
สักครั้งในชีวิตต้องมากราบพระบรมศพในหลวง ร.9
ประชาชนจากทั่วไปประเทศเข้ากราบพระบรมศพตั้งแต่เช้ามืด
วันที่ 26 มิถุนายน 2560 บรรยากาศภายในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเปิดประตูตั้งแต่เวลา 05.00 น. เพื่อให้ประชาชนเข้ากราบพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในการถวายความสำนึกต่อพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ เป็นวันที่ 236 แม้จะมีสภาพอากาศค่อนข้างร้อนตั้งแต่ช่วงเช้าแต่ก็ยังมีประชาชนจากทั่วประเทศทยอยเดินทางมาเข้าแถวรอกราบอย่างไม่ขาดสายตลอดทั้งวัน
ไม่มีเคยมีโอกาสได้เฝ้าฯ รับเสด็จ ตอนที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระชนม์ชีพ แต่เมื่อเสด็จสวรรคตแล้ว สักครั้งในชีวิตก็อยากจะมาสักการะพระบรมศพ นางสาวดลพร แซ่ซือ อายุ 27 ปี อาชีพล่ามภาษาจีน เดินทางมาจากพระรามสอง เล่าด้วยน้ำเสียงปลื้มปีติว่า วันนี้เป็นความตั้งใจว่าในชีวิตตัวเองต้องมาถวายความอาลัยต่อในหลวงรัชกาลที่อย่างน้อยสักครั้งหนึ่ง ในฐานะพสกนิกรคนไทยที่พระองค์ทรงดูแลทรงเป็นต้นแบบในหลายๆ ด้านโดยเฉพาะเรื่องการดำเนินชีวิตประจำวัน ความพอเพียง ความเป็นอยู่ พระองค์ทรงเป็นถึงพระมหากษัตริย์ แต่ทรงดำรงพระชนม์ชีพด้วยความเรียบง่าย ประหยัด มัธยัสถ์ ที่เห็นได้ชัดๆ อย่างเรื่องยาสีฟันที่ทรงใช้จนหมดหลอด ตรงนี้ตัวเองก็ถือปฏิบัติตามใช้ประจำวันด้วยเช่นกัน นอกจากนี้เรื่องในหลวงรัชกาลที่ 9 ยังทรงเป็นต้นแบบในเรื่องความใฝ่รู้ จะเห็นได้ว่าทรงพระปรีชาสามารถรอบด้าน ทั้งยังเคยไม่หยุดเรียนรู้ด้านๆ ตลอดเวลา นี่จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ตัวเองอยากศึกษาหาความรู้เหมือนอย่างพระองค์ท่านบ้าง
ขณะที่ นางสาวณัฐชนก ไชยคำวัง ชาวจังหวัดเชียงใหม่วัย 27 ปี ตั้งใจเข้าสักการะพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 9 ก่อนจะเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เล่าให้ฟังว่าเธอก็ไม่ต่างจากคนไทยทุกคนคือรู้สึกตื้นตันใจที่ครั้งหนึ่งได้เข้ากราบพระบรมศพ และโดยส่วนตัวพระองค์นอกจากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว พระองค์ยังทรงเป็นต้นแบบในเรื่องความเสียงสละ ความอดทน การไม่ยอมจำนนต่อปัญหาและอุปสรรค
