ข่าว

ทบ.แจงซื้อ รถเกราะ VN-1 จากจีน

ทบ.แจงซื้อ รถเกราะ VN-1 จากจีน

16 มิ.ย. 2560

"ทบ.แจงซื้อ รถเกราะ VN-1 จากจีน  เพราะทันสมัย-ระบบส่งกำลังบำรุงดี-แถมสร้างโรงงานซ่อมสร้างในไทย ชี้ของมีคุณภาพ

 

          ที่กองบัญชาการกองทัพบก- 16 มิ.ย.60-"ทบ.แจงซื้อ รถเกราะ VN-1 จากจีน  เพราะทันสมัย-ระบบส่งกำลังบำรุงดี-แถมสร้างโรงงานซ่อมสร้างในไทย ชี้ของมีคุณภาพ จีนผลิตใช้เองในกองทัพหลายพันคัน ระบุ ไม่เกี่ยว เกรงใจ –เอียงจีน   ยันไม่ได้งุบงิบเข้าครม. แต่ไม่แจงก่อน เพราะสังคมไม่สนใจเหมือน”เรือดำน้ำ” แค่โครงการทดแทน 

          พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก แถลงข่าวถึงกระบวนการจัดซื้อรถยานเกราะล้อยาง แบบ VN1 จากจีน ว่า 1.ความจำเป็นเร่งด่วนในการจัดซื้อรถชนิดดังกล่าว เป็นการจัดซื้อทนแทนรถยานเกราะล้อยาง V150 ของเดิมที่ใช้มานาน กว่า 50 ปี หากซ่อมแซมจะไม่คุ้มค่า และไม่ทันสมัยกับสภาพแวดล้อปัจจุบัน อีกทั้งสมรรถนะไม่สอดคล้องกับการใช้งานปัจจุบัน รวมทั้งไม่สอดรับกับภารกิจของหน่วยทหารราบ และหน่วยทหารม้า ยานเกราะ อย่างไรก็ตามกองทัพบกมีแผนปรับความพร้อมรบตามกรอบระยะเวลาแผนพัฒนากองทัพ ปี 2560-2564 เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคง พร้อมตลอดสนองนโยบายรัฐบาลด้านผลประโยชน์ชาติ
          พ.อ.วินธัย กล่าวต่อว่า สำหรับยุทโธปกรณ์ที่นำมาทดแทนของเดิม ยืนยันว่าทันสมัย โดย1.มีระบบอาวุธ 2.ระบบการติดต่อสื่อสารกว้างไกล 3.มีเกาะป้องกันตนเองแข็งแรง  4. มีความคล่องในการเคลื่อนที่สูงตามภูมิประเทศต่างๆได้ 5.มีระบบส่งกำลังบำรุง และ6.มีโรงงานซ่อมสร้างในไทย

 

                          ทบ.แจงซื้อ รถเกราะ VN-1 จากจีน

          “สำหรับกรณีไม่มีการชี้แจงถึงการจัดซื้อนั้น ขอชี้แจงว่าทางทีมงานประชาสัมพันธ์กองทัพบก เตรียมข้อมูลไว้ชี้แจงต่อสังคม แต่คิดว่ายุทโธปกรณ์ที่จัดซื้อทดแทนจะไม่ค่อยได้รบความสนใจ เท่ายุทโธปกรณ์ใหม่ที่ไม่เคยมี อย่างเช่น เรือดำน้ำ โดยการจัดซื้อครั้งนี้เป็นการจัดซื้อแบบรัฐต่อรัฐ อีกทั้งกฎระเบียบก็ไม่ได้แจ้งให้ประกาศก็ได้ ถ้าไม่มีความจำเป็น เพราะการมีความน่าเชื่อถือสูงอยู่แล้ว แต่ว่าทางกรมสรรพาวุธทหารบกที่เป็นผู้จัดซื้อจัดจ้างได้ประกาศราคากลางขึ้นบนเว็บไซด์แล้ว ซึ่งยืนยันว่าไม่ได้ปกปิด เราโปร่งใส่ตรงไปตรงมา   
           พ.อ.วินธัย กล่าวชี้แจงถึงสาเหตุที่กองทัพบกไม่จัดซื้อรถยานเกราะล้อยาง ชนิด 8 X8 ในประเทศไทยนั้น ว่า ขอชี้แจง ว่ารถชนิดดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัย และการพัฒนาต้นแบบ ยังไม่ได้ผลิตออกมาจำหน่าย ขององค์กรมหาชนกระทรวงกลาโหม โดยกองทัพบกก็มีคณะกรรมการร่วมอยู่ด้วย ซึ่งกว่าจะเสร็จสิ้นสมบูรณ์คาดว่าใช้เวลา 2-3 ปี หรือมากกว่านั้น และที่สำคัญเรายังไม่รู้ว่าราคาต้นทุน และราคาจัดซื้อจัดจ้างจะเท่าไหร่ ขณะที่รถยานเกราะล้อยางอีกประเภทหนึ่งที่มีผู้ประกอบการในประเทศไทยนั้น ได้ผลิตแบบ 4X4 มีลักษณะการใช้งานไม่ตรงกับความต้องการของหน่วย   อย่างไรก็ตามรถยานเกราะแบบแบบ 4X4 ได้พิจารณาจัดซื้อ เพื่อใช้ในภารกิจพื้นที่ชายแดนภาคใต้ 13 คัน โดย 5 คันแรกเป็นแบบเก่า ส่วน 8 คันได้พัฒนามาจากรุ่นแรก

