
"พ่อนรต."ฝึกโดดร่มไม่กางติดใจอุทธรณ์คดีแพ่ง
ศาลแพ่งสั่งชดใช้ 2.7 ล้านครอบครัวนรต.ฝึกโดดร่มไม่กางเสียชีวิตพ่อติดใจอุทธรณ์ บอกตัวเลขความเสียหายไม่สำคัญ แต่อยากให้คนที่ต้องรับผิดได้รับโทษ
ที่ห้องพิจารณา 703 ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดอ่านคำพิพากษาคดี พ.250/2559 ที่นายสาธร พุทธชัยยงค์ อายุ 55 ปี บิดาของนักเรียนนายร้อยตำรวจ (นรต.) ชยากร พุทธชัยยงค์ หรือน้องโยโย่ อายุ 19 ปี ที่ฝึกกระโดดร่มแล้วไม่กาง จนเสียชีวิต ที่ จ.เพชรบุรี เมื่อปี 2557 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) , บริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด , พล.อ.อ.วีรนันท์ หาญสวธา กก.ผจก.บจก.อุตสาหกรรมการบิน , ร.ต.กณพ อยู่สุข ผู้จัดการศูนย์ซ่อมอากาศยาน ลพบุรี , พันจ่าอากาศเอก ( พ.อ.อ.)สมชาย อำภา ช่างซ่อมอากาศยานผู้ทำการติดตั้งสายสลิง , จ.อ.กีรติ สุริโย ช่างซ่อมอากาศยาน ผู้ทำการติดตั้งสายสลิง , จ.อ.รัชเดช เถาว์เพ็ง ช่างเทคนิคผู้ทำการติดตั้งสายสลิง , ร.ท.สมเจต สวัสดิรักษา ผู้จัดการแผนกตรวจรอยร้าวโดยไม่ทำลาย ผู้จัดหาและประสานงานจัดหาสายสลิงดัดแปลง , นายวัชรพงษ์ วงศ์สุบรรณ นายตรวจอากาศยานศูนย์ซ่อม ผู้ประสานงานและสั่งให้มีการจัดหาสายสลิงนำมาดัดแปลง และนายสุพร ธนบดี ผู้จัดการกองซ่อมบำรุงอากาศยานตำรวจ บมจ. การบินไทย เป็นจำเลยที่ 1-10 เรื่องละเมิด โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเนื่องจากสายสลิงที่ใช้ในการกระตุกร่มหลักขาดหลุดออกจากปลอกรัด ทำให้สายสลิงกระตุกร่มหลักไม่กลาง เป็นเหตุให้ นรต.ชยากร ที่ฝึกกระโดนร่มถึงแก่ความตาย จึงขอให้จำเลยทั้งสิบร่วมกันชดใช้เงินค่าเสียหาย 49,550,400 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าจัดการศพ และค่าขาดไร้อุปการะ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี โดยคดียื่นฟ้องเมื่อวันที่ 20 ม.ค.59
ขณะที่วันนี้นายสาธร พุทธชัยยงค์ บิดาของ นรต.ชยากร ซึ่งเป็นโจทก์ เดินทางมาพร้อมครอบครัว และนายอนันต์ชัย ไชยเดช ทนายความ เพื่อฟังคำพิพากษา ส่วนตัวจำเลย มิได้เดินทางมาศาลคงมีเพียงทนายความ รับมอบอำนาจ มาร่วมฟังคำพิพากษาแทน
เมื่อถึงเวลานัด ศาลได้อ่านคำพิพากษา ซึ่งศาลแพ่ง พิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วเห็นว่า บมจ.การบินไทย จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ซ่อมแซมเครื่องบิน ให้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ในฐานะเป็นผู้รับจ้าง ส่วน บจก.อุตสาหกรรมการบิน จำเลยที่ 2 เป็นบริษัทรับจ้างช่วง จาก บมจ.การบินไทย จำเลยที่ 1โดยมีหน้าที่จัดซื้อ จัดหาอะไหล่ และอุปกรณ์สำหรับเครื่องบินสำเลียงฝึกกระโดดร่มแบบ "คาซ่า" รวมทั้งจัดซื้อสายสลิงกระโดดร่ม โดยขณะเกิดเหตุปี 2556 -2557 สตช.ได้จัดฝึกกระโดดร่มของนักเรียนนายร้อยตำรวจประจำปีการศึกษา ที่ จ.