
“ท่ามะปราง” มุมบวก ของ อบต.ที่มักมีแต่เรื่องลบ!!
อบต.ท่ามะปราง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี กำลังสร้างมุมบวก ของ อบต.ที่ไม่ค่อยมีให้เห็นมากนัก : สมฤทัย ทรัพย์สมบูรณ์ คมชัดลึกออนไลน์
ไม่ค่อยได้เห็นบ่อยนัก สำหรับการที่ อบต.จะเอาเด็กๆเยาวชนในชุมชนมาจัดกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์อย่างจริงจัง แต่ที่นี่ อบต.ท่ามะปราง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี มีการจัดกิจกรรมต่อเนื่องมาเกือบ 4 ปีแล้ว
แน่นอนกิจกรรมแบบนี้จะเกิดขึ้นได้ต้องมีคนที่มีความตั้งใจจริงๆ เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายกับการที่จะเอาเด็กๆในชุมชนมาทำกิจกรรม เพราะนอกจากในสภาพที่เด็กจะมีภาระรับผิดชอบทั้งเรื่องเรียน และงานบ้านแล้ว ยังต้องแข่งกับสภาพสังคมที่มีสิ่งยั่วยุมากมาย
“รองฯหนึ่ง” บุญสืบ พันธ์ประเสริฐ รองนายกฯ อบต.ท่ามะปราง วัย 43 ปี คือหัวเรี่ยวหัวแรงหลักที่ทำให้กิจกรรมสร้างสรรค์นี้เกิดขึ้นมาได้
ความจริง “หนึ่ง” ไม่ได้เรียนจบมาในสายที่เกี่ยวข้องกับงานท้องถิ่นโดยตรง เขาเรียนจบเทคนิคการแพทย์ จากมหาวิทยาลัยรังสิต เขาไปทำงานเป็นนักเทคนิคการแพทย์ประจำโรงพยาบาลมาเกือบ 20 ปี ก่อนจะมาเป็นรองนายกฯอบต.ที่บ้านเกิดเมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้ว
“จุดพลิกผันเกิดเมื่อพ่อแม่ที่มีอายุมากมีปัญหาสุขภาพ ผมจึงอยากกลับมาดูแลท่าน พอดีช่วงนั้นพี่ได้รับเลือกเป็นนายกฯอบต.จึงชวนให้ผมมาช่วยงานเป็นรองนายกฯอบต.”
ภารกิจของ “รองฯหนึ่ง” คือ การดูแลเรื่องคุณภาพชีวิต ได้แก่เรื่อง สวัสดิการสังคม เด็กและผู้สูงอายุ รวมไปถึงเรื่องการศึกษา และสาธารณสุข
ด้วยความที่เป็นเด็กกิจกรรมมาตั้งแต่สมัยเรียน โดยเฉพาะการเป็นอาสาสมัครกลุ่มละครมะขามป้อม ที่ใช้กระบวนการละครในการทำงานพัฒนากับเยาวชน และการได้รู้จักเครือข่ายต่างๆ ทำให้เมื่อ “หนึ่ง” ต้องมาลงมือทำงานจริงในชุมชน เขาจึงไม่ต้องเริ่มจากศูนย์
“เป้าหมายในการทำงานของผมคือการพัฒนาชุมชน การมาทำงานนี้ใน อบต.ก็ไม่ใช่เรื่อง่าย เพราะมีข้อจำกัดมากมาย บางครั้งก็เหมือนทำงานคนเดียว ช่วงต้นๆที่ดึงเด็กๆมาร่วมทำกิจกรรมก็ไม่ค่อยมี เด็กที่มาส่วนใหญ่จะเป็นเด็กหลังห้อง เด็กที่พ่อแม่ไม่ค่อยสนใจ ก็จัดกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาศักยภาพ พัฒนาความคิดให้พวกเขา”
