
บ้านเชียงกับประวัติศาสตร์และความทรงจำ
ข่าวเรื่องปราสาทพระวิหาร ที่ดูเหมือนจะคุกรุ่นขึ้นมาอีกครั้ง ทำให้นึกไปถึงแหล่งโบราณคดีสำคัญอีกแห่งหนึ่งของไทย ที่ถูกประกาศให้เป็นมรดกโลกตั้งแต่ พ.ศ.2535 นั่นคือ บ้านเชียง อ.หนองหาน จ.อุดรธานี ซึ่งขุดค้นพบโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และโครงกระดูกมนุษย์ยุคก่อนป
บริเวณที่เป็นบ้านเชียงปัจจุบัน มีชื่อเรียกว่าอะไรในช่วงเวลาหลายพันปีก่อนหน้านี้ ไม่มีใครบอกได้ เพราะดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยุคนั้นยังไม่มีตัวอักษรใช้ในการจารึกบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ
จากหลักฐานด้านประวัติศาสตร์ “บ้านเชียง” เป็นชื่อใหม่ โดยอาจมาจากภาษาชาวพวนว่า “เชียง” หรือ “เซียง” ซึ่งเป็นคำนาม แปลว่า เมือง, ที่อยู่อาศัย เช่น เซียงตุง คือ เมืองตุง เป็นต้น
ชาวพวนอพยพเข้ามาเรื่อยๆ ตั้งแต่แผ่นดินกรุงศรีอยุธยาจนถึงต้นแผ่นดินรัตนโกสินทร์ เนื่องจากความไม่สงบของบ้านเมือง ทั้งภายในและภายนอก ราว พ.ศ.2360 (ปลายรัชกาลที่ 2) ชาวพวนอพยพมาจากแขวงเชียงขวาง ประเทศลาว ข้ามโขงมาอยู่ทางภาคอีสาน อีกพวกหนึ่งเข้ามาตั้งรกรากอยู่ที่ดงแพง ที่ราบลุ่มตอนบนของแม่น้ำสงครามในแอ่งสกลนคร เนื่องจากบริเวณนี้เคยเป็นที่ตั้งชุมชนมาก่อน มีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การอยู่อาศัย
อีกข้อสันนิษฐาน คือ สมัยที่ชาวพวนอพยพเข้ามาอยู่บ้านเชียงใหม่ๆ อาจเรียก “บ้านเชียงขวาง” อันเป็นประเพณีที่เอาชื่อบ้านเดิมที่จากมา มาใช้เรียกบ้านใหม่ แต่คนยุคหลังคงเรียกย่อความลงมาจนปัจจุบันเหลือแค่ “บ้านเชียง”
หลักฐานเกี่ยวกับชื่อเรียกบ้านเชียงอีกอย่างหนึ่ง คือ คำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ ที่ว่า เดิมบริเวณดังกล่าวมีชื่อว่า “ดงแพง” แต่เมื่อมีชายหนุ่มรูปงามคนหนึ่งบวชเป็นสามเณรแล้วลาสิกขา ชาวบ้านแถบนั้นจึงพากันเรียกชายหนุ่มผู้นั้นว่า “เชียงงาม” หรือ “เซียงงาม” เพราะ “เชียง” หมายถึงผู้ที่เคยบวชเป็นสามเณรมาแล้ว เหมือนคนที่เคยบวชพระจะเรียกว่า “ทิด” นั่นเอง
ไม่ว่าชื่อบ้านเชียงจะมาจากไหน แต่สิ่งที่แน่นอนไม่มีวันเปลี่ยนแปลง คือ คุณค่าของแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ ที่บอกเล่าเรื่องราวของมนุษย์ผ่านหลุมขุดค้นให้เราได้รับรู้ถึงอารยธรรมอันรุ่งเรือง ณ ดินแดนอีสาน ในช่วงเวลานับพันปีที่ผ่านมา
" เรือนอินทร์ หน้าพระลาน"