                           ทบ.แจงซื้อ รถเกราะ VN-1 จากจีน
          พ.อ.วินธัย  ยังกล่าวถึงเหตุผลที่กองทัพบกคัดเลือกรถเกราะรุ่นดังกล่าวจากจีนว่า  ทุกอย่างเป็นไปตามลำดับขั้นตอน เริ่มจากความต้องการของหน่วย และเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานยุทโธปกรณ์ (กมย.) โดยดูจากบริษัทที่เสนอเข้ามาทั้งหมด 4 แบบจาก ประเทศยูเครน  รัสเซีย สิงคโปร์  และ จีน ที่ผ่านคุณลักษณะมาตรฐานทั้งหมด  จากนั้นจึงได้พิจารณาข้ออื่น เช่น ความคล่องแคล่วในการเคลื่อนที่ ระบบเกราะป้องกันตน ระบบการติดต่อสื่อสาร กำลังเครื่องยนต์ในสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศต่างกัน  และที่สำคัญที่สุดคือการส่งกำลังบำรุง การซ่อมแซม รวมถึงระยะเวลารับประกัน  ลำดับสุดท้ายคือราคา การดำเนินการต่างๆเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษร  ในส่วนของยูเครนแม้จะเป็นไปตามมาตรฐานที่เราได้คัดเลือกในช่วงก่อนหน้านี้ แต่องค์ประกอบอันเกิดจากเหตุการณ์ในประเทศยูเครนที่ผลต่อการส่งมอบจึงมีผลต่อการนำมาพิจารณาด้วย 
          “ยืนยันกองทัพบกไม่ได้ตั้งเป้าว่าต้องเปลี่ยนมาใช้ของจีนมากขึ้น  หรือว่าไปเกรงใจจีน  เพราะเกณฑ์การตัดสินใจไม่ใช่เรื่องประเทศ แต่เลือกคุณสมบัติเฉพาะที่ให้ประโยชน์สูงสุดที่ให้กองทัพบก และ ทางราชการในแง่การใช้อุปกรณ์ ใช้ประโยชน์จริง นอกจากนั้น จีนยังดูแลเรื่องระบบการส่งกำลังบำรุง  การจัดตั้งโรงงานซ่อมสร้าง นำมาซึ่งองค์ประกอบเสริมอื่นๆ เช่น การจ้างงาน  เป็นด้านบวกที่จะได้เพิ่มเติมเสริมเข้ามา ” พ.อ.วินธัยระบุ 

                    ทบ.แจงซื้อ รถเกราะ VN-1 จากจีน
          เมื่อถามกรณีข่าวรัฐบาลเคนย่าไม่พอใจคุณภาพรถเกราะล้อยางที่จัดหามาจากจีนเพราะไม่ได้มาตรฐานเมื่อนำไปใช้งานจริง โดยเฉพาะคุณภาพของเกราะส่งผลให้สูญเสียกำลังพลระหว่างปฏิบัติหน้าที่  พ.อ.วินธัย กล่าวว่า ในส่วนนี้ยังมีข้อมูลไม่เพียงพอ แต่ขณะนี้การซื้อของไทยจะเป็นระบบรัฐต่อรัฐแล้ว เพราะฉะนั้นความน่าเชื่อถือน่าจะสูงสุด เพราะอย่างน้อยรัฐบาลของสองประเทศรับรู้ร่วมกัน  อีกทั้ง VN-1  ก็ประจำการอยู่ในประเทศจีนด้วยหลายพันคันจำนวนสายการผลิตจึงมีความน่าเชื่อถือสูง ขนาดจีนซึ่งเป็นประเทศผู้นำการทหารของโลก ยังใช้งานยุทโธปกรณ์ประเภทนี้.