
"ยากูซ่า" มาเฟีย "ยึดโลก"
ภาพมาเฟียญี่ปุ่น ร่างกายกำยำเต็มไปด้วยรอยสัก กำลังรุมทำร้ายเหยื่อ ทำลายข้าวของกระจัดกระจายเพื่อเรียกค่าคุ้มครอง หรือจับตัวเด็กลูกนักธุรกิจ มหาเศรษฐี ไปเรียกค่าไถ่ เป็นภาพที่ติดตาจากภาพยนตร์ญี่ปุ่น
นั่นอาจเป็นแค่การแสดง แต่ในโลกความเป็นจริงกลับโหดเหี้ยมและดุดันยิ่งกว่า แก๊งอาชญากรหมายเลขหนึ่งในประเทศญี่ปุ่น ไม่มีใครยิ่งใหญ่เท่า "ยากูซ่า" คนเหล่านี้เป็นใครมาจากไหน เมื่อผลประโยชน์ในประเทศไม่อาจรองรับการขยายตัวของกลุ่มแก๊งได้ เครือข่ายเหล่านี้จึงแพร่ขยายเชื่อมโยงกับมาเฟียต่างชาติ และประเทศไทยก็ไม่พ้นเช่นกัน
“ยากูซ่า” หรือคนญี่ปุ่นรู้จักกันในชื่อว่า “โกะคุโด” เป็นสมาชิกของกลุ่มอาชญากรรมที่กำเนิดขึ้นตั้งแต่สมัยโบราณในประเทศญี่ปุ่น ระยะหลังยากูซ่าขยายอิทธิพลกลายเป็นกลุ่มอาชญากรรมใหญ่ที่สุดในโลกก็ว่าได้
พ.ต.อ.บัณฑิต ตุงคะเศรณี ผกก.1 ศสส.สตม. ให้ข้อมูลเกี่ยวกับแก๊งยากูซ่าที่ขยายอิทธิพลไปทั่วโลกและในประเทศไทยว่า แต่ก่อนมาเฟียกลุ่มนี้เข้ามาเคลื่อนไหวในประเทศไทยจริง ทว่าการเคลื่อนไหวไม่ได้รุนแรงเหมือนกับประเทศอื่นๆ ที่ไปตั้งกลุ่มเพื่อก่อเหตุอาชญากรรมโดยเฉพาะ พวกนี้ก่อคดีเกือบทุกประเภททั้งเรียกค่าไถ่ ทวงหนี้ เรียกค่าคุ้มครอง ตรงข้ามกับที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในบ้านเราเพื่อประกอบธุรกิจหรือทำมาค้าขาย
“จากข้อมูลที่เราติดตามทราบว่ากลุ่มคนเหล่านี้เดินทางเข้ามาทำธุรกิจในเมืองไทยเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะท้องที่บางรัก ซึ่งส่วนใหญ่จะทำธุรกิจผับบาร์เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นเองเป็นส่วนใหญ่ ที่ผ่านมาก็ไม่ได้ก่อเหตุอะไรรุนแรงเหมือนกับที่มีข่าวในต่างประเทศ” พ.ต.อ.บัณฑิตให้ข้อมูล
ความเคลื่อนไหวของกลุ่มอาชญากรแดนซามูไร ในประเทศไทยกลับแตกต่างกับในชาติอื่นๆ ส่วนใหญ่อาจเป็นเพราะวัฒนธรรมความเป็นอยู่ในบ้านเราไม่มีพื้นฐานความรุนแรง "ยากูซ่า" ส่วนใหญ่ที่เข้ามาอยู่จึงหลงใหลพบรักกับสาวไทย โดย 90% พบรักกับสาวชาวไทยที่เคยไปทำงานประเทศญี่ปุ่น เมื่อหญิงสาวเหล่านี้กลับมาบ้านเกิดจึงชักชวนมาหากินในประเทศเปิดธุรกิจถูกกฎหมายเลี้ยงชีพ
