
เนรมิต“เมืองจันท์”ศูนย์กลางผลไม้ เชื่อมโยงค้าชายแดน
เนรมิต“เมืองจันท์”ศูนย์กลางผลไม้ เชื่อมโยงเครือข่ายตลาดค้าชายแดน
หนึ่งในวาระสำคัญของการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่(ครม.สัญจร) ที่ จ.จันทบุรี ในวันนี้(6 ก.พ.) คือการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านมาตรฐานคุณภาพผลไม้ไทยระหว่างกระทรวงพาณิชย์ หอการค้าไทย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยบูรพา และบันทึกข้อตกลงการเชื่อมโยงตลาดผลไม้ แหล่งผลิต และตลาดรองรับสำคัญ ระหว่างหอการค้าจังหวัดต่างๆ กับหอการค้านำเข้าผลไม้ของจีนและหอการค้าจังหวัดไพลิน ของกัมพูชา โดยรัฐบาลนี้วาดหวังให้จ.จันทบุรี เป็นมหานครแห่งผลไม้เมืองร้อนหรือ “ฮับ” ผลไม้โลก
“ผลไม้ไทยมีความหลากหลาย มีรสชาติโดดเด่น เป็นที่ต้องการของตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะทุเรียน มังคุด และลำไย โดย จ.จันทบุรี เป็นจังหวัดที่มีชื่อเสียงด้านผลไม้และมีเป้าหมายเป็นมหานครผลไม้โลก แต่ยังคงมีข้อจำกัดด้านการผลิตและการตลาด ซึ่งรัฐบาลจะได้รับฟังปัญหาและร่วมกันแก้ไข ภายใต้ยุทธศาสตร์การค้าผลไม้ครบวงจร" ความบางตอนที่ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน
ที่ผ่านมา แม้รัฐบาล โดยคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้พยายามออกมาตรการแก้ปัญหาผลไม้ทั้งในด้านราคาตกต่ำและผลผลิตล้นตลาดมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในฤดูการผลิตเท่านั้น โดยเน้นการช่วยเหลือทางด้านการเงินให้แก่สถาบันเกษตรกรชาวสวนผลไม้เพื่อบรรเทาปัญหา แต่ไม่ได้มุ่งแก้ในระยะยาว โดยเฉพาะช่องทางด้านการตลาดที่เป็นปลายน้ำ
กระทั่ง สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เมื่อครั้งรั้งตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะมือสร้างเศรษฐกิจการตลาดเชิงรุก ของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มีแนวคิดที่จะผลักดันให้จ.จันทบุรี เป็นมหานครแห่งผลไม้ของประเทศ และเป็นฮับผลไม้แห่งเอเชีย โดยมีเป้าหมายสร้างรายได้เพื่อสร้างจีดีพีของประเทศ 5 แสนล้านบาท ในอีก 5 ปีข้างหน้า
เนื่องจากมองว่าจันทบุรีเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูงมาก ทั้งในด้านประมง การเป็นเมืองแห่งเพชรพลอย และยังเป็นพื้นที่ปลูกผลไม้ที่สำคัญของประเทศ ปัจจุบันมีผลไม้ที่สำคัญกว่า 10 ชนิด โดยเฉพาะทุเรียน ซึ่งกลายเป็นสินค้ายอดนิยมของผู้บริโภคชาวจีน จนสามารถสร้างรายได้ให้แก่จังหวัดอย่างก้าวกระโดด อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่เหมาะสม สะดวกในการรวบรวมและกระจายสินค้าไปยังภูมิภาคต่างๆ และตลาดปลายทาง
ทั้งนี้ จันทบุรีมีผลไม้เป็นสินค้าสำคัญ จึงเป็นเป้าหมายในการจัดตั้งตลาดเฉพาะสินค้าผลไม้และตลาดแปรรูปผลไม้ เพื่อรองรับผลผลิตที่จะออกสู่ตลาดตลอดฤดูกาลผลิต และยังเป็นการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและผู้ปลูกผลไม้และคนในท้องถิ่น
จากนั้นจึงได้มีการประชุมเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์การค้าผลไม้ของไทย โดยกระทรวงพาณิชย์ร่วมกับตัวแทนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จนได้ข้อสรุปการจัดทำยุทธศาสตร์การค้าผลไม้ เพื่อผลักดันให้ไทยกลายเป็นมหาอำนาจทางด้านผลไม้ของโลก และเป็นศูนย์กลาง(ฮับ) ผลไม้ ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี และเพื่อดูแลผลผลิตให้มีปริมาณเหมาะสมและมีคุณภาพ ปลอดภัย เป็นที่ยอมรับของตลาด
