
คอนเฟิร์ม !! จัดซื้อ“เรือดำน้ำ”ใสสะอาด
มติผู้ตรวจฯยุติสอบจัดซื้อ“เรือดำน้ำ”ยันขั้นตอนชอบด้วยกฎหมาย พร้อมยกคำร้อง“เรืองไกร”จี้สอบกม.ป.ป.ช. เหตุไม่มีอำนาจตรวจสอบการตรากฎหมาย
26 ก.ค.60 นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงว่า ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีมติยุติการพิจารณากรณีที่สมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ขอให้วินิจฉัยว่าการจัดซื้อเรือด้ำ S-26T ระหว่างกองทัพเรือ กับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน ตามโครงการจัดหาเรือดำน้ำของกระทรวงกลาโหม โดยกองทัพเรือ และคณะรัฐมนตรีไม่ชอบด้วยพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 23 ประกอบพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2560 พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2560 และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการที่ครม.เห็นชอบโดยไม่ได้ขอความเห็นจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 178 หรือไม่ เนื่องจากการดำเนินการตามโครงการดังกล่าว มิได้มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด และกรณีนี้จึงไม่เป็นไปตามมาตรา 230 และ 231 ของรัฐธรรมนูญ ที่ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
นายรักษเกชา กล่าวว่า จากการที่ผู้ตรวจฯได้ขอข้อมูลจากกองทัพเรือ สำนักงบประมาณ พบว่ากองทัพเรือได้เสนอการจัดหาเรือดำน้ำไว้ในคำของบประมาณของกองทัพเรือ ประจำปีงบประมาณ 2560 โดยบรรจุรายการโครงการจัดหาเรือดำน้ำระยะที่ 1 ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เสริมสร้างศักยภาพการป้องกันประเทศ ในลักษณะก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ 2560-2566 ซึ่งเป็นไปตามภารกิจหน้าที่ความรับผิดชอบและยุทธศาสตร์กองทัพเรือ สอดคล้องกับนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งตามพ.ร.บ.งบประมาณ 2502 มาตรา 23 วรรคสาม กำหนดให้ครม.พิจารณาอนุมัติการก่อหนี้ผูกพันภายใน 60 วันนับแต่วันที่พ.ร.บ.งบประมาณใช้บังคับ ซึ่งกรณีนี้ปีงบประมาณ 2560 เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2559 และครม.ได้มีมติอนุมัติให้กองทัพเรือจัดหาเรือดำน้ำเมื่อวันที่ 25 ต.ค.2559 ซึ่งภายในระยะเวลา 60 วันตามที่กฎหมายกำหนด ส่วนมติครม.วันที่ 18 เม.ย.2560 เป็นเพียงการรับทราบการดำเนินงานตามความเห็นของสำนักงบประมาณเท่านั้น
ส่วนกรณีหนังสือสัญญาซื้อขายระหว่างกองทัพเรือกับรัฐบาลจีนนั้น เข้าข่ายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 178 หรือไม่นั้น กรณีนี้ครม.ได้นำความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา และกรมสนธิสัญญาระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ที่มีความเห็นในทำนองเดียวกันว่า การจัดซื้อเรือดำน้ำเป็นการทำสัญญาซื้อขายในเชิงพาณิชย์ ทำนองเดียวกับการทำสัญญาระหว่างเอกชนและเอกชน ไม่ได้อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่มีผลผูกพันต่ออาณาเขตหรืออธิปไตย กรณีนี้จึงไม่จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา และหากครม.เห็นว่าหนังสือสัญญาดังกล่าว ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาฯ ก็สามารถยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้
“เมื่อย้อนกลับไปดูรายละเอียดจะเห็นว่ากองทัพเรือ ได้มีการตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ(กจด.) เพื่อศึกษา โดยริเริ่มมาตั้งแต่ ปี 2537 มีการวางแผนอย่างต่อเนื่อง ปรับเปลี่ยนโครงสร้างให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน สอดคล้องกับนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ การดำเนินการจัดซื้อเรือดำน้ำได้ดำเนินการภายใต้กรอบแผนยุทธศาสตร์ของกองทัพเรือ ไม่ได้เป็นการสร้างภาระแก่ประเทศชาติหรือประชาชนโดยไม่จำเป็น ส่วนความคุ้มค่านั้น ต้องดูหลายอย่างเช่นเรื่องเทคนิค ผู้ตรวจฯไม่สามรถก้าวล่วงได้ทั้งหมด ต้องไปถามกองทัพ แต่ที่ผ่านมายุทโธปกรณ์หลายๆอย่าง ก็มีส่วนช่วยบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนในยามภัยพิบัติได้ ไม่ใช่แค่มีไว้สู้รบอย่างเดียว”นายรักษเกชา กล่าว
ขณะเดียวกันผู้ตรวจฯยังมีมติไม่รับคำร้องกรณีนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย ได้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยว่ากระบวนการตราพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และ พ.ศ.2550 มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ผู้ตรวจฯเห็นว่า บทบัญญัติ มารตรา 231(1) กำหนดอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจฯให้มีหน้าที่และอำนาจเสนอเรื่องที่มีปัญหาเกี่ยวกับบทบัญญัติหรือเนื้อหาของกฎหมายที่เป็นหลักการตรวจสอบภายหลังประกาศใช้เป็นกฎหมายแล้วเท่านั้น มิได้ให้อำนาจผู้ตรวจมีอำนาจเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยกระบวนการตรากฎหมาย ซึ่งเป็นหลักการตรวจสอบก่อนประกาศใช้เป็นกฎหมาย ดังนั้นคำร้องที่อ้างเหตุจากสนช.เข้าประชุมไม่ครบองค์ประชุมในวาระที่ 3 เมื่อวันที่ 14 มี.ค.2550 นั้น ซึ่งเป็นการขอให้วินิจฉัยถึงกระบวนการตราพ.ร.บ.ฯว่าเป็นการตราขึ้นโดยถูกต้องตามรัฐธรรมนูญในขณะนั้นหรือไม่ จึงเป็นคำร้องที่ไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ที่ผู้ตรวจจะเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า มติของผู้ตรวจฯกรณีการจัดซื้อเรือดำน้ำยังไม่พบเหตุที่เกี่ยวโยงไปถึงการทุจริตใช่หรือไม่ นายรักษเกชา กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่พบเหตุของการทุจริต เนื่องจากข้อมูลที่ผู้ตรวจฯดำเนินการตรวจสอบนั้น เป็นไปตามคำร้องทั้ง 3 ประเด็น แต่หากในอนาคตมีเหตุให้ต้องสงสัยว่าเหตุไม่ชอบมาพากลนั้น ก็เป็นสิทธิที่จะยื่นร้องให้ป.ป.ช.ตรวจสอบได้ เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ของป.ป.ช.
ต่อข้อถามที่ว่า ในเมื่อผู้ตรวจฯไม่มีอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยกระบวนการตรากฎหมาย จะส่งผลต่อคำร้องอื่นๆที่เกี่ยวกับกระบวนการตรากฎหมายมิชอบ ด้วยหรือไม่ นายรักษเกชา กล่าว หากเป็นกระบวนการตรากฎหมาย ผู้ตรวจฯไม่มีอำนาจหน้าที่ที่จะพิจารณาวินิจฉัย แต่สามารถใช้ช่องทางอื่นได้ เช่น ช่องทางของ ส.ส. ส.ว. หรือครม. ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดได้