ข่าว

สักการะ "วัดชลธาราสิงเห" ตากใบ
ย้อนตำนานวัดพิทักษ์แผ่นดินไทย

สักการะ "วัดชลธาราสิงเห" ตากใบ ย้อนตำนานวัดพิทักษ์แผ่นดินไทย

30 ก.ย. 2552

"ช่วงนี้คนน้อยมาก มีนักท่องเที่ยวเข้ามาไม่ถึงสัปดาห์ละ 10 คน" เป็นคำพูดด้วยน้ำเสียงราบเรียบ แต่แฝงด้วยความรู้สึกหดหู่ในสถานการณ์บ้านเมืองของเจ้าหน้าที่ที่รับอาสามาดูแล "วัดชลธาราสิงเห" วัดเก่าแก่ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ 3 ต.เจ๊ะเห อ.ตากใบ จ.นราธิวาส

  เมื่อมองดูสภาพของวัดที่ยังคงสวยงาม เรียบสงบ ทั้งยังทรงคุณค่าทั้งในเชิงประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม และประเพณีวัฒนธรรม ก็ให้น่าสลดหดหู่ใจตามเจ้าหน้าที่คนนั้นเสียจริงๆ เพราะวัดริมแม่น้ำตากใบแห่งนี้มีดีเกินกว่าที่จะปล่อยให้ทิ้งร้างเฉยๆ เช่นทุกวันนี้

 ตำนานของวัดชลธาราสิงเห ซึ่งได้รับการขนามนามว่า "วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย" เกิดขึ้นในยุคการล่าอาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษ เมื่ออังกฤษหวังจะฮุบดินแดน อ.ตากใบ อ.แว้ง อ.สุไหงปาดี และ อ.สุไหงโก-ลก ไปรวมเป็น "ประเทศมลายู" ภายใต้การปกครองของอังกฤษ

 โชคดีที่ทางการสยามใช้วัดแห่งนี้เป็นหลักฐานประกอบบ่งบอกถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรม เพื่อแย้งว่าพื้นที่นี้อยู่ในดินแดนสยาม ซึ่งก็เป็นเหตุผลที่ฟังขึ้น จึงทำให้พื้นฝั่งนี้ของแม่น้ำตากใบยังคงอยู่ภายใต้สยามประเทศสืบมาจนถึงทุกวันนี้

 แม้เหตุการณ์จะล่วงเลยมาร่วมร้อยปีแล้ว แต่บรรยากาศของวัดแห่งนี้ก็ยังคงสวยงาม และเงียบสงบมิเปลี่ยนแปร พอก้าวผ่านด่านทหารที่รักษาการณ์ภายในวัด ยักษ์ 2 ตนยังยืนตระหง่านปกป้องรักษาพระอุโบสถ ซึ่งตามหลักฐานปรากฏว่า สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5

 รูปแบบทางสถาปัตยกรรมของพระอุโบสถสะท้อนรูปแบบศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ชัดเจน สังเกตง่ายๆ จากรูปปูนปั้นบนหน้าบันเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ซึ่งถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของกรุงเทพมหานครด้วยเช่นกัน รวมทั้งหลังคาซ้อน 3 ชั้น มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์

 อย่างไรก็ตามเนื่องจากสถานการณ์ที่ยังไม่น่าไว้วางใจนัก การเข้าไปชมพระอุโบสถจึงต้องเข้มงวดขึ้นไม่น้อย โดยต้องอาศัยไหว้วานลุงที่ดูแลวัดช่วยเปิดประตูพระอุโบสถให้ถึงจะมีโอกาสเข้าไปสักการะ "หลวงพ่อใหญ่" องค์พระประธานที่ประดิษฐานอยู่ภายใน

 พระประธานในโบสถ์ส่องประกายมลังเมลือง เพราะถูกปิดทองทับทั่วทั้งองค์ พุทธลักษณะคล้ายเป็นศิลปะรามัญ หรือมอญ ภายในอุโบสถมีจิตรกรรมฝาผนังกินพื้นที่สามด้านของผนัง รวมแล้วประมาณ 190 ตารางเมตร

 เรื่องราวเป็นการผสมผสานกันระหว่างพุทธประวัติ ลายเทพชุมนุม และชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา

 แต่ที่แปลกตากว่าใครคือ ภาพแสดงการค้าขายของชาวจีนในสมัยนั้น เขียนด้วยสีฝุ่น ใช้สีสันฉูดฉาด และยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ เป็นฝีมือของพระภิกษุชาวสงขลา ซึ่งรูปแบบการเรียบเรียง และเขียนภาพแตกต่างจากช่างในสมัยเดียวกันอย่างมาก

 ถัดจากพระอุโบสถไม่ไกลจะมี "วิหารพระพุทธไสยาสน์" สันนิษฐานว่า สร้างก่อนสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา เป็นพระปูนติดกระเบื้องทอง ความยาวจากยอดพระเศียรถึงฝ่าพระพุทธบาท ยาวประมาณ 8 เมตรเศษ ประดับด้วยเครื่องใช้สังคโลก

 ขณะที่บนศาลาการปเรียญหลังเก่ายังถูกใช้เป็น "พิพิธภัณฑ์" จัดรวบรวมสิ่งของต่างๆ เช่น ธรรมาสน์ลงรักปิดทองที่รัชกาลที่ 6 ทรงสร้างอุทิศถวายเป็นพระราชกุศลแด่รัชกาลที่ 5 ตู้เก็บพระไตรปิฎกลงรักปิดทอง พระพุทธรูป ตาลปัตร พัดยศลวดลายไม้ฉลุลายลงสี ฯลฯ

 นอกจากนี้ยังมีรูปปั้นจำลองการลงนามที่สยามจำต้องยกดินแดนรัฐกลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี และ ปะลิส ให้แก่อังกฤษ ก่อนที่จะสามารถใช้วัดแห่งนี้รักษาดินแดนบางส่วนไว้ได้อย่างหวุดหวิด

 เสียดายที่สถานการณ์ความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้มาเป็นอุปสรรคขัดขวางไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเยี่ยมชมความสวยงาม และซึมซับคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของวัดในฐานะที่เป็น "วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย" ที่ลูกหลานไทยจะต้องสืบปณิธานของบรรพบุรุษให้จงได้

"กิตตินันท์ รอดสพรรณ"
[email protected]