รวมถึงให้ราคาผลไม้ไทยมีเสถียรภาพ ไม่ประสบปัญหาราคาตกต่ำ โดยแผนงานตามยุทธศาสตร์นั้นจะมีทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว พร้อมทั้งบูรณาการทำงานกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ครอบคลุมทั้งยุทธศาสตร์หลักและยุทธศาสตร์รองของผลไม้ รวมถึงทั้งตลาดภายในและต่างประเทศ ในเบื้องต้นจะใช้กับทุเรียน มังคุด และมะพร้าวน้ำหอมเป็นโครงการนำร่อง จากนั้นก็จะขยายสู่ผลไม้ชนิดอื่นๆ เช่น ลำไย สับปะรด กล้วยหอม กล้วยไข่ มะม่วง ฯลฯ
จากการสำรวจข้อมูลสถานการณ์ผลไม้ภาคตะวันออก 4 ชนิด ครั้งที่ 1 (4 ธ.ค.60) ฤดูการผลิตปี 2561 ประกอบด้วย ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.)ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด พบว่า เนื้อที่ให้ผลผลิตของไม้ผลทั้ง 4 ชนิด มีจำนวน 622,126 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่มีจำนวน 605,481 ไร่ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.75 โดยทุเรียนเพิ่มขึ้นมากที่สุด ร้อยละ 5.42 รองลงมาเป็นมังคุดร้อยละ 1.76 และเงาะ ร้อยละ 0.97 ส่วนลองกอง ลดลงร้อยละ 3.73
ผลผลิตโดยรวมทั้ง 4 สินค้า คาดว่าจะมีประมาณ 802,973 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่มีจำนวน 792,113 ตัน โดยผลผลิตจะออกมากช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ต่อเนื่องถึงกลางเดือนมิถุนายน คาดการณ์ว่าผลผลิตรวมจะเพิ่มขึ้นทุกชนิด โดยเงาะจะเพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ที่ร้อยละ 3.48 เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวย ปริมาณน้ำเพียงพอ รองลงมาได้แก่ มังคุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.23 ทุเรียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.54 และลองกองเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.04
สุชัย กิตตินันทะศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ที่ 6 จ.ชลบุรี (สศท.6) กล่าวถึงสถานการณ์ในขณะนี้ว่า ทุเรียนออกดอกแล้วประมาณร้อยละ 60 ผลผลิตที่ติดผลในช่วงแรกเป็นทุเรียนพันธุ์เบาและทุเรียนที่ใช้สารกระตุ้นการออกดอก โดยจะเป็นพันธุ์กระดุมและหมอนทองบางส่วน เงาะออกดอกแล้วประมาณร้อยละ 2 ขณะที่มังคุดออกดอกแล้วประมาณร้อยละ 3 ขณะที่ลองกองยังไม่ออกดอก
สำหรับแนวทางบริหารจัดการผลไม้ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปี 2561 ยังคงเน้นเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยเป็นสำคัญ โดยให้จังหวัดคำนึงถึงการบริหารจัดการผลไม้ทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ซึ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของผลไม้ ควบคู่กับการสร้างมูลค่าเพิ่มของผลไม้ตลอดฤดูกาลผลิต ด้านเชิงคุณภาพ เช่น การส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพผลผลิตสู่มาตรฐาน (GAP) และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยให้รวมกลุ่มเพื่อผลิตไม้ผลในลักษณะแปลงใหญ่ อบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาคุณภาพการผลิต เป็นต้น
