ข่าว

"ค้นความจริงพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ไม่เพียงบนบกเท่านั้นที่ประเทศไทยมีปัญหากับประเทศกัมพูชา เพราะล่าสุดพื้นที่ทางทะเลของประเทศไทยบริเวณเกาะกง-เกาะกูด ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการแบ่งพื้นที่ทางทะเลกันอย่างชัดเจน

 แต่ประเทศกัมพูชากลับเปิดให้บริษัทของประเทศญี่ปุ่นจองสิทธิสัมปทานให้มีการเตรียมขุดเจาะน้ำมันในพื้นที่บล็อก 4 ซึ่งเป็นพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา อยู่เช่นกัน รายการ "คม ชัด ลึก" วันพฤหัสบดีที่ 24 กันยายน เสนอเรื่อง "ค้นความจริงพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา" โดยเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาร่วมสนทนา เพื่อพูดคุยถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต


พล.ร.อ.ถนอม เจริญลาภ อดีตเจ้ากรมอุทกศาสตร์กองทัพเรือ/ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกฎหมายทะเลและเขตทางทะเลของประเทศไทย
"ปัจจุบันรบกันด้วยการยึดพื้นที่"

 พื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทย-กัมพูชา มีทั้งหมด 2.6 หมื่นตารางกิโลเมตร ซึ่งทั้งสองประเทศได้ให้สัมปทานร่วมกันเป็นคู่สัญญา เหมือนกรณีไทย-มาเลเซียได้ตกลงเจรจากับบริษัทที่ให้สัมปทานกว่าจะตกลงกันได้ใช้เวลาถึง 7 ปี เช่นเดียวกับกรณีของกัมพูชาก็ต้องทำในลักษณะเดียวกัน แต่คงต้องใช้เวลานาน ในปี 1958 มีอนุสัญญาเจนีวาว่าด้วยไหล่ทวีป โดยนับจากชายฝั่งน้ำลึก 200 เมตรคือไหล่ทะเล มีการตกลงกับประเทศใกล้เคียง โดยตกลงทั้งรัฐประชิดและตรงกันข้ามกับประเทศนั้น สามารถออกกฎหมายและมาร่วมบริหาร เช่น ไทย-มาเลย์ และไทย-เวียดนาม ไม่มีปัญหาอะไร สำหรับไทย-กัมพูชา ยังไม่ถือเป็นข้อพิพาท เพราะข้อพิพาทต้องขึ้นศาล ขณะนี้เป็นเพียงพื้นที่ทับซ้อน สามารถเจรจาร่วมกันได้ ยังไม่น่ามีปัญหาอะไร แต่ละประเทศให้ใครจองสิทธิสัมปทานทำได้ปัจจุบันไม่รบกันด้วยอาวุธ แต่รบกันด้วยการยึดพื้นที่ รบกันด้วยการเจรจาทางปัญญา และเส้นเขตแดนระหว่างสองรัฐต้องมีกฎหมายรองรับ

กวีพล สว่างแผ้ว ผู้ช่วยคณบดีคณะโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยบูรพา
"ไม่มีใครเสียเปรียบ"

 การจองสิทธิสัมปทานในกัมพูชาไม่เกี่ยวกับไทย เราไม่ควรตกใจ เพราะไทย-กัมพูชามีสิทธิในพื้นที่ทางทะเลเท่าเทียมกัน พื้นที่ทับซ้อนไม่ถือว่าเป็นข้อพิพาท ยังคงใช้ขั้นตอนทางการทูตและคงไม่ใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบกัน อยากให้ทุกฝ่ายสบายใจ และเท่าที่ดูสนธิสัญญาเป็นเรื่องการปักปันดินแดนระหว่างไทย-กัมพูชา แต่ทางกฎหมายทะเลระบุการกำหนดจากทะเลให้เริ่มจุดสุดท้ายทางบกก่อนเริ่มปักปันเขตทางทะเล 

เทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการอิสระ ด้านประวัติศาสตร์
"เราต้องประท้วงกัมพูชาเปิดสิทธิสัมปทาน"
 

 เรื่องนี้เราต้องกังวล เพราะการที่กัมพูชาให้สิทธิสัมปทานเราต้องคิดถึงข้อตกลงปี 2544 ที่รัฐมนตรีต่างประเทศ สุรเกียรติ์ เสถียรไทย เคยไปทำไว้กับนายซก อาน มีสารคัญคือ ต้องมีการปักปันเขตแดนบนบกก่อนถึงแบ่งเขตแดนทางทะเล ดังนั้นการกระทำของกัมพูชาถือว่าละเมิดข้อตกลง กรณีไปให้สิทธิสัมปทานก่อน และรู้สึกกังวลที่กัมพูชามักใช้แผนที่ 1 ต่อ 2 แสนตารางกิโลเมตร เป็นแผนที่ไปอ้างสิทธิทางทะเล ซึ่งเป็นแผนที่ผ่ากลางเกาะกูดของไทยโดยกระทรวงต่างประเทศไทยทักท้วง เราจึงต้องอ้างสนธิสัญญาสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ฝรั่งเศสระบุยกเกาะกูดให้ไทย เพราะต่อไปอาจมีปัญหาการอ้างสิทธิ

 ดังนั้นในขณะนี้เราต้องประกาศว่าไม่มีพื้นที่ทับซ้อน นักวิชาการต้องมานั่งคุยกันให้เป็นเนื้อเดียวกัน การที่กัมพูชาให้สิทธิสัมปทานแก่ประเทศญี่นั้น ไม่ถูกต้อง เราต้องประท้วง หากไม่ประท้วงเท่ากับเป็นการยอมรับ จริงๆ เราไม่มีพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