
ไปดู "แสกต้นสาก" ริมโขงนครพนม รำอาถรรพณ์...สงวนไว้เฉพาะชนเผ่า
ท่ารำ หรือท่าเต้นของหนุ่มสาวชาวเผ่าแสก บริเวณริมแม่น้ำโขง ต.อาจสามารถ อ.เมือง จ.นครพนม ที่ใช้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เรียกว่า "แสกเต้นสาก" แม้จะมีลักษณะคล้ายการละเล่น "ลาวกระทบไม้" เป็นอย่างมาก แต่รากเหง้าความเป็นมากลับแตกต่างกันไปโดยสิ้นเชิง
แสกต้นสากเป็นการละเล่นที่มีคนดึงไม้แสก ซึ่งทำมาจากไม้พะยูงมากระทบกันรวม 5 คู่ โดยความยากของการฟ้อนแสก คือ ผู้ฟ้อนจะต้องลงเท้าให้พอดีกับจังหวะที่คนดึงแสกให้กระทบเข้าหากันอย่างแรงจนได้ยินเสียงกระทบไม้ดังหนักแน่น
ถ้าใครลงเท้าพลาดย่อมหมายถึงความเจ็บปวดจากการถูกไม้หนีบ หรืออาจถึงขั้นกระดูกแตกหักไปเลย หากจังหวะดึงไม้มีความรุนแรงมากพอ ฉะนั้น ช่างฟ้อนจะต้องได้รับการฝึกฝนมาอย่างดีตั้งแต่เด็กจนมีความเชี่ยวชาญเป็นอย่างมาก !!
นอกจากนี้ ความสวยงามของท่าเต้น และเอกลักษณ์ในการแต่งกายที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมประเพณีโบราณของคนริมฝั่งโขง ประกอบกับความเชื่อของคนในชุมชนที่ว่าแสกเต้นสากเป็นท่ารำอันตราย และมีอาถรรพณ์ การฟ้อนแสกจึงมีมนต์เสน่ห์ลึกลับน่าค้นหายิ่ง
มีความเชื่อว่าการรำแสกเต้นสากเป็นวัฒนธรรมของชาวแสกเท่านั้น และห้ามฝึกสอนให้คนเผ่าอื่น หรือนำไปแสดงที่อื่น ไม่เช่นนั้นจะมีอันเป็นไป
การรำแสกเต้นสากจึงไม่เคยแพร่งพรายออกนอกหมู่บ้าน หรือนำไปรำให้ดูที่อื่นเหมือนการฟ้อนรำของชนเผ่าอื่นๆ เลย !!!
ฉะนั้น ชาวแสกจึงจัดให้มีการฟ้อนแสกเฉพาะพิธีการสำคัญในหมู่บ้าน คือ งานบูชา "องหมู้ " หรือบรรพบุรุษของชาวเผ่าแสกที่อพยพมาจากดินแดนที่เป็นประเทศเวียดนามในปัจจุบัน
ชาวแสกจึงนิยมทำ "ศาลเจ้าองหมู้" อยู่ริมฝั่งโขง โดยในปีนี้ชาวบ้านได้จัดพิธีบูชาที่บริเวณศาลเจ้าองหมู้ พร้อมจัดเหล้ายาปลาปิ้ง และเครื่องเซ่นอื่นๆ แต่ที่ขาดไม่ได้เลยจริงๆ การรำแสกเต้นสากเพื่อถวายแด่บรรพบุรุษ
ด้วยเสน่ห์อันลึกลับน่าค้นหานี้ จึงทำให้การรำแสกริมโขงได้รับความสนใจของนักท่องเที่ยวที่สนใจวัฒนธรรมพื้นถิ่นเป็นอย่างยิ่ง และผู้นำท้องถิ่นของที่นี่ก็มีแนวคิดที่จะส่งเสริมให้จัดการท่องเที่ยวในเชิงศิลปวัฒนธรรมเพื่อเป็นทางเลือกของนักท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน
สัญญา จันทะโคตร นายก อบต.อาจสามารถ เปิดเผยว่า อบต.อาจสามารถ มีแนวคิดที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เพราะที่นี่เป็นแหล่งอารยธรรมโบราณของชนเผ่าแสก และยังมีอีกหลายชนเผ่าที่อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขตามหมู่บ้านต่างๆ
ในแต่ละปี อบต.อาจสามารถ จะจัดงบประมาณให้หมู่บ้านละ 20,000 บาท เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมของแต่ละชนเผ่าไม่ให้สูญหายไป ยกตัวอย่างเช่น งานแสกเต้นสาก ที่บ้านอาจสามารถ, งานเลี้ยงผี หรือ "พิธีเสี่ยงทายหอยไต่" บ้านไผ่ล้อม โดยล่าสุดยังได้อนุมัติงบประมาณ 1 ล้านบาท สร้าง "ศูนย์วัฒนธรรมไทแสก" ที่วัดบ้านอาจสามารถเพื่อรวบรวมข้อมูลของชนเผ่าแสกให้นักท่องเที่ยวได้เยี่ยมชม
นอกจากนี้ ยังจัดสรรงบประมาณเป็นกลุ่มทุนอาชีพกลุ่มละ 20,000 บาท และจัดงบขุดลอกหนองหรือลำห้วยเป็นแหล่งน้ำทำการเกษตรหน้าแล้ง นอกจากอาชีพหลักชาวบ้าน คือ เกษตรกรรม และเลี้ยงปลากระชังในลำน้ำโขง โดยอาชีพเสริมช่วงหน้าแล้ง คือ สานหวด แต่หลังจากมีโครงการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงที่ จ.นครพนม สภาพเศรษฐกิจของคนที่นี่ก็ดีขึ้น โดยเฉพาะราคาที่ดินที่พุ่งสูงขึ้นหลายเท่าตัว จากเดิมไร่ละ 7-8 แสนบาท แต่ปัจจุบันที่แปลงสวยๆ ริมถนนจะมีราคาไร่ละ 1.2 ล้านบาท และติดริมโขงไร่ละ 1.1 ล้านบาท
ระยะหลังเริ่มมีกลุ่มทุนเข้ามากว้านซื้อที่ดินเพื่อลงทุนรอการเปิดสะพานข้ามโขง ซึ่งน่าจะเป็นจุดเปลี่ยนที่ดี โดยเชื่อว่า หลังจสะพานสร้างแล้วเสร็จน่าจะมีการลงทุนขนานใหญ่ เช่น โกดังสินค้า รีสอร์ท ร้านอาหาร ฯลฯ ซึ่งน่าจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี
นายก อบต.สามารถ เชื่อมั่นว่า สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นผลดีต่อชาวบ้าน โดยการจ้างงานในพื้นที่ต้องเกิดขึ้นแน่นอน เพราะอย่างน้อยการสร้างสะพานก็ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก
แต่ประเด็นสำคัญที่จะต้องทำต่อ คือ ทำอย่างไรชาวบ้านจึงจะมีรายได้อย่างงต่อเนื่องไปจนกระทั่งหลังสร้างสะพานเสร็จแล้ว แต่ก็น่าดีใจที่ปัจจุบันชาวบ้านก็เริ่มมองเห็นช่องทางการสร้างรายได้ โดยเริ่มมีการตั้งเพิงขายอาหารริมทางขายอาหารกันบ้างแล้ว
ส่วนแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน อบต.อาจสามารถ จะนำเอาจุดขายทางวัมนธรรมโบราณที่มีเสน่ห์น่าค้นหามาเป็นตัวดึงดูดนักท่องเที่ยว เพื่อเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมดั้งเดิมไม่ให้สูญหาย และยังช่วยนำรายได้มาสู่ท้องถิ่นอีกด้วย
"ชาญยุทธ โคตรธรรม"