ข่าว

"ยิ่งลักษณ์" เตรียมคำแถลงปิดคดีเองคาดใช้เวลา 1 ชั่วโมง

"ยิ่งลักษณ์" เตรียมคำแถลงปิดคดีเองคาดใช้เวลา 1 ชั่วโมง

31 ก.ค. 2560

ทนาย เผย “ยิ่งลักษณ์” เตรียมถ้อยคำปิดคดีจำนำข้าวเอง ยังอุบรายละเอียด คาดใช้เวลาแถลงไม่เกินชั่วโมง ส่วนสิทธิอุทธรณ์คดี ทนายปัด ยังไม่คิด

เมื่อวันที่ 31 ก.ค.60 นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จำเลยคดีปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบโครงการรับจำนำข้าว กล่าวถึงความพร้อมในการแถลงปิดคดีด้วยวาจาของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ว่า ในวันพรุ่งนี้ (1 ส.ค.) เวลา 09.30 น. ศาลกำหนดนัดแถลงปิดคดีนั้น ในส่วนของเนื้อหาที่จะแถลงปิดคดีด้วยวาจาต่อศาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ อดีตนายกฯ เป็นผู้จัดทำถ้อยคำแถลงปิดคดีด้วยวาจาด้วยตนเองโดยคาดว่าลักษณะถ้อยคำจะมีความกระชับเช่นเดียวกันกับการแถลงเปิดคดีในนัดไต่สวนพยานจำเลยนัดแรก แต่ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าจะมีความยาวมากน้อยแค่ไหน เพียงแต่คาดการณ์ว่าการแถลงปิดคดีจะใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง
 
    เมื่อถามว่ามีการศึกษาเรื่องการอุทธรณ์คดีตามหลักบัญญัติในรัฐธรรมนูญฯ ใหม่ พ.ศ.2560 ไว้หรือไม่ นายนรวิชญ์ ทนายความ กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญฯ ใหม่ มาตรา 195 วรรคสี่และวรรคห้านั้น อนุญาตไว้ชัดเจนว่าการอุทธรณ์คำพิพากษา ให้ยื่นคำอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองมีคําพิพากษา
 
    ขณะที่การวินิจฉัยอุทธรณ์ของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ตามวรรคสี่ ให้ดําเนินการโดยองค์คณะที่ประกอบด้วยผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดํารงตําแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาและไม่เคยพิจารณาคดีนั้นมาก่อน โดยการคัดเลือกองค์คณะนั้นให้ได้รับคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จํานวน 9 คน ซึ่งเมื่อองค์คณะดังกล่าวได้วินิจฉัยแล้ว ก็ให้ถือว่าคําวินิจฉัยนั้นเป็นคําวินิจฉัยอุทธรณ์ของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ซึ่งแม้ขณะนี้จะยังไม่มีการออกกฎหมายลูกมาแต่เชื่อว่าแนวทางของกฎหมายลูกย่อมไม่สามารถขัดต่อรัฐธรรมนูญได้โดยจะต้องเป็นไปแนวทางเดียวกันว่าสิทธิในการอุทธรณ์ย่อมสามารถกระทำได้
  
    “ เรายังไม่ได้คิดถึงเรื่องดังกล่าว เราคิดแต่ว่าเราจะทำในขณะนี้ให้ดีและสุดความความสามารถที่เรากระทำได้” นายนรวิชญ์ ทนายความ กล่าว
ส่วนเรื่องคำร้องที่ยื่นให้ศาลฎีกาฯ เพิกถอนคำสั่งที่ไม่ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยข้อกฎหมายนั้น นายนรวิชญ์กล่าวว่า ต้องรอดูวันพรุ่งนี้ศาลฎีกาจะมีคำสั่งในเรื่องนี้อย่างไร ส่วนเราจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญเองโดยตรงหรือไม่นั้น เบื้องต้นเราพบว่ากฎหมายยังไม่เปิดช่อง แต่เราก็กำลังศึกษาในประเด็นนี้กันอยู่เช่นกันว่าจะมีช่องทางทำได้หรือไม่
 
     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส่วนฝั่งอัยการโจทก์นั้น ในวันพรุ่งนี้ (1 ส.ค.) ก็จะติดตามฟังการแถลงปิดคดีด้วยวาจาของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จำเลย ต่อไป โดยในส่วนอัยการก็กำลังจัดทำคำแถลงปิดคดียื่นเป็นลายลักษณ์ต่อศาลภายในวันที่ 15 ส.ค.ตามที่ศาลกำหนด โดยการแถลงปิดคดีจะเป็นการสรุปพยานโจทก์ว่าพยานที่นำสืบมานั้นปากใดที่สนับสนุนข้อกล่าวหาที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยในประเด็นปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด กรณีไม่ยับยั้งโครงการรับจำนำข้าวจนเกิดความเสียหายแก่รัฐที่กระทรวงการคลังได้สรุปความเสียหายทางแพ่งตามที่อนุกรรมการปิดบัญชีสรุปผลไว้ และประเด็นปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตจากการปล่อยให้โครงการรับจำนำข้าวยังดำเนินต่อไปกระทั่งมีการทุจริตของบุคคลในขั้นตอนกับโครงการที่เกี่ยวเนื่อง และข้อโต้แย้งของจำเลยนั้นฟังไม่ได้เพราะอะไร    
 
    อย่างไรก็ดีสำหรับข้อกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตามฐานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริตก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 นั้นระวงโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000 – 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 นั้นระวางโทษจำคุกเช่นเดียวกัน แต่ระวางโทษปรับที่สูงกว่า คือ 20,000 – 200,000 บาท แต่ทั้งนี้การระวางโทษปรับดังกล่าว เป็นคนละส่วนกันกับมูลค่าความเสียหายทางแพ่งซึ่งคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งได้สรุปตัวเลขที่เกิดขึ้นคิดเป็น 20% ของความเสียหายทั้งหมดของโครงการ หรือคิดเป็นมูลค่า 3.57 หมื่นล้านบาท โดยกระทรวงการคลัง ออกคำสั่งการบังคับคดีที่เป็นคำสั่งทางปกครองต่างหาก