ข่าว

"ดอนมดแดง"เกาะประวัติศาสตร์ชาวอุบลฯ

"ดอนมดแดง"เกาะประวัติศาสตร์ชาวอุบลฯ

25 ก.ย. 2552

อ.ดอนมดแดง จ.อุบลราชธานี ชื่ออำเภอได้ถูกตั้งตามเกาะดอนมดแดง อันเป็นพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับ จ.อุบลราชธานีในฐานะเป็นที่ตั้งแห่งแรกของผู้ก่อตั้งเมืองอุบลฯ

 คำว่า “ดอน” หมายถึงที่สูง ตรงข้ามกับที่ลุ่ม ที่เขิน เนิน โคก โขด เขิน แต่ในภาษาถิ่นอีสานจะเรียกเกาะในแม่นํ้าว่า ดอน เช่น ดอนมดแดง เกาะขนาดใหญ่ ที่โอบล้อมด้วยแม่น้ำมูลน้อย และมูลใหญ่ใน จ.อุบลราชธานี

 นามานุกรมภูมิศาสตร์ จ.อุบลราชธานี จัดทำโดยสำนักศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏอุบลราชธานี กล่าวถึง ดอนมดแดงว่า เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ น้ำท่วมขังและมีมดแดงชุกชุมมาก
 
 ความเป็นมาของดอนมดแดงที่เกี่ยวข้องกับเมืองอุบลราชธานีมีกล่าวถึงใน ตำนานเมืองอุบลฯ ว่า หลังที่เจ้าพระตา และเจ้าพระวรราชภักดี (สามัญชนมักเรียกย่อว่า พระวอ) 2 คนพี่น้องเสนาบดีจากกรุงศรีสัตนาคนหุต สมัยพระเจ้าชัยเชษฐาธิราชที่ 2 (ชัยองค์เว้) เกิดเหตุไม่ปรองดองกันในหมู่เสนาและเจ้าพระตา เจ้าพระวอถูกให้ร้ายว่าจะชิงราชสมบัติ ทั้งสองจึงชักชวนสมัครพรรคพวกพากันอพยพครอบครัวบ่าวไพร่จากเวียงจันทน์ไปอยู่เขตเมืองหนองบัวลุ่มภู

 ต่อมาได้เกิดศึกกับพม่าที่ไปเข้าข้างฝ่ายเวียงจันทน์ส่งกองทัพมาล้อมจนเจ้าพระตาต้องเสียชีวิตในสนามรบ ส่วนเจ้าพระวอตีฝ่าวงล้อมออกมาได้ลงไปอาศัยพระเจ้าองค์หลวง (เจ้าไชยกุมาร) พระเจ้านครจำปาศักดิ์ ตั้งมั่นอยู่ที่ ดอนมดแดง ไปพลาง

 อยู่มาได้ 4 ปี เจ้าพระวอฯ เกิดขัดใจกับเจ้านครจำปาศักดิ์ จึงยกกำลังผู้คนมาตั้งซ่องสุมอยู่ที่ ดอนมดแดง อีก และแต่งเครื่องราชบรรณาการไปถึงเมืองนครราชสีมา ขอเป็นเมืองขึ้นกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้ากรุงธนจึงโปรดให้เจ้าพระวอ กับพวกตั้งบ้านเรือนอยู่ ดอนมดแดง เป็นขอบขัณฑสีมาสืบไป

 กระทั่ง เจ้าพระวอทำศึกกับกองทัพเวียงจันทน์แต่ต้านไม่ได้ ต้องล่าถอยจากดอนมดแดงไปตั้งอยู่บ้านเวียงฆ้อนกลอง และถูกสังหารในปี 2320

 จากนั้นบ้านเมืองก็ได้เปลี่ยนผู้ปกครองที่ตั้งโดยพระเจ้ากรุงธน และเปลี่ยนย้ายบ้านเมืองจนมาตั้งที่ห้วยแจะระแมเป็นเมืองอุบลราชธานีปัจจุบัน
         
"เรือนอินทร์ หน้าพระลาน"