
"นายกฯ"กระตุ้น"เอกชน"ร่วมลงทุนอนุภูมิภาค ACMECS
"นายกฯ" เปิดประชุม "ACMECS" ย้ำเร่งบริหารความร่วมมือประเทศหุ้นส่วน กระตุ้นเอกชนร่วมลงทุน ผลักดันแผนเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน ลดอุปสรรคการค้า
เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.61 เวลา 09.00 น. ที่โรงแรมแชงกรี-ลา ถนนเจริญกรุง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม ACMECS CEO Forum ภายใต้หัวข้อ Connecting our Future: Enhancing ACMECS Cooperation and Integration ตอนหนึ่งว่า นอกจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในด้านเทคโนโลยีแล้ว อนุภูมิภาค ACMECS ยังต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในปัจจุบัน อนุภูมิภาคACMECS ประกอบด้วยชาติสมาชิกอาเซียนที่ตั้งอยู่ริมลุ่มแม่น้ำโขง มีสถานะเป็นจุดศูนย์กลางทางภูมิรัฐศาสตร์ของภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก เชื่อมโยงมหาสมุทรอินเดียกับแปซิฟิกเข้าด้วยกันจึงเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญที่สามารถเชื่อมโยงกับข้อริเริ่ม Belt and Road Initiative ของจีน และยุทธศาสตร์ Free and Open Indo Pacific ที่สหรัฐอเมริกาและชาติพันธมิตรได้ร่วมกันริเริ่มขึ้น ชาติสมาชิก ACMECS จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องบริหารจัดการความร่วมมือกับประเทศหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาทั้งหลายให้สมดุล เกิดประสิทธิภาพสูงสุด มีความเป็นเอกภาพ สามารถรักษาบทบาทและความเป็นแกนกลางของอาเซียนเอาไว้ได้
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การพัฒนา ACMECS ต่อไปอย่างยั่งยืน ประการแรก ภาคเอกชน ACMECS ต้องร่วมมือกับภาครัฐในการขับเคลื่อนการลงทุนเพื่อเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตในอนุภูมิภาค ACMECS ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ และเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกอย่างครบวงจรความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชน ที่ได้กล่าวถึงนี้ มิได้หมายถึงเฉพาะการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ภาครัฐให้การส่งเสริมเท่านั้น แต่ยังต้องร่วมมือกันในระดับโครงสร้างพื้นฐานด้วย เพราะการพัฒนาเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคACMECS ในระยะยาว จำเป็นต้องอาศัยเงินลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเป็นจำนวนมาก องค์กร ADB ได้ประเมินเอาไว้ว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยรวมต้องการเงินลงทุน เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสูงถึงปีละ 1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณร้อยละ 6 ของ GDP ตัวเลขการลงทุนที่ว่านี้สูงเกินกว่าที่ภาครัฐจะสามารถดำเนินการได้ตามลำพัง แต่จำเป็นต้องร่วมลงทุนกับภาคเอกชนด้วยส่วนหนึ่ง ในรูปแบบ Public - Private Partnership หรือ PPP
ในส่วนของประเทศไทยเอง ได้เริ่มดำเนินความร่วมมือ PPP กับภาคเอกชนไปแล้วส่วนหนึ่ง เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศ โดยโครงการลงทุนหลักที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น ได้แก่ โครงการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งรัฐบาลจะเปิดประมูลในโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญหลายโครงการ อาทิ การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ได้แก่ สนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง และอู่ตะเภา การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาเป็นเมืองการบินภาคตะวันออก การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3การพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 เป็นต้น
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ประเทศไทยมองว่าหากโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในไทยสามารถเชื่อมโยงเข้ากับประเทศอื่นๆ ใน ACMECS ได้ จะยิ่งช่วยเพิ่มพูนการค้าการลงทุนตามแนวชายแดน ซึ่งจะช่วยในการสร้างงานสร้างรายได้ ลดช่องว่างในการพัฒนา และกระตุ้นให้เศรษฐกิจทั้งอนุภูมิภาคขยายตัวเพิ่มมากขึ้น จึงได้ผลักดันให้แผนแม่บทบรรจุ เรื่อง การเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานอย่างไร้รอยต่อ เป็นหนึ่งในเสาหลักของทิศทางการพัฒนาACMECS ในอนาคตและจะผลักดันให้มีการจัดตั้งกองทุนACMECS ขึ้น เพื่อระดมทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของ ACMECS
อย่างไรก็ตาม ในการขับเคลื่อนกองทุน ACMECS ให้ประสบผลสำเร็จนั้น จำเป็นจะต้องมีการปรับปรุงกฎระเบียบด้านการเงินของภาครัฐให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยประเทศหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาและภาคเอกชนจะต้องเป็นพลังสำคัญในการช่วยแสวงหาแหล่งทุนและช่วยระดมทุนสำหรับการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนา ACMECS โดยเฉพาะการเชื่อมโยงกับเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ของไทย ซึ่งเป็นจุดที่สามารถเชื่อมโยงเข้ากับแนวระเบียงเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่สำคัญของACMECS เช่น แนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือ - ใต้ แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก - ตะวันตก นอกจากนี้ ยังสามารถเชื่อมโยงไปยังเส้นทางสายไหมทางบกและทางทะเล ภายใต้ข้อริเริ่มBelt and Road Initiative ของจีน และยุทธศาสตร์อินโด - แปซิฟิก ได้อีกด้วย
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ประการที่ 2 ภาคเอกชนจำเป็นต้องเพิ่มบทบาทในการเตรียมพร้อมให้ ACMECS สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น นวัตกรรมด้านดิจิทัล e-commerceและ Fintech เทคโนโลยีใหม่เหล่านี้ได้เข้ามามีบทบาทในเศรษฐกิจของ ACMECS อย่างมาก และอาจส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อรูปแบบการทำธุรกิจในอนาคต หากภาคธุรกิจปล่อยปละละเลยไม่เตรียมการไว้ให้พร้อมแล้ว ก็อาจส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจของACMECS ในภาพรวม อีกทั้งยังอาจเป็นช่องทางให้เกิดอาชญากรรมทางเศรษฐกิจข้ามชาติได้ ประเทศไทยมองว่าในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ในเชิงธุรกิจนั้น จำเป็นต้องคำนึงถึงความต้องการของภาคการผลิตและภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก เราจึงมีความพร้อมที่จะร่วมมือกับภาคเอกชนในการปรับตัวให้ทันโลกธุรกิจสมัยใหม่ โดยการพัฒนาเกษตรกรยุคใหม่ ตลอดจนผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย รวมทั้งวิสาหกิจเริ่มต้น (startup) ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อน Smart ACMECS ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญอีกองค์ประกอบหนึ่งของแผนแม่บท ACMECS ที่ผู้นำ ACMECS จะพิจารณารับรองในวันพรุ่งนี้
"ผมจึงขอเชิญชวนภาคเอกชนให้เข้ามามีบทบาทในการร่วมกำหนดเป้าหมายเร่งด่วน ในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และนวัตกรรม ตลอดจนประเด็นที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยอำนวยความสะดวก หรือปรับเปลี่ยนกฎระเบียบให้มีความยืดหยุ่นและสอดประสานกันมากขึ้นเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในด้านเทคโนโลยีที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในขณะนี้ นอกจากความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีแล้ว ความเปลี่ยนแปลงในด้านภูมิรัฐศาสตร์ก็เป็นอีกความเปลี่ยนแปลงหนึ่งที่ภาคเอกชน ACMECS ต้องเร่งปรับตัว และรีบตักตวงโอกาสจากการที่ภูมิภาคเอเชียกลับมามีความเข้มแข็งในด้านเศรษฐกิจอีกครั้งหนึ่ง เพื่อต่อยอดให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและลดช่องว่างในการพัฒนาระหว่างกันขณะนี้ อนุภูมิภาค ACMECS กำลังเป็นที่สนใจของนานาประเทศที่ประสงค์จะเข้ามาทำการค้า และการลงทุน ประเทศไทยตระหนักดีว่า เศรษฐกิจของชาติ ACMECS พึ่งพาการค้าชายแดนเป็นอย่างมาก
