ข่าว

มาแล้ว"ทุเรียนภูเขาไฟ" สุดยอดทุเรียนไทยที่กูร์เมต์ มาร์เก็ต

มาแล้ว"ทุเรียนภูเขาไฟ" สุดยอดทุเรียนไทยที่กูร์เมต์ มาร์เก็ต

28 มิ.ย. 2561

มาแล้วทุเรียนภูเขาไฟ สุดยอดทุเรียนไทยที่กูร์เมต์ มาร์เก็ต

 
            ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ มีวางจำหน่ายแล้วในกูร์เมต์ มาร์เก็ต ห้างสรรพสินค้า เครือเดอะมอลล์ กรุ๊ป ให้ผู้บริโภคทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้ลิ้มลองสุดยอดราชาผลไม้ เริ่มตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายน-กรกฏาคม 2561 

มาแล้ว\"ทุเรียนภูเขาไฟ\" สุดยอดทุเรียนไทยที่กูร์เมต์ มาร์เก็ต

         ในอดีตเกษตรกรชาวสวนผลไม้เดิมทำไร่ข้าวโพด มันสำปะหลัง และพืชไร่อื่น ๆ ซึ่งมักประสบปัญหาขาดทุน  ยิ่งทำก็ยิ่งจน หนี้สินยิ่งเพิ่มพูน อีกทั้งพืชเหล่านั้นต้องลงทุนใหม่ทุกปี และปีไหนผลผลิตมากราคาก็ตกต่ำ บางทีก็ถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง จึงคิดหาอาชีพใหม่แทน
        จังหวัดศรีสะเกษ เริ่มมีการปลูกไม้ผลอย่างจริงจัง เมื่อปี พ.ศ. 2531 เป็นต้นมา โดยเริ่มให้ผลผลิตครั้งแรกในปี พ.ศ. 2537  นับว่าศรีสะเกษเป็นจังหวัดแรกๆ ของภาคอีสานที่มีการปลูกทุเรียนและได้ผลผลิตที่มีคุณภาพเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค ไม่แพ้ทุเรียนเจ้าตำรับจากภาคใต้ และภาคตะวันออก ซึ่งทุเรียนที่เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมปลูก คือ พันธุ์หมอนทอง

 

มาแล้ว\"ทุเรียนภูเขาไฟ\" สุดยอดทุเรียนไทยที่กูร์เมต์ มาร์เก็ต

      จากข้อมูลสำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษระบุว่าปัจจุบันมีพื้นที่การปลูกทุเรียน 6,085 ไร่ โดยพื้นที่ปลูกส่วนใหญ่อยู่ที่อำเภอกันทรลักษ์ และขุนหาญ ปริมาณผลผลิตรวม 4,474.64 ตัน สามารถสร้างรายได้ให้จังหวัดปีละไม่น้อยกว่า 447 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีผลไม้และพืชเศรษฐกิจอีกหลายชนิดที่สร้างรายได้ให้เกษตรกรในจังหวัดศรีสะเกษ เช่น เงาะ ลำไย มังคุด ลองกอง ซึ่งนับรวมแล้ว ถือว่าสร้างรายได้ปีละไม่ต่ำกว่า 500 ร้อยล้านบาท 
     จากนั้นในปี พ.ศ. 2560 หลังนายธวัช สุระบาล มารับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ก็ด้สร้างอัตลักษณ์ของทุเรียนศรีสะเกษ โดยใช้ชื่อว่า “ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ” โดยชูคุณสมบัติเด่นของแหล่งผลิตที่ปลูกในบริเวณพื้นที่ภูเขาไฟโบราณ แถบเทือกเขาพนมดงรัก ซึ่งเป็นดินที่ผุพังมาจากหินบะซอลต์ ดินจึงมีลักษณะเหนียวสีแดง ระบายน้ำดีมาก มีธาตุอาหารชนิดต่างๆ ที่จำเป็นต่อพืชในปริมาณสูง และเกษตรกรใช้น้ำใต้ดินที่มีความลึกมากกว่า 50-100 เมตร ในการให้น้ำผลไม้ จึงส่งผลให้ได้รับแร่ธาตุครบถ้วน ผลผลิตที่ได้มีรสชาติดี

       นอกจากนั้นด้วยลักษณะสภาพภูมิอากาศ ของจังหวัด     ศรีสะเกษที่ไม่ชื้นจนเกินไป ประกอบกับแสงแดดที่มีความเข้มแสงสูง ทำให้พืชได้รับแสงอย่างเต็มที่ ทุเรียนจึงดูดธาตุอาหารจากดินมาช่วยสังเคราะห์แสงได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เนื้อทุเรียนที่ได้ จึงอุดมไปด้วยธาตุอาหารและวิตามินที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ เกิดเป็นทุเรียนที่มีคุณสมบัติเฉพาะ กล่าวคือ เนื้อทุเรียนแห้งและนุ่มเหนียว เส้นใยละเอียด มีกลิ่นหอมเฉพาะไม่ฉุนมาก รสชาติมันค่อนข้างหวาน ซึ่งตรงกับความต้องการของผู้บริโภคทุเรียนทั้งภายในและต่างประเทศ  

 

