
อาเซียนต้องช่วยซับน้ำตาพี่น้องชาวลาว
ອາຊຽນຕ້ອງຊ່ວຍເຫລືອນໍ້າຕາຂອງອ້າຍນ້ອງລາວ. โดย ... ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย (Xepien-Xenamnoyu) ซึ่งยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จและมีบางส่วนของคันกันน้ำพังจากน้ำป่าหลากและน้ำท่วมหนังรวมทั้งดินสไลด์จนมีผู้คนจำนวนมากเสียชีวิตและบ้านเรือนจำนวนมากถูกน้ำท่วมเสียหายที่จังหวัดอัตตาปือ (Attapeu) อาจจะเป็นพื้นที่ประสบภัยที่เรารับทราบกันดีแล้วถึงภัยพิบัติและคราวเคราะห์ครั้งใหญ่ของพี่น้องชาว สปป. ลาว เพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดที่สุดของไทยในทุกมิติ แต่แท้จริงแล้ว อัตตาปือไม่ใช่พื้นที่ประสบภัยแห่งเดียวเท่านั้น
จากรายงานของประเทศลาวต่อ Disaster Monitoring ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ ASEAN Coordinating Centre for Humanitarian Assistance on disaster management (AHA Centre) ซึ่งถูกจัดตั้งขึ้นโดยประชาคมอาเซียนเพื่อบรรเทาภัยพิบัติร่วมกันภายในประชาคมอาเซียน พบว่า ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา 10 จังหวัดของ สปป. ลาว ได้กลายเป็นพื้นที่ประสบภัยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นจังหวัด อัตตาปือ (Attapeu) , สะหวันนะเขต (Savanhnakhet) , คำม่วน (Khammouan) , ไชยบุรี (Xayabuly) , บอลิคำไซย (Bolikhamsay) , หลวงพระบาง (Luang Prabang) , บ่อแก้ว (Bokeo) , เซกอง (Sekong) , เชียงขวาง (Xiengkhouang) และ อุดมไชย Oudomxay) ซึ่งกินพื้นที่ครอบคลุม 349 หมู่บ้าน ใน 42 เขต ต่างก็กำลังประสบภัยน้ำท่วมกันทั้งหมด คำถามคือ แล้วอาเซียนมีกลไกในการให้ความช่วยเหลือพี่น้องของเรา
อาเซียนมีคลังสินค้าช่วยเหลือผู้ประสบภัย เจ้าหน้าที่กู้ภัยและศูนย์ให้ความช่วยเหลือเมื่อเพื่อนบ้านอาเซียนของเราอยู่ในภาวะวิกฤต ซึ่งอาเซียนเรียกความร่วมมือและหน่วยงานนี้ว่า ระบบโลจิสติกส์เพื่อรับมือเหตุการณ์ภัยพิบัติฉุกเฉินสำหรับภูมิภาคอาเซียน (Disaster Emergency Logistics for ASEAN: DELSA) ซึ่ง Regional Warehouse ซึ่งเป็นคลังเก็บสินค้าและอุปกรณ์ช่วยเหลือหลักจะตั้งอยู่ที่จังหวัด Subang ในประเทศมาเลเซีย โดยเป็นศูนย์ที่ทางอาเซียนก่อตั้งขึ้นโดยได้รับความช่วยเหลือด้านเงินทุน และองค์ความรู้จากหนึ่งในประเทศที่มีประสบการณ์และมีประสิทธิภาพที่สุดในการรับมือกับภัยพิบัตินั่นคือ ญี่ปุ่น ผ่านความร่วมมือที่เรียกว่า Japan-ASEAN Cooperation
ในคลังสินค้าแห่งนี้จะมีอุปกรณ์ในการให้ความช่วยเหลืออย่างพรั่งพร้อมไม่ว่าจะเป็น เต็นท์ที่มีขนาดใหญ่และมีน้ำหนักเบา เตียงสนาม อุปกรณ์สนามสำหรับให้ความช่วยเหลือต่างๆ อุปกรณ์ด้านสุขอนามัยต่างๆ ยารักษาโรค เครื่องครัว อุปกรณ์สำคัญในการยังชีพ เครื่องปั่นไฟ เรือท้องแบบอลูมิเนียมน้ำหนักเบา ไฟส่องแสงสว่าง และที่สำคัญคือ ห้องน้ำเคลื่อนที่ และอุปกรณ์อื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก และที่สำคัญกว่าสิ่งของ และอุปกรณ์ คือมีโครงการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่กู้ภัยให้พร้อมกับสถานการณ์ภัยพิบัติต่างๆ ในภูมิภาค
นอกจากที่ Subang มาเลเซียแล้ว DELSA ยังมีคลังสินค้าย่อยอีกด้วย โดยคลังสินค้าย่อยขนาด 1,250 ตารางเมตรตั้งอยู่ที่จังหวัดชัยนาท ประเทศไทย โดยมีขอบเขตการใช้งานของคลังเก็บครอบคลุมพื้นที่ 5 ประเทศคือ ไทย เมียนมา กัมพูชา เวียดนาม และ สปป. ลาว ครับ และโครงการนี้เปิดตัวอย่างเป็นทางการไปแล้วในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว โดยหน่วยงานนี้อยู่ในความรับผิดชอบของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย
นอกจากอุปกรณ์ต่างๆ ที่อยู่ในไทย ที่พร้อมและมีหน้าที่ในการให้ความช่วยเหลือเพื่อนบ้านแล้ว ประเทศไทยยังเป็นที่ต้องของ ศูนย์แพทย์ทหารอาเซียน (ASEAN Centre of Military Medicine: ACMM) อีกด้วย นั่นหมายความเรามีความพร้อมในเรื่องบุคลากรทางการแพทย์ที่พร้อมสำหรับปฏิบัติภารกิจในภาคสนาม โดยหน่วยงานนี้อยู่ในความรับผิดชอบของ กรมการแพทย์ทหารบก กระทรวงกลาโหม ซึ่งนาทีนี้ทีมแพทย์ทหารอาเซียนจากประเทศไทยมีความพร้อมและเดินทางไปช้วยสถานการณ์ใน สปป. ลาว แล้ว
คำถามสำคัญคือ มีของแล้ว มีคนเก่งๆ แล้ว แล้วเราในฐานะประเทศไทยและประชาคมอาเซียน นำเอาของ นำเอาคน และนำเอาความร่วมมือเหล่านี้ไปช่วยพี่น้องของเราใน สปป. ลาว อย่างเต็มที่แล้วหรือยัง