“ไม่ต้องแปลกใจที่เขาอยู่ได้เพราะรายได้จากผับ บาร์ ที่ชาวญี่ปุ่นเข้ามาเที่ยวมากพอ ปีหนึ่งๆ มีชาวญี่ปุ่นเดินทางมาเที่ยวในประเทศไทยเยอะ คนที่มาเที่ยวส่วนใหญ่ไม่มากับทัวร์ก็มาเที่ยวจากคำบอกเล่าบอกต่อๆ ของเพื่อนว่าต้องมาเที่ยวที่ไหน เหมือนกันคนเหล่านี้เขารู้ว่าคนญี่ปุ่นมีที่อยู่ตรงไหนเขาก็จะไปรวมกันตรงนั้น ภาพการรวมกลุ่มจึงเกิดขึ้น แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าพวกนี้จะไปก่อเหตุการณ์รุนแรงอะไรกับคนไทย จากสถิติที่ผ่านมามีเพียงการเข้ามาล้างแค้นคนของเขาเอง แต่ก็ไม่ได้มาทำความเดือดร้อนในเมืองไทย” พ.ต.อ.บัณฑิตเล่าถึงปฐมบท "ยากูซ่า" ในประเทศไทย
ถึงแม้มาเฟียกลุ่มนี้จะไม่เข้ามาสร้างความเดือดร้อนให้แก่คนไทย แต่ศูนย์สืบสวนฯ ของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ยังคงเฝ้าจับตาแบบไม่ปล่อย หากเกิดเหตุการณ์ผิดปกติก็จะสามารถปฏิบัติการป้องกันเหตุทางยุทธวิธีได้ทัน เช่นเดียวกันกับกลุ่มแก๊งต่างชาติอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่เข้ามาก่อเหตุลักษณะมิจฉาชีพทั่วไป เช่น ปลอมบัตรเครดิต หลอกให้เสียทรัพย์ โดยที่ไม่ได้ก่ออาชญากรรมรุนแรงต่อร่างกาย
"ยากูซ่า" ในประเทศญี่ปุ่น มีสมาชิกอยู่ราว 80,000-110,000 คน ในช่วงปี พ.ศ.2539 แบ่งได้ 2 ประเภทคือ 1.ยากูซ่าที่มีการปกครองแบบครอบครัว แบ่งอันดับชั้นตามผลงานหรือจากการแต่งตั้งของหัวหน้าใหญ่ การเข้าร่วมเป็นสมาชิกใหม่จะมีการดื่มสาเกสาบานจากแก้วเดียวกันด้วย 2.ยากูซ่าไร้สังกัด จะไม่ขึ้นอยู่กับกลุ่มใด หรืออาจจะมีการรวมกลุ่มเล็กๆ เท่านั้นโดยไม่มีการปกครองหลายชั้นเหมือนอย่างแรก แต่จะเป็นผู้มีอิทธิพลที่คอยเก็บค่าคุ้มครอง
ทั้งนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นเรียกพวกยากูซ่า ด้วยศัพท์ทางกฎหมายว่า Boryo-kudan หรือ violence groups ซึ่งคำดังกล่าวเป็นการหลู่เกียรติหยามศักดิ์ศรีรุนแรง เพราะความหมายของ Boryo-kudan คือมิจฉาชีพที่อาศัยความรุนแรงก่อเหตุธรรมดาๆ สวนกับความคิดของคนเหล่านี้ที่ว่าพวกเขาคือองค์กรอาชญากรรมที่มีรากฐานมายาวนาน
ย้อนหลังไปนับร้อยปี สมัยเอโดะ (พ.ศ.2146-2410) ยุครุ่งเรืองของโชกุน ที่บริหารบ้านเมือง รักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม บรรดาขุนนางซึ่งเป็นดูแลเมืองต่างๆ มักเลี้ยงดูข้าทาสบริวารไว้ใช้งาน โดยเฉพาะซามูไรที่อยู่ใต้สังกัด และเรียกใช้ยามศึกสงคราม จนกลายเป็นโครงสร้างกลุ่มยากูซ่าที่ต้องดูแลผลประโยชน์และความเป็นอยู่ของบริวารในสังกัดของตนเอง