มาแล้ว\"ทุเรียนภูเขาไฟ\" สุดยอดทุเรียนไทยที่กูร์เมต์ มาร์เก็ต

        ซึ่งผลจากการศึกษาของศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ พบว่าทุเรียนพันธุ์หมอนทองของศรีสะเกษ มีลักษณะดังนี้ สีเนื้อของทุเรียนเป็นสีเหลือง น้ำหนักผลเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 1.65-4.99 กิโลกรัม/ผล จำนวนพู 5 พู/ผล เปอร์เซ็นต์เนื้อต่อเปอร์เซ็นต์เมล็ด เท่ากับ 88.9 : 11.1
         คาดการณ์ผลผลิตทุเรียนศรีสะเกษ ปี 2561 เท่ากับ 3,612.12 ตัน ลดลง 862.52 ตัน จากปี 2560 ที่มีผลผลิตรวม 4,474.64 ตัน คิดเป็นร้อยละ 19.28 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศหนาวเย็น


       จากการที่นายธวัช  สุระบาล ได้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ได้เกิดการพัฒนาทางด้านต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะการพัฒนาทางด้านการเกษตรซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนในจังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ มีสินค้าเกษตรที่หลากหลาย รวมถึงไม้ผล ได้แก่ ทุเรียน เงาะ ลำไย ลองกอง มังคุด ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจอีกประเภทหนึ่งของจังหวัด โดยผลผลิตที่ได้มีคุณภาพและเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศ จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ทำให้ นายธวัช  สุระบาล ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ได้มีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาสินค้าเกษตรโดยเฉพาะทุเรียน ซึ่งเป็นสินค้าเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัดศรีสะเกษอย่างหนึ่ง เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคทั้งภายใน และต่างประเทศ ให้มีคุณภาพเป็นมาตรฐานตรงตามความต้องการของผู้บริโภค  
       จากนั้นจังหวัดศรีสะเกษจึงได้ดำเนินการจดสิทธิบัตรสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geoghaphical Indication : GI) เนื่องจากพื้นที่ผลิตทุเรียนของจังหวัดศรีสะเกษได้แก่ อำเภอกันทรลักษ์ อำเภอขุนหาญ และศรีรัตนะ เป็นเขตพื้นที่แนวภูเขาไฟเก่า จึงอุดมไปด้วยแร่ธาตุอาหารต่างๆ ที่เหมาะสมทำให้ทุเรียนมีรสชาติที่ดี มีกลิ่นหอมผู้บริโภคได้ชิมแล้วต่างยอมรับในรสชาติที่แตกต่างไม่เหมือนที่ใด ของ “ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ”
              กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ประกาศให้ “ทุเรียนภูเขไฟศรีสะเกษ” เป็นทุเรียน GI หรือเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เป็นทุเรียนที่มีอัตลักษณ์เฉพาะ กล่าวคือ มีอัตลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร เนื้อทุเรียนละเอียดเนียนนุ่ม กรอบนอกนุ่มใน หวานมันกำลังพอดี ที่สำคัญคือกลิ่นหอมอ่อนๆ ทานแล้วไม่ร้อนในด้วย อย่างไรก็ดีประกาศจะมีผลจริงๆต้องหลังจากประกาศพ้นกำหนด 90 วันไปแล้ว ก็คือหลังวันที่ 25 มิถุนายน 2561 เป็นต้นไป 
       สำหรับกิจกรรมที่ทำให้ทุเรียนศรีสะเกษ มีชื่อเสียงมาจนทุกวันนี้ นั่นคือ “งานเทศกาลเงาะ-ทุเรียนและของดีศรีสะเกษ” และในปี พ.ศ.2561 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น“เทศกาลทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ อาเซียนเทรดแฟร์ 2561 (Lava Durian Sisaket & Asean Trade Fair 2018)”  ซึ่งกำหนดในช่วงที่ผลผลิตทุเรียนออกสู่ตลาดคือในช่วงเดือน มิถุนายน-กรกฎาคม ของทุกปี

        ในปีนี้กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 29 มิถุนายน – 8 กรกฏาคม 2561 ณ สวนปาล์ม วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษ โดยกิจกรรมในงานประกอบด้วย การจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร การประกวดพันธุ์สัตว์ การประกวดธิดาชาวสวน การประกวดร้องเพลงและวงดนตรีสากล ฯลฯโดยเฉพาะการประกวดทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษที่มีรสชาติอร่อย กรอบนอก นุ่มใน หวานน้อย ละมุนลิ้น  กลิ่นไม่ฉุน เป็นกิจกรรมที่สนับสนุนส่งเสริมเกษตรกรชาวสวนสามารถนำผลผลิตมาจำหน่ายให้กับผู้บริโภคโดยตรงเพื่อเป็นการสร้างโอกาสทางการตลาดและยังไปการส่งเสริมการท่องเทียวของจังหวัด โดยมีการให้บริการท่องเที่ยวเชิงเกษตรเพื่อนำนักท่องเที่ยวเข้าชมสวนทุเรียน เลือกชิมและเลือกซื้อทุเรียนจากสวนในราคาย่อมเยา ซึ่งทำให้เกิดรายได้ต่อชาวสวนและสร้างรายได้เข้าจังหวัดปีละหลายร้อยล้านบาท 
       ปัจจุบันทุเรียนหมอนทองศรีสะเกษ เป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงในระดับประเทศ ในปี 2561 ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ได้เชื่อมโยงตลาดกับทางผู้ประกอบการชาวสวนทุเรียนนำทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษจากอำเภอกันทรลักษณ์ ไปวางจำหน่ายในกูร์เมต์ มาร์เก็ตในห้างสรรพสินค้าเอ็มควอเทียร์ ,เอ็มโพเรียม สยามพารากอน และห้างเดอะมอลล์ บางกะปิ ให้ผู้บริโภคทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติใน กทม.ได้ชิม เริ่มตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายน-กรกฏาคม 2561 นี้