ข่าว

สิทธิผู้ต้องหา เรื่องจริง ไม่ได้มีแค่ในหนัง

สิทธิผู้ต้องหา เรื่องจริง ไม่ได้มีแค่ในหนัง

13 พ.ค. 2560

โฆษกยธ.แนะนำสิทธิตามกฎหมาย เมื่อต้องตกเป็นผู้ต้องหาตำรวจต้องแจ้งสิทธิการมีทนาย ถ้ามั่นใจว่าไม่ได้ทำผิดรีบติดต่อยุติธรรมจังหวัด มีความช่วยเหลือครบวงจร

 

 

          13 พ.ค. 60 - นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะโฆษกกระทรวงยุติธรรม แนะนำสิทธิตามกฎหมายให้แก่ประชาชนเมื่อต้องตกเป็นผู้ต้องหาว่า เมื่อมีการจับกุมตัวผู้ต้องหา ตำรวจต้องแจ้งสิทธิให้ผู้ถูกจับกุมรับทราบว่า เขามีสิทธิที่จะให้การหรือไม่ให้การก็ได้ และมีสิทธิได้รับทนายความในการต่อสู้คดีหากไม่มีทนายความ รัฐจะเป็นฝ่ายจัดหาทนายความให้ ซึ่งประโยคเหล่านี้ได้ยินมานานในภาพยนตร์ แต่ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่าตัวเองมีสิทธิดังกล่าว โดยสามารถร้องขอทนายความได้ตั้งแต่ชั้นสอบสวนในโรงพัก ดังนั้นหากถูกแจ้งข้อหาจับกุมโดยผู้ที่ตกเป็นผู้ต้องหามั่นใจว่าไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิด ขอให้รีบติดต่อไปยังยุติธรรมจังหวัดซึ่งมีความช่วยเหลือแบบครบวงจร อาทิ ทนายความอาสาประจำคลินิคยุติธรรม พร้อมให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย หลักทรัพย์เพื่อร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว และมีค่าใช้จ่ายอื่นๆในการต่อสู้คดีให้ ขณะเดียวกันตำรวจเองก็ต้องตะหนักถึงสิทธิของผู้ต้องหาเช่นกัน. หากตำรวจละเลยไม่แจ้งสิทธิตามกฎหมายแก่ผู้ต้องหาก็จะมีความผิดเสียเอง

          สำหรับสิทธิต่างๆเมื่อถูกจับกุม จะระบุไว้ชัดว่า หากตำรวจไม่แจ้งสิทธิของผู้ต้องหาให้ผู้ต้องหารับทราบ คำพูดของผู้ต้องหาจะไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานพิสูจน์ความผิดได้ โดย 5 สิทธิที่ผู้ต้องหาต้องรับรู้ ได้แก่ 1.มีสิทธิแจ้งให้ญาติทราบว่าถูกจับอยู่ที่ไหน 2.มีสิทธิพบและปรึกษาทนาย 3.มีสิทธิให้ทนายเข้าฟังการสอบปากคำ 4.ญาติมีสิทธิเยี่ยม และ 5.มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาล
          ขณะที่ตำรวจก็ต้องแจ้ง 5 สิ่ง ให้ผู้ต้องหารับทราบ 1.ตำรวจต้องแจ้งสิทธิขั้นพื้นฐานที่ผู้ต้องหาควรได้รับ 2.ตำรวจต้องแจ้งข้อกล่าวหาให้ทราบก่อนสอบปากคำ 3.หากผู้ต้องหาไม่มีทนาย ตำรวจต้องจัดหาทนายให้ 4.ให้สิทธิการมีทนายเข้าร่วมฟังการสอบปากคำ กรณีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ต้องมีนักจิตวิทยาเข้าฟังการสอบปากคำด้วย และ 5.ผู้ต้องหาทีสิทธิที่จะไม่พูด แต่หากพูดคำพูดจะถูกใช้เป็นหลักฐานในศาล.