ข่าว

"ประจวบคีรีขันธ์" บนเส้นทางอันดามันถึงอ่าวไทย

"ประจวบคีรีขันธ์" บนเส้นทางอันดามันถึงอ่าวไทย

09 ต.ค. 2552

จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่แปลได้ว่า เมืองหมู่ภูเขา เป็นเมืองชายทะเลที่สำคัญมาแต่โบราณ ปรากฏชื่อเมือง กุย (Guij) และเมืองปราณ (Praan) ในเอกสารต่างชาติหลายฉบับที่แสดงถึงความสำคัญ คำว่า “กุย” เป็นภาษาเขมร หมายถึง เขากวาง ส่วน “ปราณ” หรือ “ปราน” ในภาษามอญ หมา

  ด้วยปัจจัยที่ตั้งและลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่ตั้งอยู่ติดทะเลฝั่งอ่าวไทยและมีเขตเชื่อมต่อกับประเทศพม่าด้วยระยะทางสั้นๆ ทำให้บริเวณ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นพื้นที่บนเส้นทางเชื่อมโยงการค้าข้ามคาบสมุทรของดินแดนฝั่งตะวันออกและตะวันตกที่สำคัญในยุคโบราณ

 ราว พ.ศ.600-700 เส้นทางการติดต่อทางการค้าระหว่างอินเดียกับจีนนิยมใช้เส้นทางการเดินเรือผ่านคาบสมุทรมลายู แล้วใช้วิธีเดินเรือเลียบตามชายฝั่งทะเลอันดามันทางด้านตะวันตกและชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาเดินทางนานและเสี่ยงอันตรายคลื่นลมไปจนถึงโจรสลัด เมื่อเศรษฐกิจการค้าโลกขยายตัวเพิ่มขึ้นในราว พ.ศ.900-1100 ทำให้เกิดเส้นทางลัดข้ามคาบสมุทรมลายูที่ช่วยลดระยะเวลาในการเดินทาง

 พอล วิทลีย์ ได้ทำการศึกษาวิเคราะห์เอกสารจีนโบราณ แล้วกำหนดตำแหน่งที่สันนิษฐานว่าเป็นเส้นทางข้ามคาบสมุทรมลายูไว้ 11 เส้นทาง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “เส้นทางแม่น้ำตะนาวศรี” หรือ "เส้นทางข้ามคาบสมุทรช่องสิงขร" เริ่มจากเมืองมะริดบริเวณบ้านมูดอง เมืองตะนาวศรี ในพม่า ไปออกทะเลอ่าวไทยที่ อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยผ่านช่องเขาธรรมชาติ ได้แก่ ด่านสิงขร ที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ช่องสันพราน” หรือ “ช่องสันพร้าว” ยังชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกของคาบสมุทรมลายูได้ จากด่านสิงขรยังสามารถใช้การเดินทางทางบกมายังชุมชนโบราณในลุ่มน้ำเพชรบุรีได้อีกด้วย และจากเมืองมะริด ในพม่าก็ไปออกทะเลอันดามัน ที่ปากแม่น้ำตะนาวศรีเพื่อเดินทางต่อไปยังฝั่งตะวันตกได้

 บริเวณประจวบคีรีขันธ์จึงเป็นส่วนหนึ่งบนเส้นทางคมนาคมที่มีความสำคัญทางการค้าระหว่างภูมิภาคตะวันตกและตะวันออก โดยเฉพาะจีนและอินเดียมายาวนานนับพันปี
         
"เรือนอินทร์ หน้าพระลาน"