
กระบี่ ไม่ใช่ กระบี่
สถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่ค่อยสู้ดีในบ้านเราทุกวันนี้ ความสามัคคีดูจะเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาปลุกใจคนในชาติอยู่เป็นประจำ
ล่าสุดหลังจากที่รัฐบาลลงมติให้มีโครงการ "ไทยสามัคคี ไทยเข้มแข็ง" โดยกำหนดให้จัดงานทั่วทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ กระบี่ได้เป็นจังหวัดแรกที่มีการร่วมร้องเพลงชาติกันอย่างพร้อมเพรียง
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากการปลูกจิตสำนึกเรื่องความสามัคคีแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือการเรียนรู้ถึงความแตกต่าง ความหลากหลาย เพื่อนำมาซึ่งความเข้าใจ
ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างชื่อจังหวัด “กระบี่” ที่เราทึกทักว่าเป็นคำในภาษาไทยนั้น ความจริงแล้ว เป็นภาษามลายู ซึ่งยังไม่รู้แน่ชัดว่ามาจากคำใดระหว่าง “กือลูบี” (Kelubi) กับ “กัวลาบี” หรือ “กราบี” (Guala Bea)
“กือลูบี” เป็นต้นไม้ชนิดหนึ่ง คนทางภาคใต้เรียกกันว่า “ลูกหลุมพี” เป็นพืชตระกูลเดียวกับสละและระกำ
ส่วน “กัวลาบี” หรือ “กราบี” นั้น แยกเป็น 2 คำ ได้แก่ “กัวลา” หรือ “กรา” แปลว่า ปากน้ำ และ “บี” แปลว่า เก็บภาษี สรุปแล้ว กัวลาบี หมายถึง ปากน้ำ อันเป็นที่เก็บภาษี หรือ ด่านขนอน นั่นเอง
ข้อสันนิษฐานทั้ง 2 ข้างต้น ฟังดูก็น่าเชื่อถือด้วยกันทั้งคู่ ตัดสินใจไม่ถูกว่าจะเชื่อข้อไหนดี แต่ที่แน่ๆ สัญลักษณ์ของ จ.กระบี่ ซึ่งเป็นรูปกระบี่ไขว้นั้น ตามประวัติมีอยู่ว่า มีการขุดพบดาบที่บ้านนาหลวง แขวงเมืองปกาไส จึงมีผู้นำขึ้นถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาเมื่อมีการยกฐานะแขวงเมืองปกาไสขึ้นเป็นเมืองกระบี่ ทางการจึงใช้รูปดังกล่าวเป็นสัญลักษณ์จังหวัดนั่นเอง!
ไม่ว่าข้อสันนิษฐานใดจะเป็นคำตอบที่ถูกต้อง แต่อย่างน้อยการได้ทราบถึงที่มาของคำ ก็ทำให้เราเรียนรู้ความหลากหลายทางเชื้อชาติ ภาษา และวัฒนธรรมที่หลอมรวมกันเป็น "ชาติไทย” เป็น “คนไทย” อย่างในทุกวันนี้
" เรือนอินทร์ หน้าพระลาน"