ข่าว

"อัยการ"ชี้ที่ดินอัลไพน์ต้องแก้ให้ถูกทางเยียวยาผู้สุจริต

"อัยการ"ชี้ที่ดินอัลไพน์ต้องแก้ให้ถูกทางเยียวยาผู้สุจริต

31 ส.ค. 2560

"อัยการธนกฤต"ชี้คดีที่ดินอัลไพน์ มรดกโอนที่ให้วัดยังมีปัญหาตามแก้ที่ดินโอนไม่ชอบหลังตัดสินคดีอาญา"ยงยุทธ"ยกแรกห่วงมหาดไทย ดันสำนักพุทธชงพ.ร.บ.โอนกรรมสิทธิ์

                31 ส.ค.60 นายธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ได้แสดงความเห็นทางวิชาการเกี่ยวกับ ที่ธรณีสงฆ์ของวัดธรรมิการามในคดีอัลไพน์ ภายหลังจากที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 29 ส.ค.ที่ผ่านมา ให้จำคุก 2 ปีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ  โดยไม่รอลงอาญา ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม. 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือทุจริตหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต จากการที่นายยงยุทธ ขณะรักษาราชการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ให้เพิกถอน คำสั่งอธิบดีกรมที่ดินซึ่งเพิกถอนรายการจดทะเบียนโอนที่ธรณีสงฆ์ที่นางเนื่อม ชำนาญชาติศักดา ทำพินัยกรรมยกให้วัดธรรมิการามว่า ในส่วนของคดีอาญาจะมีความชัดเจนในเรื่องการดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามกฎหมาย และดูเหมือนจะทำให้มหากาพย์ที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ใกล้จะถึงตอนอวสานหลังจากยืดเยื้อมานาน แต่ในความเป็นจริงแล้วอาจจะไม่ได้เป็นอย่างนั้น เนื่องจากที่ธรณีสงฆ์ของวัดธรรมิการาม ตอนนี้ได้เป็นสนามกอล์ฟบ้าง เป็นบ้านจัดสรรบ้าง ที่ดินจัดสรรบ้าง ซึ่งยังคงเป็นปัญหาให้ต้องหาแนวทางแก้ไขต่อไป ว่าจะดำเนินการอย่างไรกับที่ดินเหล่านี้ซึ่งถูกโอนไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

               นายธนกฤต กล่าวอีกว่า หลายปีที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทย ได้เสนอความเห็นให้มีการตราพระราชบัญญัติเพื่อโอนที่ธรณีสงฆ์ของวัดธรรมิการามซึ่งนางเนื่อมทำพินัยกรรมยกให้แก่วัด เพื่อเป็นการเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบ จึงเป็นที่มาของการออกคำสั่งตั้งคณะกรรมการยกร่างกฎหมายโอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์ของวัดธรรมิการาม เมื่อวันที่ 27 พ.ย.58 ซึ่งต่อมาคณะกรรมการยกร่างกฎหมาย ฯ ได้มีคำสั่งลงวันที่ 4 มี.ค.59 แต่งตั้งคณะทำงานดำเนินการจัดทำร่างกฎหมายโอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์ของวัดธรรมิการาม โดยหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบในการจัดทำร่างกฎหมายคือกระทรวงมหาดไทยและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และมีผู้แทนของส่วนราชการอื่นเข้าร่วมในการพิจารณาและจัดทำร่างกฎหมายด้วย ขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติโอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์ของวัดธรรมิการามได้จัดทำเสร็จเรียบร้อยแล้วและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการเสนอร่างกฎหมายได้นำร่างกฎหมายเผยแพร่ลงในเว็บไซต์ http://www.lawamendment.go.th/index.php/laws-department/item/1116-7-23-60 เพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง และวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายก่อนที่จะมีการตรากฎหมาย ในช่วงระหว่างวันที่ 7 -23 ส.ค.60 เพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฯ ปี 2560 มาตรา 77 ก่อนที่จะส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

            โดยร่างพระราชบัญญัติโอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์นี้ มี 5 มาตรา เนื้อหาสำคัญที่บัญญัติให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์ของวัดธรรมิการาม ซึ่งตั้งอยู่ในโฉนดที่ดิน 2 ฉบับ โฉนดที่ดินฉบับแรกมีเนื้อที่ราว 730 ไร่ โฉนดฉบับที่สองมีเนื้อที่ราว 194 ไร่ รวมเนื้อที่ราว 924 ไร่ ให้แก่มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางเนื่อม โดยให้มีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ 21 ส.ค.33 โดยให้ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมและภาษีอากร และให้การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดินและการดำเนินการใดตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน เกี่ยวกับโฉนดที่ดินทั้ง 2 ฉบับ ซึ่งได้กระทำลงภายหลังจากที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์ดังกล่าวจนถึงวันที่ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลใช้บังคับ ให้เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย

               ซึ่งสาเหตุที่ต้องมีการโอนที่ธรณีสงฆ์ให้แก่มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ก็เนื่องจากจุดเริ่มต้นของปัญหาการโอนที่ดินไม่ชอบด้วยกฎหมายมาจากการที่มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยในฐานะผู้จัดการมรดกของนางเนื่อม จดทะเบียนโอนที่ดินที่นางเนื่อมทำพินัยกรรมยกให้วัดธรรมิการามมาเป็นของตนเองในวันที่ 21 ส.ค.33 และในวันเดียวกันนั้นเองมูลนิธิ ฯ ก็จดทะเบียนโอนขายที่ดินมรดกตามโฉนดทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวให้แก่บริษัท อัลไพน์เรียลเอสเตท จำกัด และบริษัท อัลไพน์ กอล์ฟแอนด์สปอร์ตคลับ จำกัด ซึ่งมูลนิธิฯ ไม่สามารถจดทะเบียนโอนที่ดินมรดกของนางเนื่อม มาเป็นของตนเองได้เพราะนางเนื่อมไม่ได้ยกที่ดินให้มูลนิธิ ฯ แต่ยกให้แก่วัด ส่วนมูลนิธิฯ มีชื่ออยู่ในโฉนดที่ดินได้เพียงในฐานะผู้จัดการมรดกของนางเนื่อมเท่านั้นแต่ไม่มีสิทธิจดทะเบียนโอนที่ดินให้มาเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง เนื่องจากตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 34 การโอนที่ธรณีสงฆ์ จะต้องกระทำโดยพระราชบัญญัติ จะจดทะเบียนทำนิติกรรมการโอนให้แก่กันเหมือนที่ดินทั่วไปไม่ได้ ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จึงต้องแก้ปมปัญหาตรงนี้ให้ได้เพื่อทำให้มูลนิธิ ฯ สามารถเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินมรดกของนางเนื่อมซึ่งเป็นที่ธรณีสงฆ์ได้ จึงได้บัญญัติให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์ของวัดธรรมิการามให้แก่มูลนิธิฯโดยให้มีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ 21 ส.ค.33 ซึ่งเป็นวันที่มูลนิธิฯ จดทะเบียนโอนที่ธรณีสงฆ์ของวัดมาเป็นของตนเองเสียก่อน เพื่อแก้ไขสิ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายให้กลายมาเป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมาย 

               จากนั้นร่างกฎหมายฉบับนี้ก็บัญญัติต่อไปว่า ให้การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในที่ดินและการจัดสรรที่ดินใดๆ ที่เกี่ยวกับโฉนดที่ดินทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวที่ได้ทำภายหลังจากที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์ให้แก่มูลนิธิ ฯ ตั้งแต่วันที่ 21 ส.ค.33 เป็นต้นมา ตามที่ให้มีผลย้อนหลังดังที่กล่าวไปให้เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายจนถึงวันที่กฎหมายฉบับนี้มีผลใช้บังคับซึ่งจะส่งผลเป็นการรับรองให้การจดทะเบียนโอนขายที่ดินมรดกจำนวนประมาณ 924 ไร่ของมูลนิธิ ฯ ให้แก่บริษัททั้ง 2 ดังที่กล่าวไป รวมทั้งการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในที่ดินและการจัดสรรที่ดินใด ๆ ที่ทำลงเกี่ยวกับโฉนดที่ดินทั้ง 2 ฉบับ ต่อ ๆ มา เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายด้วย

               นายธนกฤต ยังระบุต่อว่า การที่กระทรวงมหาดไทยผลักดันให้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ผ่านสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ถึงแม้จะมีความประสงค์ต้องการเยียวยาความเสียหายให้แก่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบและหลีกเลี่ยงความเสียหายที่รัฐและเจ้าหน้าที่รัฐอาจต้องเข้าไปรับผิดชอบ แต่ก็เป็นเรื่องเกี่ยวโยงกับที่ธรณีสงฆ์ซึ่งเป็นสมบัติของพระศาสนา จึงเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง นอกจากจะพิจารณาถึงความเดือดร้อนแล้วจึงควรต้องพิจารณาถึงความสุจริตของผู้รับโอนที่ดินมรดกด้วย เพื่อให้การเยียวยาให้ความช่วยเหลือมีความเหมาะสมและเป็นธรรมอย่างแท้จริง

