กระทรวงอุตฯเตรียมปรับบทบาทสถาบันยานยนต์รับรถไฟ
กระทรวงอุตฯเตรียมปรับบทบาทสถาบันยานยนต์หนุนอุตฯผลิตรถไฟ–ชิ้นส่วนอากาศยาน
นายณัฐพล รังสิตพล ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะผู้ทำการแทนผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ เปิดเผยถึงแนวทางการปรับโครงสร้างสถาบันยานยนต์ ว่า ขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างการปรับบทบาทของสถาบันยานยนต์ เพื่อรองรับการดำเนินงานใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยคณะกรรมการสถาบันยานยนต์ มีความเห็นว่าควรจะเพิ่มบทบาทสถาบันยานยนต์จากเดิมที่ดูแลในอุตสาหกรรมรถยนต์อย่างเดียว ไปสู่การเป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตรถไฟทั้งรถไฟธรรมดาและรถไฟความเร็วสูง
ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์สามารถยกระดับไปผลิตชิ้นส่วนรถไฟได้ไม่ยาก ซึ่งขณะนี้ผู้ผลิตในไทยสามารถผลิตชิ้นส่วนรองรับในการผลิตรถไฟ และโบกี้ได้กว่า 40% ของมูลค่าทั้งหมด ในอุปกรณ์การผลิตโบกี้ และช่วงล่างบางส่วนไทยสามารถผลิตได้ไม่ยาก แต่ในช่วงล่างที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงยังจำเป็นต้องนำเข้า
ในการส่งเสริมให้เกิดการผลิตรถไฟภายในประเทศ จะใช้เพียงมาตรการทางภาษีแบบรถยนต์เพียงอย่างเดียวไม่ได้ เพราะผู้กำหนดตลาดคือรัฐบาล ดังนั้นจะต้องเริ่มจากข้อกำหนดการประมูลให้ผู้ที่ชนะการประมูลตั้งโรงงานประกอบภายในประเทศ โดยอาจจะกำหนดให้นำเข้าได้ 20% เพื่อให้มีรถไฟเข้ามาวิ่งในช่วงแรก อีก 20% ให้นำช่างจากเมืองไทยไปเรียนรู้การประกอบในต่างประเทศ และที่เหลือจะต้องตั้งโรงงานประกอบในไทย ซึ่งอาจจะมีการกำหนดให้ใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศได้ ไม่ผิดหลักการขององค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ)
“ในประเทศอื่นโครงการโครงการผลิตตู้รถไฟแค่ 100 ตู้ก็เพียงพอที่จะตั้งโรงงานประกอบภายในประเทศแล้ว ซึ่งในไทยตามแผนของรัฐบาลจะมีความต้องการเป็นพันตู้ จึงส่งเสริมให้เกิดการประกอบและผลิตภายในประเทศได้ไม่ยาก จึงควรใช้โอกาสนี้ในการยกระดับการผลิตของไทยไปสู่การผลิตในอุตสาหกรรมระบบรางที่มีมูลค่าสูง”
ส่วนการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน ผู้ผลิตไทยก็สามารถปรับตัวไปผลิตได้ในบางส่วน แต่จะยากกว่าการผลิตชิ้นส่วนรถไฟและโบกี้ เพราะมีมาตรฐานต่างๆสูงกว่า ซึ่งสถาบันยานยนต์ควรจะปรับบทบาทไปส่งเสริมยกระดับให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนก้าวไปผลิตชิ้นส่วนอากาศยานได้ ซึ่งความร่วมมือระหว่างการบินไทย กับแอร์บัส เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการพัฒนาอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยานไทย