
ศาลยุติธรรม 4.0 ใช้สื่อ"อิเล็กทรอนิกส์"ยื่นฟ้อง
“ศาลยุติธรรม” ล้ำสาธิตระบบ e-Filing ยื่นฟ้องคดีแพ่งออนไลน์ได้ นำร่องแล้ว 3 ศาล พร้อมทำ e-Hearing บันทึกภาพเสียงพยานสืบคดีอาญา-แพ่ง ศาลสูงเคลียร์ข้อโต้แย้งความถู
ซึ่งศาลได้เริ่มนำระบบ e-Filing ที่เปิดให้ทนายความสามารถยื่นฟ้องคดีผ่านระบบรับส่งอิเล็กทรอนิกส์ มาใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา
โดยศาลนำร่องที่เปิดให้บริการได้แก่ ศาลแพ่ง , ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ และศาลแพ่งธนบุรี ในคดีซื้อขาย เช่าทรัพย์ จำนอง จำนำ ค้ำประกัน กู้ยืมเงิน เช่าซื้อ และบัตรเครดิต เพื่อช่วยอำนวยความสะดวก ประหยัดเงินและเวลาในการฟ้องคดี
ทั้งนี้ระบบดังกล่าว จะให้ทนายความลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์สำนักงานศาลยุติธรรม http://efiling.coj.go.th เพื่อเข้าใช้ระบบยื่นฟ้องออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ดังกล่าวได้ตลอด 24 ชั่วโมง หากพ้นเวลาราชการให้ถือว่าเป็นการยื่นฟ้องในวันถัดไป โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางมายืนยันตัวตนที่ศาลก่อน แต่ให้มายืนยันตัวตนในโอกาสแรกที่มาศาล เช่น ในวันนัดพิจารณาครั้งแรก
สำหรับวิธีใช้นั้น ทนายความต้องเข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ , รหัสผ่าน และระบบจะส่งรหัสผ่านแบบใช้ครั้งเดียว (OTP) เมื่อเข้าใช้งานแต่ละครั้งด้วย โดยทนายความสามารถยื่นเอกสารทั้งที่เป็นคำฟ้อง , เอกสารท้ายฟ้อง , บัญชีพยาน , คำแถลงขอปิดหมาย และเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ในคราวเดียวด้วยการอัพโหลดส่งเป็นไฟล์ pdf และสามารถชำระเงินค่าขึ้นศาล ค่าส่งหมาย และค่าจัดทำเอกสารผ่านระบบ e-payment ด้วยบัตรเดบิตหรือบัตรเครดิตได้ โดยระบบจะออกใบยืนยันการรับเงินและเอกสารระบุวัน-เวลาที่ยื่นฟ้องไว้ให้เป็นหลักฐาน
จากนั้นเจ้าหน้าที่และผู้พิพากษาที่ได้รับมอบหมายจะตรวจเอกสารและสั่งคำฟ้องในระบบต่อไป เมื่อมีคำสั่งของศาลแล้ว ทนายความจะได้รับแจ้งคำสั่งผ่าน sms หรืออีเมล และสามารถตรวจสอบในระบบได้
อย่างไรก็ดีนอกจากระบบ e-Filing ศาลยุติธรรม ยังได้จัดทำระบบบันทึกการพิจารณาคดีโดยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ e-Hearing เพื่อบันทึกคำพยานทั้งภาพและเสียงเหตุการณ์ของการพิจารณาคดีด้วย เพื่อช่วยขจัดปัญหาข้อขัดข้องโต้เถียงระหว่างการสืบพยาน และให้ศาลสูงสามารถตรวจสอบประกอบการพิจารณาได้ โดยเริ่มนำร่องแล้วจำนวน 6 ศาล ได้แก่ ศาลอาญา , ศาลอาญากรุงเทพใต้ , ศาลอาญาธนบุรี , ศาลแพ่ง , ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ และศาลแพ่งธนบุรี
และจะขยายผลการใช้งานระบบนี้ไปยังศาลยุติธรรมทั่วประเทศที่ได้รับงบประมาณมารวม 252 ศาล ศาลละ 1 บัลลังก์ ซึ่งปัจจุบันได้มีการจัดทำทีโออาร์เสร็จสิ้นแล้ว หากผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการ สำนักงานศาลยุติธรรมจะได้ประกาศให้มีการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบเพื่อจัดทำระบบนี้ต่อไป