ในขณะเดียวกัน ภาคเอกชน ACMECS ก็มีความสนใจที่จะขยายการค้าขายตามแนวชายแดน เพื่อเข้าถึงตลาดในประเทศเพื่อนบ้าน ปัจจุบัน การค้าชายแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านได้ขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2560 การค้าชายแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา ลาว และเมียนมา มีมูลค่ารวมกันสูงกว่า 5แสนล้านบาท หากรวมการค้าผ่านแดนกับเวียดนามด้วยแล้วตัวเลขมูลค่าการค้ารวมจะสูงราว 6แสนล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมากเมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจของชาติสมาชิก ACMECS รัฐบาลไทยขอให้ความมั่นใจว่า ไทยมีความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับภาคเอกชนในการลดอุปสรรคการค้า
และอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ
ที่ผ่านมา ความพยายามดังกล่าวประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ได้รับการยอมรับจากธนาคารโลก ซึ่งได้ปรับการจัดอันดับความสะดวกในการทำธุรกิจกับไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในกรณีของการค้าชายแดนซึ่งมีมิติของความมั่นคงและผลกระทบด้านสังคมเพิ่มเข้ามาด้วยนั้น ผมขอความร่วมมือจากภาคเอกชน ให้ร่วมกันทำงานกับภาครัฐและภาคประชาสังคม เพื่อสร้างบรรยากาศที่มีความมั่นคง บรรยากาศแห่งความเป็นมิตร และบรรยากาศของการทำงานข้ามพรมแดนร่วมกัน และช่วยกันรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงบริเวณชายแดน เพื่อรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจริมชายแดนที่มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง" นายกฯ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนจึงขอเชื้อเชิญภาคเอกชนให้ร่วมกันพิจารณาดูว่า จะสามารถใช้ประสบการณ์และบทเรียนที่ได้จากการประชุม CLMVT Forum ซึ่งประเทศไทยเคยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งแรก ระหว่างวันที่ 16 – 18 มิ.ย. 2559 ครั้งนั้น จัดทำข้อเสนอต่อภาครัฐเพื่อผลักดันให้เกิดความร่วมมือที่ให้ผลสำเร็จเป็นรูปธรรมได้อย่างไร และ CLMVT Forum จะสามารถเพิ่มบทบาทในการส่งเสริมการพัฒนาแบบไร้รอยต่อใน ACMECS ได้อย่างไร ตนและผู้นำชาติ ACMECS ทุกท่านพร้อมที่จะรับฟังข้อเสนอจากภาคเอกชน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้แทนภาคเอกชนทุกท่านที่มาเข้าร่วมงานในวันนี้จะมีข้อเสนอที่น่าสนใจให้ภาครัฐได้รับไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
นายกฯ กล่าวว่า ประการที่3 ภาคเอกชน ACMECS ต้องร่วมมือกันเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์จากการพัฒนาสามารถเจริญเติบโตไปได้พร้อมกัน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยในการส่งเสริมให้เกิดการกระจายการพัฒนาไปยังชาติสมาชิก ACMECS ให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมนั้น ประเทศไทยพร้อมที่จะร่วมมือกับชาติACMECS ทุกประเทศ โดยยึดหลักการพัฒนาที่ครอบคลุม มีพลังจากความร่วมมือที่เป็นเอกภาพ เพื่อให้ทุกฝ่ายมีความเข้มแข็งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หรือที่เรียกว่า Stronger Together ประเทศไทยขอยืนยันว่า เราพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการต่อประเทศสมาชิก ACMECS อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในหลักสูตรการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อส่งเสริมการพัฒนาท้องถิ่นให้เข้มแข้ง เกิดการพัฒนาภาคเกษตรจากภายในสู่ภายนอก ในขณะเดียวกัน เราก็พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาที่จำเป็น โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความต้องการ และสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ ทั้งในระดับประเทศ และในระดับชุมชน