เพชรบุรี โดยนายสุพร ธนบดี ผจก.กองซ่อมบำรุงอากาศยานตำรวจ บมจ. การบินไทย จำเลยที่ 10 มีหน้าที่ควบคุมดูแลการซ่อมแซมอุปกรณ์ ส่วนพันจ่าอากาศเอก (พ.อ.อ.) สมชาย อำภา , จ.อ.กีรติ สุริโย ซึ่งเป็นช่างซ่อมอากาศยาน ผู้ทำการติดตั้งสายสลิง และ จ.อ.รัชเดช เถาว์เพ็ง ช่างเทคนิคผู้ทำการติดตั้งสายสลิงจำเลย 5-7 มีหน้าที่ควบคุมกำกับดูแลตามลำดับชั้น โดยเมื่อมีการตรวจสอบการติดตั้งสลิงพบว่าสายสลิงไม่ได้มาตรฐานไม่แน่นหนาไม่มีความสมมาตรที่ปลายสลิงมีรอยตัดเป็นวงรี อีกทั้งมีการเจียรทำให้มีขนาดไม่เท่าเดิม
นอกจากนี้อุปกรณ์ปลอกรัดข้อต่อไม่เหมาะสม โดยมีการแจ้งจำเลยเป็นลำดับชั้นแล้ว กระทั่งมีการแจ้งสายสลิงมีโอกาสชำรุดจากการใช้งานและเกรงว่าจะเป็นอุปสรรคในการฝึกกระโดดร่มหรือการปฏิบัติการทางอากาศ จึงได้แจ้งซ่อมบำรุง โดยมีการจัดหาสายสลิงใหม่มาติดตั้ง ซึ่งการติดตั้งจำเลยที่ 1 , 5-7 , 10 ได้ปฏิบัติด้วยความระมัดระวังตามสมควรแล้ว ดังนั้นความเสียหายจึงไม่ได้เกิดจากการกระทำของ 10 ที่เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3-8 ได้แจ้งถึงเหตุบกพร่องไปตามลำดับชั้น จึงไม่ต้องรับผิด
ส่วน บจก.อุตสาหกรรมการบิน จำเลยที่ 2 และนายวัชรพงษ์ วงศ์สุบรรณ นายตรวจอากาศยานศูนย์ซ่อม จำเลยที่ 9 ซึ่งตามสัญญาในการซ่อมบำรุง ก็จะต้องทำหน้าที่ประสานหาแหล่งที่ซื้อสายสลิงด้วย โดยนายวัชรพงษ์ วงศ์สุบรรณ นายตรวจอากาศยานศูนย์ซ่อม จำเลยที่ 9 ซึ่งมีหน้าที่ประสานงานและจัดหาสายสลิง ได้เลือกซื้อสายสลิงของสไปก้า ที่ภายหลังพบว่าไม่ได้มาตรฐานและไม่มีคุณภาพ ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 9 ซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 ได้ดำเนินการที่ทำให้เกิดการละเมิดแล้ว ดังนั้นจำเลยที่ 2 และที่ 9 ต้องร่วมกันรับผิดฐานละเมิดไปด้วย
ขณะที่การรับผิดต้องชดใช้ค่าเสียหายเพียงใดนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 ต้องดูจากความร้ายแรงและพฤติการณ์แห่งละเมิด ซึ่งต้องพิจารณาตามมาตรา 223 ด้วยที่ว่าค่าเสียหายต้องชดใช้เพียงสถานใดให้พิจารณาจากพฤติการณ์แห่งความผิดว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายก่อยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ซึ่งการฝึกกระโดดร่มของ นรต.ในหลักสูตร จะต้องมีการฝึกภาคทฤษฎี 3 สัปดาห์และภาคปฏิบัติ 10 วัน ในการกระโดดร่มจะมีผู้บังคับบัญชาและครูฝึกควบคุม ขณะที่การฝึกนั้นพบว่าต่อเที่ยวบินมีการกระโดดร่ม 3 ชุด ชุดละ 9 คน โดยการกระโดดคดีนี้เป็นเที่ยวแรก ขณะเกิดเหตุวันที่ 31 มี.ค.57 นรต.ชยากร บุตรของโจทก์ รอกระโดดร่มอยู่ในสำดับที่ 4 ซึ่งก่อนกระโดดครูฝึกจะคล้องสายต่อกับลวดสลิง โดยการกระโดดร่มจะต้องกระโดดห่างกันคนละ 1-2 วินาที จากนั้นเมื่อกระโดดพ้นเครื่องลงไปแล้ว นักเรียนจะต้องตะโกนขานรับ 1-5 หรือหมายถึง 1-5 วินาที เมื่อนับถึง 5 ร่างของนักเรียนควรจะอยู่สูงจากพื้น 700 ฟุต ซึ่งเป็นค่ามาตรฐาน ซึ่งเวลานั้นหากร่มไม่กางนักเรียนจะต้องกระตุกร่มสำรอง
