ข่าว

เผยสถิตินักโทษยาเสพติดทำผิดซ้ำสูงถึง 42 %

เผยสถิตินักโทษยาเสพติดทำผิดซ้ำสูงถึง 42 %

02 มิ.ย. 2561

"ปลัดยธ."เผยสถิตินักโทษยาเสพติดทำผิดซ้ำสูงถึง 42 % สั่งเดินหน้าใช้บิ๊กดาต้า วิเคราะห์ทำโปรแกรมบำบัดนักโทษเฉพาะราย นักวิชาการหนุนใช้โทษทางเลือกหลังคำพิพากษา

 

              2 มิ.ย.61  กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม จัดสัมมนาเรื่องการใช้โทษทางเลือกหลังมีคำพิพากษา โดย รศ.ศรีสมบัติ โชคประจักษ์ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สหรัฐอเมริกาใช้มาตรการเบี่ยงเบนโทษจำคุกมาก่อนประเทศไทย  

 

  

           โดยนำโทษปรับและการทำงานบริการสังคมมาใช้ทดแทน ในกรณีนักโทษล้นเรือนจำคดียาเสพติดจะส่งเข้าไปรับการบำบัดในศูนย์ แต่กลางคืนอนุญาตให้กลับบ้าน โดยใช้กำไลอีเอ็มควบคุม ทั้งนี้ ระหว่างการเบี่ยงเบนโทษจะมีการประเมินผลว่าสามารถป้องปรามอาชญากรรมได้หรือไม่ ขณะประเทศในแถบสแกนดิเนเวียซึ่งเป็นรัฐสวัสดิการ กรณีถูกจับกุมคุมขังในเรือนจำ รัฐต้องจ่ายเงินสวัสดิการระหว่างติดคุกด้วย ทั้งนี้หากกฎหมายไทยเปิดให้ศาลสั่งรอการลงโทษ และรอกำหนดโทษ  เพื่อให้มีมาตรการลงโทษระดับกลางอยู่ระหว่างเรือนจำกับคุมประพฤติ อาจเป็นการคุมประพฤติที่เข้มข้น
 

 

           นายนัทธี จิตสว่าง รักษาการรองผอ.สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า คนไทยนิยมการใช้โทษจำคุก มองผู้กระทำผิดแบบไม่แยกแยะ คิดเพียงว่าต้องนำผู้ร้ายเข้าคุก คนล้นคุกเป็นปัญหามานาน ที่ผ่านมามีความพยายามแก้ไขมาตลอด  เมื่อ 60 ปีที่แล้ว ไทยมีนักโทษ 6,000 คน ในปี 2520 จำนวนนักโทษเพิ่มเป็น 75,000 คน ความจุเรือนจำเริ่มไม่เพียงพอ  และมีนักโทษเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อมีการแก้กฎหมายเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย เอานักโทษออกจากเรือนจำได้กว่าแสนคน

 

           หลังจากนั้นจำนวนนักโทษก็เพิ่มอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบันมีจำนวนมากกว่า  3.5 แสนคน  เนื่องจากผู้ค้ายาเสพติดถูกส่งตัวเข้าเรือนจำมากขึ้นและได้รับโทษจำคุกระยะยาว  ที่ผ่านมาในบางปีกรมราชทัณฑ์แก้ปัญหาคนล้นคุกด้วยการขอพระราชทานอภัยโทษแบบหัวปี ท้ายปี  เมื่อขอมาก ๆ ขึ้น  ทำให้สังคมเริ่มตั้งคำถามจนต้องลดจำนวนให้น้อยลง  หลังจากนี้กรมราชทัณฑ์ต้องวางระบบการจำแนกและคัดกรองผู้ต้องขัง ที่สร้างความมั่นใจให้กับสังคมภายนอกได้ว่า มีการคัดกรองอย่างรัดกุมก่อนที่จะอนุมัติพักการลงโทษ        

         

           "เชื่อว่ากระทรวงยุติธรรม จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเบี่ยงเบนโทษจำคุก เพราะในเวทีสัมมนาครั้งนี้รมว.ยุติธรรม นั่งฟังตั้งแต่ต้นจนจบ  ใช้เวลารับฟังข้อเสนอแนะและมุมมองแนวคิดต่าง ๆ ตลอดทั้งวัน  ทั้งนี้ขอเสนอให้เริ่มต้นจากคดีค้ายาเสพติดรายย่อย เพื่อนำข้อมูลส่วนบุคคลมาร่วมพิจารณากำหนดโทษ การจำแนกและการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยเป็นประเด็นสำคัญที่เรือนจำยังทำได้ไม่เต็มที่ ส่งผลให้มีนักโทษกระทำผิดซ้ำกลับเข้าสู่วงจรเดิม"นายนัทธี กล่าว 

 

           นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ตัวเลขการกระทำความผิดซ้ำเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นเป็นเวลานาน กระบวนการยุติธรรมไทยเมื่อเปรียบเทียบกับญี่ปุ่นจะพบว่าระบบการดำเนินคดีพอ ๆ กัน  ญี่ปุ่นจับคนกว่าล้านคนต่อปี แต่ส่งเข้าคุกแค่ 2 %  ขณะที่การฟ้องคดีของญี่ปุ่นมีประสิทธิภาพคดีที่อัยการฟ้องศาล จะถูกตัดสินว่ามีความผิดและต้องติดคุก 99%

 

            สำหรับกระบวนการในไทยจับกุมผู้กระทำผิด 800,000 คน  ถูกส่งเข้าคุกปีละ 200,000 คน หรือคิดเป็น  1 ใน 4 เมื่อถึงชั้นศาลตัดสินลงโทษจริงน้อยมาก  สำหรับตัวเลขการกระทำความผิดซ้ำถูกส่งกลับเรือนจำ 3 ปี จำนวน 32% หลายคนมีความเชื่อว่าการเข้าเรือนจำแล้วอยู่นานเป็นเรื่องดี  หรือคิดว่าการขังยาวตามป้ายเป็นเรื่องดี  แต่จากสถิติการทำผิดซ้ำของผู้ที่ถูกขังตามป้ายมีมากถึง 42% ส่วนที่ผู้ปล่อยตัวก่อนกำหนดจากการพักโทษ ทำผิดซ้ำแค่ 15% เพราะมีระบบติดตามประเมินผล การพักโทษจึงมีความจำเป็น ราชทัณฑ์ต้องจำแนก แยกการบำบัดให้ชัดเจน โดยระบบฐานข้อมูล "บิ๊กดาต้า"จะช่วยให้สามารถวิเคราะห์คนเพื่อจัดทำโปรแกรมบำบัดเฉพาะบุคคลทำได้ง่ายขึ้น