นายกฯ กล่าวว่า การดำเนินการของภาครัฐในการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาแต่เพียงฝ่ายเดียว อาจไม่เพียงพอที่จะผลักดันให้เกิดการกระจายความเจริญได้อย่างเป็นระบบ เพราะในสภาวะเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดังนั้น ภาคเอกชนจึงต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการกระจายการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไปยังท้องถิ่นต่างๆ ให้ทั่วถึงกันด้วย ความจริงนั้น ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ภาคเอกชนของไทยจำนวนมาก มีความพร้อมที่จะเข้าไปลงทุนในชาติ ACMECS อื่นๆ ซึ่งหากภาคเอกชนไทยและชาติสมาชิก ACMECS อื่นๆ สามารถที่จะเชื่อมโยงการลงทุนได้อย่างเป็นระบบ และดำเนินโครงการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมกันของชาติACMECS แล้ว ก็จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการกระจายเม็ดเงินลงทุนภายในอนุภูมิภาค และนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่กันไปด้วย
"ผมมีความเชื่อมั่นว่า ภาคเอกชนไทยสามารถเชื่อมต่อกับภาคเอกชนของชาติ ACMECS ทุกชาติได้ง่าย เพราะมีความใกล้ชิดกันทั้งในด้านภูมิศาสตร์และวัฒนธรรมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ในขณะที่การเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับประเทศนอกภูมิภาค กลับดูเหมือนจะเป็นได้ยากขึ้นเรื่อยๆ ในสภาวะที่มีกระแสนโยบายกีดกันทางการค้าที่รุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับในเวทีเศรษฐกิจโลก ประเทศไทยมองว่า นอกจากการร่วมมือกันพัฒนาชายแดน และส่งเสริมการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุตสาหกรรมการผลิตแล้ว ภาคธุรกิจที่สามารถเร่งรัดการพัฒนาให้เห็นผลได้ในทันที ได้แก่ การท่องเที่ยวภายในอนุภูมิภาค ACMECS และการจ้างงานแรงงานจากชาติสมาชิก ACMECS ในด้านการท่องเที่ยวประเทศไทยพร้อมที่จะร่วมมือกับภาคเอกชน ในการส่งเสริม การท่องเที่ยวทั่วทั้งอนุภูมิภาค ACMECS เพื่อให้ ACMECS เป็นจุดหมายปลายทางในการท่องเที่ยวร่วมกัน โดยอาศัยศักยภาพของประเทศไทยที่เป็นจุดหมายลำดับต้น ๆ ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในการกระจายนักท่องเที่ยวไปสู่ประเทศสมาชิก ACMECS อื่น ๆ ตามนโยบาย Thailand + 1 เพื่อพัฒนาตลาดการท่องเที่ยวให้ขยายตัวไปทั่วทั้งอนุภูมิภาค ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ยอดนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวใน ACMECS ส่วนมากยังกระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่เพียงไม่กี่เมืองของไทย รัฐบาลไทยจึงได้ริเริ่มนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง เพื่อกระจายนักท่องเที่ยวไปยังชุมชนท้องถิ่นต่าง ๆ รวมถึงพื้นที่บริเวณชายแดนด้วย ดังนั้น หาก ACMECS สามารถร่วมมือกันเพื่อส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวข้ามแดนไปท่องเที่ยวต่อในชาติสมาชิก ACMECS อื่น ๆ ด้วย อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโดยรวมของ ACMECS ก็จะเกิดการพัฒนาขึ้นไปได้พร้อม ๆ กัน ผมจึงขอฝากภาคเอกชนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ACMECSให้ร่วมกันเชื่อมโยงและส่งเสริมตลาดท่องเที่ยวเข้าด้วยกัน เพื่อที่ทุกประเทศจะได้รับประโยชน์ร่วมกัน
นายกฯ กล่าวว่า ในด้านการจ้างแรงงานประเทศไทยมีนโยบายที่เปิดกว้างในการรับแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศไทย โดยเฉพาะจากประเทศสมาชิกACMECS ที่มีชายแดนติดกับไทย ในช่วงปลายปี 2560 แรงงานต่างด้าวในไทยที่มาจากกัมพูชา ลาว และเมียนมา มีจำนวนราว 2 ล้านคน ซึ่งตลอดช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เปิดโอกาสให้แรงงานต่างด้าวสามารถเข้ามาทำงานได้อย่างเป็นระบบ
"รัฐบาลไทยขอยืนยันต่อชาติสมาชิก ACMECS และภาคเอกชนว่า ประเทศไทยมีนโยบายต้อนรับแรงงานต่างด้าวที่เดินทางมาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เราตระหนักดีถึงบทบาทของแรงงานเหล่านี้ในการพัฒนาเศรษฐกิจ และพร้อมที่จะให้การดูแลแรงงานเหล่านี้ให้ได้รับสิทธิต่างๆ อย่างเป็นธรรม เราทราบดีว่า การเคลื่อนย้ายแรงงานเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของACMECS ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้เร่งรัดการปฏิรูปการจัดทำทะเบียนประวัติ และการขออนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าว เพื่อสร้างระบบการจ้างงานที่เป็นธรรม ป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์" นายกฯ กล่าว