ข่าว

"ครูเคท"ชาวสีรุ้งยิ้มออก!!ศาลปค.สั่งมธ.รับกลับอาจารย์

"ครูเคท"ชาวสีรุ้งยิ้มออก!!ศาลปค.สั่งมธ.รับกลับอาจารย์

08 มี.ค. 2561

ชนะยกแรก"ศาลปกครองกลาง"พิพากษาเพิกถอนมติกก.มธ.ไม่รับเป็นอาจารย์ชี้โพสรูปลิปสติกส่อสยิว ไม่เข้าข่ายผู้บกพร่องศีลธรรม สั่ง"มธ."รับกลับคณะสังคมฯไม่เกิน 60 วัน

         8 มี.ค.61  ศาลอ่านคำพิพากษคดีหมายเลขดำ บ.447/2558 ที่นายคทาวุธ ครั้งพิบูลย์ หรือครูเคท สาวข้ามเพศ ยื่นฟ้องมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และคณะกรรมการบริหาร มธ. เป็นผู้ถูกฟ้อง ที่ 1-2 เรื่องกระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย กรณี คณะกรรมการบริหาร มธ. มีมติไม่ว่าจ้าง ให้ไปเป็นพนักงานในมหาวิทยาลัยในตำแหน่งอาจารย์โดยอ้างว่าการที่นายคทาวุธ แสดงออกโดยโพสภาพลิปสติกที่มีลักษณะคล้ายอวัยวะเพศชายและใช้ถ้อยคำผ่านสื่อสั งคมออนไลน์ในลักษณะไม่เหมาะสมกระทบต่อภาพลักษณ์การเป็นอาจารย์ 

         โดย "นายคทาวุธ" หรือครูเคท ได้ยื่นขอให้เพิกถอนมติ คณะกรรมการบริหาร มธ. ที่มีมติไม่ว่าจ้างดังกล่าว                 ขณะที่ "องค์คณะฯ เจ้าของสำนวน" พิเคราะห์คำฟ้องและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า การที่ "นายคทาวุธ" ได้สื่อสารทางสังคมออนไลน์เป็นวิธีสื่อสารถึงกัน ซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ตามรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 4 ที่ใช้บังคับในขณะเกิดข้อพิพาทรับรองสิทธินี้ไว้ แต่ทั้งนี้สิทธิเสรีภาพในการสื่อสารทางสังคมออนไลน์ของนายคทาวุธ ก็จะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายและระเบียบข้อบังคับของทางราชการด้วย หากนายคทาวุธ มีการสื่อสารทางสังคมออนไลน์ โดยไม่ได้อยู่ภายใต้ขอบเขตกฎหมายและระเบียบข้อบังคับของทางราชการ นายคทาวุธก็ย่อมไม่ได้รับการคุ้มครองตามที่รัฐธรรมนูญรับรองสิทธิและเสรีภาพไว้ 

          ซึ่งเรื่องนี้ ศาลได้พิจารณามติของคณะกรรมการ มธ.แล้ว เห็นว่า การที่มีมติไม่ว่าจ้างนายคทาวุธ เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยไม่ได้ เกี่ยวกับเพศสภาพ หากแต่คณะกรรมการบิรหาร มธ. ได้นำพฤติการณ์ หรือการกระทำนายคทาวุธ ที่ได้สื่อสารทางสังคมออนไลน์มาใช้อ้างในการมีมติไม่ว่าจ้างเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย 

          แต่เมื่อศาลได้พิจารณาพฤติการณ์ หรือการกระทำของนายคทาวุธ ที่ได้สื่อสารทางสังคมออนไลน์คือ เฟซบุ๊ก จำนวน 4 ข้อความ และอินสตาแกรม จำนวน 2 ข้อความ พร้อมภาพประกอบแล้ว เห็นว่า การใช้ถ้อยคำของของนายคทาวุธ และภาพที่ได้เผยแพร่ในเฟซบุ๊ก , อินสตาแกรม อาจจะมีการใช้ถ้อยคำไม่สุภาพและภาพไม่ เหมาะสมอยู่บ้าง บางคำบางภาพ แต่ยังไม่ถึงขนาดที่จะถือได้ว่านายคทาวุธมีลักษณะต้องห้ามอันเนื่องจากเป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดี ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 ม.7(ข)(4)

           ดังนั้นการที่ "คณะกรรมการบริหาร มธ." มีมติไม่ว่าจ้างนายคทาวุธ เป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ตำแหน่งอาจารย์ จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ ชอบด้วยกฎหมาย