“ความพอเพียงเป็นคำสอนที่เราได้ยินได้เห็นมาตั้งแต่เด็กๆ ตอนนั้นตัวเองก็ยังไม่เข้าใจว่า หมายถึงอะไร กระทั่งเติบโตขึ้นมา จึงได้รู้ว่าเป็นแนวทางการใช้ชีวิตแบบไม่เกินตัว ไม่ฟุ้งเฟื้อจนเกินไป เมื่อได้ลดความอยากได้ความต้องการได้ลงบ้างก็เป็นการดำเนินชีวิตที่ไม่ยากเลย ส่วนเรื่องความเสียสละนั้นก็อย่างที่ทราบกันดีว่า พระองค์ทรงตรากตรำพระวรกายช่วยเหลือประชาชน ทรงศึกษา ค้นคว้า คิดหาวิธีการต่างๆ ตลอดเวลาผ่านโครงการพระราชดำริมากๆ ซึ่งจริงๆ แล้วพระองค์ท่านแทบจะไม่ต้องทำอะไรเลยก็ได้ ขณะเดียวกันพระองค์ยังทรงเป็นผู้นำที่เปี่ยมไปด้วยความโอบอ้อมอารีย์มีพระราชหฤทัยที่เมตตาต่อผู้ถวายงาน และนี่ก็คือต้นแบบที่ตัวเองน้อมนำมาใช้กับลูกน้อง ส่งผลให้บรรยากาศการทำงานในแต่ละวันมีความสุข และถึงแม้ว่าในบางครั้งอาจจะมีปัญหาบ้างแต่ก็ผ่านไปด้วยดี” นางสาวณัฐชนก ไชยคำวัง กล่าวด้วยน้ำเสียงชื่นชมต่อในหลวงรัชกาลที่ 9 อย่างเต็มเปี่ยม
นางพรรณี รัตนะ วัย 63 ปี อดีตครูสอนภาษาไทย โรงเรียนบ้านออนกลาง อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ เดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัวมาพร้อมสามี นายอำนวย รัตนะ ตั้งใจมากราบสักการะพระบรมศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในวันคล้ายวันเกิดของตัวเอง เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ กล่าวว่า หลังจากในหลวงรัชกาลที่ 9 สวรรคตเพิ่งมีโอกาสเดินทางมาที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทเป็นครั้งแรก รู้สึกปลาบปลื้มตื้นตันใจมาก นับตั้งแต่วันมหาวิปโยคของคนไทย ได้อาศัยว่าเป็นช่างฝีมือเย็บริบบิ้น จำนวน 50 ชิ้น แจกจ่ายชาวเชียงใหม่และนักท่องเที่ยว ย่านถนนคนเดินเพื่อจะได้ติดหน้าอกเป็นการไว้ทุกข์ และเมื่อเร็วๆ นี้ เพิ่งเข้าร่วมอบรมเป็นจิตอาสาประดิษฐ์ดอกไม้จันทน์ ได้แก่ ดอกดารารัตน์ และดอกกุหลาบ จำนวน 250 ดอก เพื่อใช้ในการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ เพราะมีความตั้งใจอยากทำอะไรเพื่อพระองค์บ้าง
"เมื่อครั้นในหลวงรัชกาลที่ 9 พร้อมสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ มาเยี่ยมโรงเรียนบ้านออนกลาง ได้มีโอกาสเป็นคนทูลเกล้าฯ ถวายพานดอกไม้ ถือว่าเป็นการเฝ้าฯ รับเสด็จอย่างใกล้ชิดมาก เมื่อเสด็จฯ กลับ ทั่วทั้งดอยปกคลุมไปด้วยความมืดมิด พระองค์ประทับบนเฮลิคอปเตอร์ เพื่อเสด็จฯ ไปประทับแรมยังอีกดอย ซึ่งมีเพียงแสงไฟจากเฮลิคอปเตอร์ส่องให้เห็นพระพักตร์ เห็นว่าพระองค์ทรงโบกพระหัตถ์ให้ประชาชน เหตุการณ์ครั้งนั้นแม้ผ่านมา 30 ปีแล้ว ยังจดจำมิรู้ลืม ถ้าพูดถึงในหลวงในดวงใจแล้ว รู้สึกรักพระองค์มากโดยไม่สามารถบรรยายมาเป็นคำพูดได้ คนไทยช่างโชคดีที่มีพระองค์ ปัญหาไม่ว่าจะบนฟ้าหรือในน้ำ ทรงแก้ไขบรรเทาทุกข์ให้คนไทยมีความอยู่ดีกินดี รู้สึกภูมิใจมากที่ได้เกิดในแผ่นดินรัชกาลที่ 9" ครูวัยเกษียณกล่าวด้วยน้ำตา