               โดยหากพิจารณาถึงที่ดินที่มูลนิธิ ฯ จดทะเบียนโอนขายให้แก่บริษัททั้ง 2 แห่งไป มีทั้งส่วนที่นำไปทำเป็นสนามกอล์ฟ และส่วนที่นำไปจัดสรรที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดินและมีการปลูกบ้านบนที่ดินให้ประชาชนเข้าอยู่อาศัยแล้ว ซึ่งคงต้องมาพิจารณาว่าที่ดินที่นำไปจัดสรรให้ประชาชนอยู่อาศัยมีจำนวนเท่าใด ที่ดินที่นำไปทำเป็นสนามกอล์ฟมีจำนวนเท่าใด จึงมีข้อสังเกตว่าร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ถึงแม้จะเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์ให้แก่มูลนิธิ ฯ แต่ก็มีวัตถุประสงค์เป็นการรับรองการโอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์ให้กับผู้รับโอนที่ดินของวัดที่ผ่านมาทุก ๆ รายให้ชอบด้วยกฎหมาย  การพิจารณาไปถึงด้วยว่าผู้รับโอนส่วนใดสุจริต ส่วนใดไม่สุจริต ในการรับโอนที่ดินของวัดมาเป็นของตน เมื่อเปรียบเทียบกับการเยียวยาความเสียหายผู้รับโอนทุกรายแบบเหมาเข่ง จึงเป็นข้อที่น่านำมาชั่งน้ำหนักพิจารณาประกอบด้วยว่าแนวทางใดจะเหมาะสมและเป็นธรรมมากกว่ากัน

               อย่างไรก็ตาม ข้อห่วงใยในหลาย ๆ เรื่อง หากจะมีการเพิกถอนคำสั่งปลัดกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวแล้วทำให้ที่ดินกลับคืนไปเป็นของวัดตามเดิมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ก็เป็นสิ่งที่ต้องนำมาคำนึงถึงประกอบกันด้วย เพื่อให้การเยียวยาแก้ปัญหาความเดือดร้อนมีความเหมาะสมและเป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่วัดเป็นเจ้าของที่ดิน แต่ไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์สิ่งปลูกสร้างบนที่ดินที่สร้างขึ้นในภายหลัง หากคืนที่ดินให้วัดแล้วจะดำเนินการกับสิ่งปลูกสร้างเหล่านี้อย่างไร ค่าธรรมเนียมที่รัฐได้รับมาต้องมีการคืนให้แก่บรรดาผู้รับโอนที่ดินหรือไม่ สถาบันการเงินต่าง ๆ ซึ่งเป็นผู้ให้สินเชื่อในการซื้อที่ดินจะเรียกคืนเงินกู้หรือไม่ หากที่ดินที่เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันกลับคืนไปเป็นของวัดแล้ว รวมทั้งบรรดาภาระติดพันที่เกิดขึ้นบนที่ดิน ไม่ว่าจะเป็นการจำนอง ภาระจำยอม ขายฝาก ทางจำเป็น การครอบครองปรปักษ์ จะดำเนินการอย่างไร นอกจากนี้ หน่วยงานรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐจะถูกฟ้องร้องดำเนินคดีและมีความรับผิดตามกฎหมายด้วยหรือไม่ เพียงใด

               ฉะนั้นร่างพระราชบัญญัติโอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์ของวัดธรรมิการามฉบับนี้ จึงควรมีการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะที่กว้างขวางให้ ทั่วถึง อย่างรอบคอบและรัดกุมเพียงพอ จากบรรดาผู้เกี่ยวข้องทั้งส่วนราชการและประชาชน การรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์ http://www.lawamendment.go.th เป็นระยะเวลา 15 วัน แม้จะถือว่าได้ปฏิบัติตามแนวทางที่มติคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบไว้แล้ว แต่ก็ยังไม่น่าจะเพียงพอ และคงต้องดูกันต่อไปว่ากระทรวงมหาดไทยและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจะหาแนวทางดำเนินการที่เหมาะสมและเป็นธรรมต่อกรณีที่ธรณีสงฆ์ของวัดธรรมิการามนี้อย่างไร