ซึ่งได้ความจากครูฝึกที่อยู่ประจำจุด พยานอีกว่า ขณะเกิดเหตุเมื่อสายสลิงขาด ตัวของ นรต.ชยากรได้สะบัดมาโดนพยานจนล้มไป เมื่อลุกขึ้นมานักเรียนกระโดดร่มที่เหลือก็พ้นจากเครื่องแล้ว เมื่อมองลงไปพบว่าในกลุ่มดังกล่าวมีร่มเล็กของนักกระโดดร่ม 3 คนกางออก แต่ของ นรต.ชยากร และอีกคนไม่กางออก แล้วหลังเกิดเหตุเมื่อมีการตรวจสภาพศพ พบว่า นรต.ชยากร ไม่ได้กระตุกร่มเล็ก (ร่มสำรอง) จากคำเบิกความของพยานรับฟังได้ว่าการฝึกกระโดดร่มจะฝึกทั้งภาคพื้นดิน และการโดดจริงในอากาศ ดังนั้นนักกระโดดร่มย่อมต้องรับทราบถึงหลักปฏิบัติ โดยกรณีร่มหลักไม่กาง นักกระโดดร่มต้องดึงร่มเล็กด้วยมือ ซึ่งเหตุคดีนี้เมื่อสายสลิงกระตุกร่มหลักของนักกระโดดร่มได้หลุดขาดไปตั้งแต่ผู้ตายที่กระโดดเป็นคนที่ 4 แล้ว นักกระโดดร่มคนถัดไปที่เหลือแม้ร่มหลักจะไม่กางเช่นกันก็ได้กระตุกร่มเล็ก (ร่มสำรอง) ออก จึงเห็นว่าเมื่อไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนในกระตุกร่มเล็กก็มีส่วนผิดของตนด้วย ดังนั้นผลแห่งการกระทำมิได้เป็นความประมาทของจำเลยเพียงประการเดียว แต่เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 9 เป็นความประมาทฯ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงมากกว่า จำเลยที่ 2 และที่ 9
ศาลแพ่ง จึงพิพากษาว่า บจก.อุตสาหกรรมการบิน จำเลยที่ 2 และนายวัชรพงษ์ วงศ์สุบรรณ นายตรวจอากาศยานศูนย์ซ่อม จำเลยที่ 9 ซึ่งเป็นพนักงานผู้จัดซื้อสายสลิง ได้กระทำผิดละเมิดต่อนายสาธร โจทก์ โดยรู้อยู่แล้วว่าสายสลิงที่จัดซื้อไม่มีใบรับรองคุณภาพแต่ยังนำสายสลิงกระตุกร่มดังกล่าวที่ไม่มีคุณภาพและมาตรฐานดังกล่าวมาติดตั้งบนเครื่องบินลำเกิดเหตุ เป็นเหตุให้ นรต.ชยากร กระโดดร่มแล้วไม่สามารถกระตุกร่มหลักให้กาง จนตกลงมาถึงแก่ความตาย จึงต้องร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่นายสาธร โจทก์ที่เป็นบิดาของ นรต.ชยากร เป็นค่าปลงศพและจัดการศพ ที่ศาลเห็นควรกำหนดให้ 250,000 บาท และค่าขาดไร้อุปการะ จำนวน 2,500,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,750,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 21 ม.ค.59 ซึ่งเป็นวันหลังจากวันฟ้องคดีนี้เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้กับนายสาธร บิดาของนรต.ชยากร ผู้เสียชีวิต รวมทั้งให้ชำระค่าทนายความแทนโจทก์อีก 10,000 บาทด้วย
ส่วนจำเลยที่ 1 , 3-8 และ 10 พิพากษาให้ยกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่า ไม่ได้กระทำการประมาทเลินเล่อ จนทำให้นรต.ชยากร ต้องเสียชีวิต
