ข่าว

 “พิจิตร” เมืองชาละวัน

“พิจิตร” เมืองชาละวัน

18 ก.ย. 2552

หวาดผวากันทั่วหน้า กรณีจระเข้โผล่ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งสร้างความตื่นเต้นตกใจให้นักท่องเที่ยวไม่น้อยเลย และหากนึกถึงจระเข้ ใครหลายคนคงต้องนึกถึง “ชาละวัน” จระเข้ “เมืองพิจิตร” ที่คนไทยรู้จักกันดี

 สุจิตต์ วงษ์เทศ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี สันนิษฐานว่า เรื่องของชาละวันกับไกรทอง คงจะเป็นคำบอกเล่าที่เก่าแก่มาก โดยยุคแรกๆ อาจเป็นนิทานศักดิ์สิทธิ์ของชุมชนดึกดำบรรพ์ที่ยกย่องจระเข้เป็นบรรพบุรุษในศาสนาผี ต่อมาเมื่อมีการยอมรับนับถือศาสนาพุทธ-พราหมณ์แล้ว ก็มีการแต่งเรื่องเสริมเข้าไปจนมีลักษณะเป็น “นิยาย” กลายเป็นเรื่อง “ไกรทอง” พ่อค้าทางเรือที่ขึ้นล่องค้าขายผ่านลุ่มน้ำน่านถึง “เมืองพิจิตร”

 คำว่า “พิจิตร” แปลว่า งาม, น่าดู, หลากหลาย ดังนั้น เมืองพิจิตร จึงหมายถึงเมืองที่งดงาม แต่ในตำนานและนิทานท้องถิ่นบางสำนวนใช้ว่า “พิจิตรปราการ” ซึ่งแปลว่า เมืองที่มีกำแพงสวยงามและมั่นคง

 การเติบโตของเมืองแห่งนี้ เกิดขึ้นหลัง พ.ศ.1900 จากชุมชนสถานีการค้าริมแม่น้ำน่าน (เก่า) ทางตะวันออก และมีแม่น้ำยมขนาบอีกด้านหนึ่ง โดยตั้งอยู่บนเส้นทางคมนาคมที่เชื่อมระหว่างบ้านเมืองใหญ่ๆ หลายทิศทาง เช่น พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี พิษณุโลก เป็นต้น ดังนั้น กำเนิดของเมืองจึงมีสาเหตุมาจากการขยายตัวทางการเมืองและเศรษฐกิจการค้าที่กว้างขวางขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระนครินทราธิราช

 ชื่อเมืองพิจิตร ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกในพระไอยการตำแหน่งนาทหารหัวเมือง ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ แห่งกรุงศรีอยุธยา (ครองราชย์ พ.ศ.1991-2031) แต่ชื่อดังกล่าว คงถูกใช้มาตั้งแต่สร้างเมืองในรัชกาลสมเด็จพระนครินทราธิราชแล้ว (ครองราชย์ พ.ศ.1952-1967) ดังนั้น พิจิตร เมืองชาละวันแห่งนี้ จึงถือเป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีหลักฐานการเป็นบ้านเป็นเมืองมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ก่อนจะกลายเป็น “จังหวัดพิจิตร” ในสมัยรัชกาลที่ 6 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จวบจนปัจจุบัน

" เรือนอินทร์ หน้าพระลาน"