            ศาลปกครองกลาง จึง​พิพากษาให้เพิกถอน มติคณะกรรมการบริหาร มธ. ที่ไม่ว่าจ้าง "นายคทาวุธ" เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการ ตำแหน่งอาจารย์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ โดยให้มีผลนับแต่วันคดีถึงที่สุด และศาลยังมีข้อสังเกตและแนวทางเกี่ยวกับการปฏิบัติให้เป็นไปตามคำพิพากษาด้วยว่า ให้คณะกรรมการบริหาร มธ. ผู้ถูกฟ้องที่ 2 ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่เรียกให้ "นายคทาวุธ" ผู้ฟ้อง ไปทำสัญญาจ้างเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการตำแหน่งอาจารย์ ตามที่สอบคัดเลือกได้เมื่อเดือน มี.ค.57 ภายใน 60 วันนับแต่คดีถึงที่สุด

            ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ "นายคทาวุธ หรือครูเคท" ได้เดินทางมาพร้อมกลุ่มเพศทางเลือก ที่มาร่วมให้กำลังใจกับนางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) 

            ขณะที่ "นายคทาวุธ" กล่าวภายหลังการฟังคำพิพากษาว่า ขอบคุณศาลปกครองที่มีคำพิพากษาดังกล่าว ถือเป็นการพิสูจน์ว่าการใช้ดุลยพินิจไม่ว่าจ้างตนเป็นพนักงาน มธ. ของคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย ไม่เป็นธรรม ทั้งที่มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งของผู้มีปัญญาชน รวมทั้งศาลก็ได้วินิจฉัยว่าการแสดงออกของตนทางสื่อโซเชียลมีเดียไม่ได้เป็นพฤติกรรมชั่วร้ายที่มีผลต่อการปฏิบัติหน้าที่ในมหาวิทยาลัย  

           อย่างไรก็ดี ก็ต้องรอดูว่ามหาวิทยาลัย จะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดหรือไม่ และหากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเช่นเดียวกับศาลปกครองชั้นต้นในวันนี้ ตนก็พร้อมที่จะกลับไปเป็นพนักงานของมธ.เพราะเป็นความตั้งใจมาโดยตลอดที่จะไปเป็นอาจารย์ เนื่องจากคิดว่าองค์ความรู้โดยเฉพาะการถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุของเพศสภาพยังมีการเรียนการสอนที่ไม่กว้างขวาง และยังคงมีอยู่ในสังคมไทย 

            "การเลือกปฏิบัติในแต่ละกรณีมีระดับที่ลึกมากแตกต่างกัน ก็อยากให้กรณีของตนเป็นตัวอย่างให้ผู้ที่ถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุของเพศสภาพไม่นิ่งเฉย ลุกขึ้นออกมาต่อสู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการจ้างงาน ซึ่งผู้ที่ไม่ได้รับการจ้างด้วยเหตุแห่งเพศสภาพถือว่าเป็นความลำบากของชีวิต" ครูเคทกล่าวย้ำ

           "นางอังคณา นีละไพจิตร" กสม. กล่าวว่า คำวินิจฉัยของศาลปกครองวันนี้ ได้ชี้ให้เห็นว่าพฤติกรรมใดเข้าข่ายเป็นความบกพร่ องทางศีลธรรมอันดี ซึ่งกรณีของครูเคทแม้จะโพสข้อความในสื่อโซเชียลมีเดีย แต่ก็ได้ตั้งค่าเป็นส่วนตัวเห็นเฉพาะเพื่อน จึงไม่ได้ทำให้สาธารณะเกิดความเสียหาย และนำไปสู่การพิจารณาว่าคำสั่งของ มธ.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งหากมีการยื่นอุทธรณ์แล้วศาลปกครองสูงสุดยืนตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ต่อไปก็จะเป็นบรรทัดฐานว่าการกระทำใดบ้างที่เป็นความบกพร่องต่อศีลธรรมอันดี ตามระเบียบของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 และจะทำให้ไม่มีผู้นำพฤติกรรมต่าง ๆ มากล่าวหาบุคคลใดบุคคลหนึ่งว่าเป็นผู้บกพร่องศีลธรรมอันดีได้ง่าย ๆ  ทั้งระบบราชการก็ต้องระมัดระวังมากขึ้นในการรับบุคคลข้ามเพศสภาพด้วย