายางไปผลิตผลิตภัณฑ์ที่สร้างความพึงพอใจให้กับผู้ใช้ยางทั่วโลก" นางปรีดิ์เปรม กล่าว
                 
          ด้าน นายฐนยศพรรณ์ เมฆตรง ประธานบริษัท โกรรับเบอร์ลาเท็กซ์ จำกัด และกรรมการบริหาร บริษัท เซี่ยงไฮ้-ไทย รับเบอร์ โปรดักส์ จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนจากกลุ่มสหกรณ์ชาวสวนยาง กล่าวถึงการจัดนิทรรศการโซนปลายทางว่า สิ่งที่เกษตรกรได้รับคือ ได้เห็นนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ใช้ในการผลิตจริงๆ เช่น เครื่องผลิตหมอนยางพารา , เครื่องขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา มาจัดแสดง ผู้ที่มาชมงานจะทราบว่าหากอยากต่อยอดเป็นผู้ประกอบการต้องทำยังไง อาจเริ่มจากทุนน้อยๆ เพราะภายในงานมีการให้คำปรึกษาจากนักวิชาการ 

          “ที่สำคัญคือ เรามีนักวิจัยจาก ม.อ. ซึ่งมาออกบูธแสดงผลงานวิจัย เพื่อร่วมสนับสนุนผลิตภัณฑ์จากยางพาราเช่นเดียวกัน”
             
          นายฐนยศพรรณ์  กล่าวและว่า  ผู้ที่มาชมงานได้เห็นทุกขั้นตอนของการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา จากยางแผ่นกลายเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่ายยังไง ส่วนเกษตรกรจะได้ไอเดียสำหรับการต่อยอดทำสวนยางพาราสอดรับกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อความยั่งยืน