ส่วนในเชิงปริมาณ เช่น การเชื่อมโยงตลาดล่วงหน้า การจัดทำแผนบริหารจัดการผลผลิตส่วนเกิน เป็นต้น ทั้งนี้จังหวัดจะจัดทำรายละเอียดของแผนบริหารจัดการผลไม้ในพื้นที่ โดยมีคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลิตผลการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) เป็นแกนหลักในการกลั่นกรอง เชื่อมโยง บูรณาการแผนงานหรือโครงการต่อไป
อย่างไรก็ตาม หากสภาพดินฟ้าอากาศแปรปรวนอาจทำให้ปริมาณผลผลิตไม้ผลเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้อีก เนื่องจากปีนี้สภาพอากาศในช่วงแรกของภาคตะวันออกมีฝนตกค่อนข้างมากในเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา ส่งผลต่อการติดดอกออกผลของผลไม้ โดยเฉพาะมังคุด เงาะ และลองกอง ที่ออกดอกล่าช้า จึงยังไม่เห็นพัฒนาการที่ชัดเจน โดยเฉพาะมังคุด และเงาะ ซึ่งจะเห็นผลได้ชัดเจนอีกครั้งหลัง สศท.6 ลงพื้นที่สำรวจอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 นี้
ร้องรัฐเข้มงวดทุเรียนอ่อน-แปรรูปเพิ่มค่า
คำนึง ชนะสิทธิ์ เกษตรกรเจ้าของสวนผลไม้ผู้ใหญ่คำนึงแห่งบ้านชำปลาไหล หมู่ 12 ต.สองพี่น้อง อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี และประธานศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านศูนย์กสิกรรมธรรมชาติชำปลาไหล เผยถึงภาพรวมสถานการณ์ผลไม้ในพื้นที่ จ.จันทบุรี ในปีนี้ โดยระบุว่าผลผลิตน่าจะลดลงจากปีก่อน เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนทำให้การติดผลมีปัญหา โดยเฉพาะทุเรียนในช่วงที่กำลังติดดอก แต่เกิดพายุฝนถล่มอย่างต่อเนื่องในเดือนธันวาคมถึงมกราคม ทำให้ดอกร่วงเกือบทุกสวน อย่างที่สวนของตนเหลือไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ เช่นเดียวกับมังคุดและเงาะปีนี้ผลผลิตคงลดลงอย่างน้อย 20-30 เปอร์เซ็นต์
“ทำใจได้เลยว่าปีนี้ผลไม้แพงแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นทุเรียน เงาะ มังคุดหรือลองกอง เพราะฟ้าฝนไม่เป็นใจ สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไป อย่างช่วงเดือนธันวาคมทุเรียนกำลังออกดอก ฝนเทลงมาดอกร่วงเกลี้ยง สวนผมดอกทุเรียนเหลือไม่ถึง 20% ที่ติดผลก็ไม่แน่ใจว่าจะให้ผลผลิตดี 100 เปอร์เซ็นต์ ส่วนเงาะ มังคุด และลองกอง สถานการณ์ไม่แตกต่างกัน”
เจ้าของสวนผลไม้รายเดิมระบุอีกว่าสำหรับสถานการณ์ซื้อขายผลไม้ในภาพรวมดีขึ้นเรื่อยๆ หลังจากมีการเพิ่มขึ้นของล้ง หรือโรงเก็บผลผลิตผลไม้เพื่อการส่งออกได้เพิ่มขึ้นทุกปี โดยมีพ่อค้าชาวจีนมาตั้งล้งเพื่อรับซื้อผลไม้เพื่อส่งออกไปยังประเทศจีน โดยในปี 2555 มีประมาณ 100 ล้ง แต่ปีนี้(2561)มีล้งเพิ่มขึ้นจำนวน 400 กว่าล้ง คงจะส่งผลให้ราคาผลไม้ดีขึ้น โดยเฉพาะทุเรียน ซึ่งขณะนี้เริ่มมีการสั่งจองล่วงหน้ากันแล้ว
“ตอนนี้มีพ่อค้าเริ่มเข้าไปติดต่อกับชาวสวนเพื่อรับซื้อผลผลิตแล้ว กระดุมราคาอยู่ที่ 145 บาทต่อกิโล ส่วนหมอนทอง 140 บาท เมื่อผลไม้มีราคาสูงสิ่งที่ต้องกังวลก็คือการตัดทุเรียนอ่อนไปขาย ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเข้ามาดูแลอย่างเข้มงวดในจุดนี้ด้วย อย่างปีที่แล้วภาครัฐค่อนข้างเอาจริงเอาจัง ปีนี้คงจะต้องเข้มงวดให้มากขึ้น ทุเรียนปีนี้ไม่มีปัญหาเรื่องราคา ส่วนเงาะก็จะต้องเน้นแปรรูปให้มากขึ้นเพื่อลดการสูญเสียเนื่องจากเก้บไว้ได้ไม่นาน” ผู้ใหญ่คำนึงกล่าววิงวอน
อย่างไรก็ตาม เขายังกล่าวถึงสถานการณ์ผลไม้ในปีนี้ว่าผลพวงจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ทำให้ผลไม้ให้ผลผลิตใน 3 รุ่นด้วยกัน โดยผลผลิตรุ่นแรกจะออกประมาณเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงให้ผลผลิตมากที่สุด จากนั้นจะเป็นรุ่นสองและสามซึ่งจะให้ผลผลิตตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมไปถึงปลายมิถุนายน
สอดคล้องกับข้อมูล บุญชื่น โพธิ์แก้ว หรือป้าชื่น เจ้าของสวนยายดา ต.ตะพง อ.เมือง จ.ระยอง ต้นตำรับกลยุทธ์ “ท่องเที่ยวเชิงเกษตร” อิ่มเดียวเที่ยวได้ทั้งวัน โดยเปิดให้ผู้สนใจและนักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชมสวน พร้อมชม ช็อป ชิมผลไม้สดๆ จากต้นมาตั้งแต่ปี 2545 กล่าวยอมรับว่าปริมาณผลผลิตผลไม้ทุกชนิดในปีนี้น้อยกว่าทุกๆ ปีที่ผ่านมาอย่างแน่นอน เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่ไม่เป็นไปตามฤดูกาล ทำให้ผลผลิตลดลง เนื่องจากฝนที่ตกลงมาในช่วงที่ผลไม้กำลังออกดอกทำให้ดอกร่วงเกือบหมด
“บุฟเฟต์ผลไม้ปีนี้ก็ยังจัดปกติ แต่จะไม่รวมทุเรียน เนื่องจากปีนี้ทุเรียนมีน้อย ไม่คุ้ม หากคิดหัวละ 400 ก็แพงไป ก็ให้ซื้อต่างหากดีกว่าสำหรับทุเรียน ส่วนผลไม้ชนิดอื่นมีให้ตามปกติ ยกเว้นทุเรียน” ป้าชื่นเผย พร้อมเชิญชวนนักท่องเที่ยวมาชม ช็อป ชิมผลไม้สดๆ ได้ตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไป โดยมีสละและอาหารพื้นเมืองให้บริการ ส่วนผลไม้ตามฤดูกาลจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป
รุกออนไลน์เชื่อมตลาด Magnet Market
สำหรับแนวทางการจัดตั้งตลาด Magnet Market และการเชื่อมโยงผลผลิตผลไม้ของกระทรวงพาณิชย์ ที่มุ่งเน้นสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก และส่งเสริมให้เป็นผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซในการขยายตลาดเบื้องต้น หลังพบว่า จ.จันทบุรี มีมูลค่าการขายส่งผลไม้สูงถึง 3 หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งหากรวมมูลค่าเพิ่มจากการทำตลาดแล้วจะสูงถึง 2 แสนล้านบาท เนื่องจากจันทบุรีมีผลไม้เมืองร้อนเป็นสินค้าส่งออกที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในระดับโลก รวมถึงมีพรมแดนติดกับกัมพูชา และมีปริมาณการค้าชายแดนที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา จึงมีความเหมาะสมที่จะเป็นพื้นที่ต้นแบบ เพื่อพัฒนาผลผลิตด้านผลไม้ที่มีคุณภาพ สร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร
ส่วนแนวทางการส่งเสริมของกระทรวงพาณิชย์ จะมุ่งเน้นการเข้าไปส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-คอมเมิร์ซ แก่ชาวสวน และกลุ่ม Biz Club โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อพัฒนาตลาดผลไม้อย่างครบวงจร จัดจำหน่ายทั้งในระบบออนไลน์และออฟไลน์ รวมถึงระบบโลจิสติกส์ นอกจากนี้ ยังร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี ทำโครงการ Offline 2 Online @ จันทบุรี สู่ www.eastfruit.org ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่จัดทำขึ้นเพื่อเป็นตลาดกลางผลไม้ออนไลน์ พร้อมส่งมอบให้จังหวัดจันทบุรีใช้เป็นศูนย์กลางทางการค้าผลไม้ออนไลน์ของจังหวัดจันทบุรีและภูมิภาคตะวันออก ในการโปรโมทผลไม้ไทยให้เป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศมากขึ้น
ทั้งนี้ โครงการ Offline 2 Online เป็นการส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการกลุ่มรากหญ้าทั่วประเทศ ให้เข้าสู่ระบบอี-คอมเมิร์ซโดยเน้นการพัฒนาเกี่ยวกับเทคนิคการตลาดออนไลน์ การสร้างเรื่องราวให้สินค้า การบริหารจัดการการซื้อขายผ่านระบบออนไลน์