
ใช้วิธีโบราณ "คำนวนแผนที่-เข็มทิศ" ค้นหาพิกัดหมูป่า
เชียงราย - นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ เผยใช้วิธีโบราณหาพิกัดจุดทีมหมูป่า โดยคำนวนจากแผนที่-ใช้เข็มทิศ ระบุเข้าช่วงท้ายถ้ำจะใกล้จุดเป้าหมาย
6 ก.ค. 61 - ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า วันนี้เราไปเปิดจุดที่อยู่ปลายถ้ำ ซึ่งเป็นจุดที่มีควันไฟแล้วไหลเข้าไปภายในถ้ำ ทำให้เรารู้ว่าข้างในมีอากาศหมุนเวียน แต่ก็มีหินอยู่มาก ซึ่งเราก็ต้องค่อยๆ สกัด แต่ว่าจะยาวแค่ไหนยังไม่ทราบ เพราะเรายังไม่ทราบพิกัดว่า ความชัดเจนในแง่ของพิกัด ที่อ้างอิงกับสันฐานโลก ยังไม่ชัดเจน เรารู้อย่างเดียวว่าเด็กอยู่ตรงไหน แต่เมื่ออยู่ภายในถ้ำไม่สามารถระบุพิกัดได้ชัดเจน ในวันนี้จะใช้วิธีโบราณในการค้นหาพิกัด โดยการคำนวนจากแผนที่และใช้เข็มทิศจับ ถ้าได้พิกัดที่แน่นอนแล้วเราจะสามารถบอกได้ว่าโพรงไหนอยู่ใกล้พิกัด ซึ่งเราจะสามารถเจาะถ้ำเข้าไปก็จะเป็นจุดที่เจาะได้ใกล้มาก ซึ่งหากได้พิกัดชัดเราจะสามารถหาระยะทางที่ชัดเจนได้
ดร.ธเนศ กล่าวอีกว่า ขณะนี้เด็กๆ และโค้ช ไม่ได้อยู่ที่หาดพัทยา แต่ว่าอยู่ที่ซึ่งลึกกว่านั้น หากเข้าทางท้ายถ้ำก็จะเข้าใกล้จุดเป้าหมายได้เร็วกว่า ซึ่งในวันนี้ ตนจึงเน้นไปที่การหาพิกัดมากที่สุด เพื่อจะได้หาทางทำอย่างอื่น เช่นการเจาะถ้ำในจุดที่แน่นอน เพราะฉะนั้นอาจจะต้องหาวิธีที่จะส่งสัญญาณออกมาจากด้านใน ซึ่งเราอาจจะใช้อุปกรณ์ในการหาจุด เช่น อาจจะใช้หูฟังของแพทย์ ซึ่งจะสามารถได้ยินเสียงได้ชัดเจน หากอยู่บริเวณนั้นจริง แต่จะต้องมีการคำนวนเพื่อให้พิกัดถูกต้อง
นายกวิศวกรรมสถานฯ กล่าวอีกว่า สำหรับในส่วนของปลายถ้ำขณะนี้ไม่มีการเจาะ เพราะการเจาะกับสกัดนั้นไม่เหมือนกัน การสกัด คือ การทำให้หินขนาดใหญ่เล็กลง โดยการย่อยหินให้แตกละเอียดลง โดยใช้อุปกรณ์ที่ไม่ทำให้เกิดความเสียหายกับถ้ำ เราพยายามทำให้เกิดการสะเทือน ซึ่งการทำงานของเราในการช่วยเหลือตอนนี้มี 3 อย่างคือ การระบายน้ำ การหาโพรงสกัดหินที่ขวางอยู่ให้เปิดทาง และการเจาะ เพื่อเปิดทางเข้าไป ซึ่งหินปูนในถ้ำหลวงเป็นหินที่แตกง่าย จะต้องหาพิกัดที่ชัด เพื่อจะได้หาทางกำหนดจุดเจาะที่ใกล้กับน้องมากที่สุด และต้องระวังโครงสร้างให้มีเสถียรภาพ