จาการศึกษาของนักวิชาการชาวญี่ปุ่นพบว่า กลุ่มซามูไรไร้สังกัดที่รับใช้โชกุน ส่วนใหญ่เป็นโรนิน มักจะทำทรงผมและแต่งตัวแปลกตา มีกิริยารุนแรง พูดสำเนียงภาษาเถื่อนหยาบ และมีคำสแลงเฉพาะ มักจะถือดาบยาว อ้างตัวเป็นผู้รับใช้ "โชกุน" เรียกร้องค่าคุ้มครองชาวบ้าน ประกาศตัวเป็นผู้พิทักษ์ รักษาระเบียบ และป้องกันชุมชนจากผู้คุกคามภายนอก เชื่อว่าตนคือ วีรบุรุษที่ยืนหยัดอยู่ข้างคนยากจน และต่อสู้กับโจรผู้ร้ายเพื่อปกป้องชุมชน
พัฒนาการของ "ยากูซ่า" ในยุคต่อมา กลายเป็นการห้ำหั่นเพื่อแย่งดินแดน อำนาจ และเงินตรา
จนสงครามโลกครั้งที่ 2 ยากูซ่ารับอิทธิพลวัฒนธรรมจากต่างแดนมากขึ้น โดยเฉพาะมาเฟียเบอร์หนึ่งของยุโรปอย่าง "อัล คาโปน" ไม่ว่าการแต่งกาย ยานพาหนะที่เป็นรถยนต์สีดำคันใหญ่ บางส่วนเข้าเป็นกลไกใต้ดินให้ หน่วยข่าวกรองระดับโลกเช่น ซีไอเอ หรือกลุ่มการเมืองอนุรักษนิยม ต่อต้านคอมมิวนิสต์ และรับงานกำจัดปฏิปักษ์ทางการเมือง ครอบคลุมทั้งฟอกเงิน ปั่นหุ้น ปล่อยเงินกู้ ค้ามนุษย์ ยาเสพติด รีดไถ และฮั้วประมูล
อิทธิพล "ยากูซ่า" ปัจจุบันแพร่ออกไปสร้างอาณาจักรภายนอกญี่ปุ่นทั้งในทวีปอเมริกา ยุโรป และเอเชีย ว่ากันว่าไม่มีเมืองหลวงขนาดใหญ่แห่งใดในโลกนี้ที่ไม่มีเครือข่ายแก๊ง "ยากูซ่า" แอบแฝงอยู่!!
"คว้านท้อง" ถึง "ตัดนิ้ว"
คำว่า “ยากูซ่า” เดิมทีมาจากการเล่นไพ่ของญี่ปุ่น "โออิโช-คาบุ" คล้ายคลึงกับไพ่บาคารา ค่าของไพ่จะถูกบวกเข้าด้วยกัน และตัวเลขสุดท้ายของผลรวมจะถูกนับเป็นคะแนน ไพ่ที่ถือในมือที่แย่ที่สุดในเกมคือ ชุดของเลข แปด, เก้า และ สาม ซึ่งรวมกันเท่ากับ 20 และคะแนนที่ได้เท่ากับศูนย์นั่นเอง ซึ่งยากูซ่าเลือกใช้ชื่อนี้เพราะว่า คนที่ถือไพ่ ยา (8) - กู (9) - ซ่า (3) ต้องใช้ทักษะมากที่สุด และเป็นผู้ที่มีโชคน้อยที่สุด ดังนั้นผู้ที่ชำนาญเท่านั้นจึงจะแก้เกมเพื่อเอาชนะได้
สำหรับรอยสักของ "ยากูซ่า" ที่สมาชิกสักวงแหวนสีดำรอบ ๆ แขนเพื่อแสดงถึงอาชญากรรมแต่ละครั้งที่ได้ลงมือ สุดท้ายได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของความเข้มแข็ง บางครั้งอาจใช้เวลามากกว่า 100 ชั่วโมง ในการสักให้เต็มแผ่นหลัง
นอกจากนี้ยากูซ่ายังมีบทลงโทษอันโหดเหี้ยมและเป็นที่กล่าวขวัญกันทั่วโลกคือ การคว้านท้องหรือที่เรียกว่า "ฮาราคีรี" ผู้กระทำความผิดหรือทำงานผิดพลาดอย่างร้ายแรงต้องแสดงความสำนึกต่อองค์กรด้วยการใช้มีดคว้านท้องตัวเองเช่นเดียวกับซามูไร ในอดีต ส่วน"การตัดนิ้ว " เป้นโทษระดับรองๆ ลงมาเพื่อสำนึกและความผิดพลาดเช่นกัน
สุดท้ายคือพิธีดื่มเหล้าสาเกร่วมกัน เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่ความผูกพันระหว่างสมาชิกของยากูซ่าด้วยกันเอง