ภายหลังฟังคำพิพากษา นายสาธร บิดาของ นรต.ชยากร ผู้เสียชีวิต กล่าวว่า ตนเคารพในคำตัดสินของศาล แต่ไม่เห็นด้วยในประเด็นที่มองว่าลูกชายมีส่วนผิดในการทำให้เกิดเหตุร้ายขึ้นเพราะไม่ดึงร่มเล็กช่วย เพราะในวันเกิดเหตุเป็นการฝึกกระโดดร่มชุดแรก มีนักเรียนนายร้อย จำนวน 9 คน ลูกชายกระโดดเป็นคนที่ 4 ซึ่งเป็นคนแรกที่สายสลิงหลุด โดยมีครูฝึก ก็ให้การเป็นพยานว่า หลังจากที่ลูกชายลวดสลิงหลุดลูกชายเสียการทรงตัวเซไปชนครูฝึก ขอถามคนที่เกี่ยวข้องในการฝึกกระโดดร่มว่า ถ้าเป็นคุณหรือเกิดกับตัวคุณ คุณจะรู้สึกอย่างไร ร่างเขาไปโดนครูจนล้มแล้วร่างก็หลุดออกไปจากประตูเครื่องซึ่งเป็นการร่วงไปในท่าไม่ปกติ อย่างที่ฝึกมาที่ให้นับ 1 ถึง 5
"การฟ้องคดีครั้งนี้ตัวเลขความเสียหายไม่สำคัญ แต่อยากให้คนที่ต้องรับผิดได้รับโทษทางแพ่ง ที่ผ่านมาไม่มีใครมาเยียวยา มีแต่คนโทรมาข่มขู่จะเอาชีวิต"
ขณะที่นายอนันตชัย ไชยเดช ทนายความ กล่าวว่า โจทก์และตนเคารพคำพิพากษาของศาล แต่ยังไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในบางส่วน โดยเฉพาะประเด็นที่ศาลมองว่าผู้ตายมีส่วนในการกระทำผิดด้วย เพราะไม่ได้ดึงร่มสำรองช่วย ซึ่งตนเห็นว่าขณะนั้นผู้ตายมีอาการเซจนไปล้มไปโดนครูฝึกซึ่งอยู่ท้ายเครื่องบิน จึงไม่ได้อยู่ในสภาพที่สามารถดึงร่มช่วยได้ โดยประเด็นนี้ทำให้คำพิพากษาเรื่องค่าเสียหายลดลงขณะเดียวกันคำพิพากษายังเห็นว่าคนที่ติดตั้งสายสลิงทั้งหมดไม่มีความผิด มีความผิดเพียงคนจัดซื้อและ บจก.อุตสาหกรรมการบินที่เป็นนายจ้าง ดังนั้นจะยื่นอุทธรณ์คดีต่อไป
นายอนันต์ชัย ทนายความของครอบครัว นรต.ชยากร กล่าวอีกว่า ค่าเสียหายที่ศาลกำหนดให้นายสาธร 2,750,000 บาทนั้นเฉพาะตัวนายสาธรคนเดียว ส่วนครอบครัว นรต.คนอื่นที่ยื่นฟ้องคดีเป็นโจทก์ที่ 2-4 นั้นได้รับค่าเสียหายในชั้นประนีประนอมยอมความแล้ว จำนวน 2.5 ล้านบาท ไปแล้ว
อย่างไรก็ดีในส่วนของครอบครัว นรต. ชยากร นั้น ยังมีคดีที่ได้ยื่นฟ้อง สตช. ที่ศาลปกครองเพชรบุรีไว้ด้วย ส่วนคดีอาญา พนักงานสอบสวนภูธรภาค 7 ได้ส่งสำนวนสมควรฟ้องผู้ต้องหา 11 รายซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนของ บจก.อุตสาหกรรมการบิน ที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อสายสลิงและติดตั้งอุปกรณ์ , กลุ่มเจ้าหน้าที่ บมจ.การบินไทยที่เป็นผู้จัดการกองซ่อมบำรุงอากาศยาน และกลุ่มเจ้าพนักงานตำรวจกองบินตำรวจที่ติดตามการซ่อมบำรุงนั้น อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา 2 รายซึ่งเป็นผู้บริหารของ บจก.อุตสาหกรรมการบิน โดยขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนรอทำความเห็นของ ตร.ภูธร ภาค 7 ว่าจะมีความเห็นแย้งกับพนักงานอัยการดังกล่าวหรือไม่ เมื่อเช้าโทรไปติดตามผลก็ยังไม่มีความคืบหน้าอะไร ทั้งนี้หาก ตร.ภูธร ภาค 7 เห็นแย้งกับความเห็นของอัยการ ก็ต้องเสนอสำนวนให้อัยการสูงสุดชี้ขาด โดยก่อนหน้านี้ปี 2559 นายสาธร บิดา นรต. ชยากร ก็ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุดไปแล้วเพื่อเร่งรัดการสั่งคดี