จากเครือข่ายที่เคยทำกิจกรรมร่วมกันมาก่อนหน้านี้ ทำให้ “หนึ่ง” นำมาต่อยอดในการทำกิจกรรมกับเยาวชนในพื้นที่ เช่น เครือข่ายพื้นที่นี้ดีจัง ทำให้ได้งบประมาณส่วนหนึ่งมาให้เด็กๆทำกิจกรรมในชุมชน ชื่อโครงการ “เด็กหาเรื่อง” คือให้เด็กไปทำกิจกรรมสร้างสีสันให้ผู้สูงอายุในชุมชน แทนที่จะอยู่บ้านเฉยๆ ก็ไปเยี่ยมเยือนผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน ให้ถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิต เล่าถึงวิถีชุมชนก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นการกระตุ้นจิตสำนึกรักบ้านเกิดและช่วยกันดูแลทรัพยากรธรรมชาติให้เด็กๆ โดยเฉพาะทรัพยากรป่าไม้ ต้นไม้ในชุมชน รวมไปถึงการช่วยกันแก้ปัญหาเรื่องขยะในชุมชน การลดการสร้างขยะ การจัดการกับขยะ และการรีไซเคิลขยะมาใช้ให้เกิดประโยชน์
อีกผลงานประทับใจของ “รองฯหนึ่ง” คือการฝึกสอนให้เด็กๆแสดงละครเวทีและมาร่วมแสดงในเทศกาลละครกรุงเทพฯ เมื่อปี 2558 ซึ่งเป็นปีที่เปิดโอกาสให้นักแสดงหน้าใหม่มาแสดง ครั้งนั้นพวกเขาเลือกแสดงละครเรื่อง “ถ้า...มะปราง” ซึ่งสะท้อนปัญหาของเด็กในชุมชนท่ามะปราง คือการใช้เวลาว่างไม่เกิดประโยชน์ ปรากฎว่าเด็กๆได้รางวัลนักแสดงหน้าใหม่ที่มีผลงานเป็นที่น่าจับตากลับไปด้วย
นอกจากนี้ ทาง อบต.ยังจัดฝึกอบรมให้เด็กๆเป็นนักสื่อสารสุขภาวะ ส่งเสริมให้เด็กสร้างสื่อที่ดี มีการอบรมทั้งเรื่องการเขียนข่าว การตัดต่อ ซึ่งเด็กๆก็สามารถทำผลงานออกมาได้น่าประทับใจ ผลงานของเด็กๆส่วนหนึ่งมีการนำเสนอผ่านหน้าแฟนเพจ “กลุ่มเยาวชนลูกมะปราง” ผลงานชิ้นล่าสุด คือ สารคดี “โชคสามชั้น” ที่ถ่ายทำจากการที่ตัวแทนเยาวชนลูกมะปราง 2 คน ได้รับคัดเลือกให้ไปร่วมกิจกรรม “ทัวร์ธรรมชาติ” ได้เรียนรู้การทำเกษตรอินทรีย์แบบยั่งยืน ที่ อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น (ดูคลิปโชคสามชั้น)
(กิจกรรมอบรมนักสื่อสารสุขภาวะรุ่นใหม่ ของ อบต.ท่ามะปราง)
"เวฟ" ด.ช.วัชรพล คำเยาว์ อายุ 12 ปี ซึ่งมาร่วมกิจกรรมอบรมนักสื่อสารสุขภาวะรุ่นใหม่ที่ อบต.ท่ามะปราง จัดขึ้นเมื่อเดือนเมษายน ที่ผ่านมา บอกว่า การมาร่วมกิจกรรมนอกจากจะได้ความรู้แล้ว ยังได้เรียนรู้การทำงานเป็นกลุ่มด้วย
เวฟ บอกว่า ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ได้มาร่วมกิจกรรมของ อบต. ถ้าครั้งหน้ามีอีกก็จะมาอีก ชอบช่วงที่มีการนำเรื่องการแสดงละครมาสอน ให้เด็กๆร่วมแสดง ทำให้เราได้แสดงศักยภาพของเรา
"ใหม่" นางสาวชนากานต์ เตียยะกุล อายุ 18 ปี บอกว่า ปกติเป็นคนชอบถ่ายรูป แต่ไม่สามารถเขียนเรียบเรียงเรื่องที่อยากจะเล่าออกมาได้ การมาร่วมกิจกรรมอบรมเรื่องการสื่อสารกับทาง อบต.น่าจะช่วยเติมเต็มให้สามารถถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆออกมาได้ดีขึ้น
นอกจากนี้ "ใหม่" ยังเข้าคอร์สเรียนรู้เรื่องการตัดต่อที่ทาง อบต.จัดฝึกอบรมด้วย และเธอก็เป็นกำลังสำคัญในการตัดต่อเพื่อผลิตสารคดี "โชคสามชั้น" ที่เพิ่งออกมา
(กิจกรรมอบรมนักสื่อสารสุขภาวะรุ่นใหม่ ของ อบต.ท่ามะปราง)
ขณะที่ "เต้ย" นายพิชิตพงษ์ พันธุ์ปั้น อายุ 21 ปี ซึ่งเป็นสมาชิกสภาเยาวชนของทาง อบต. และร่วมกิจกรรมของ "รองฯหนึ่ง" อยู่เป็นประจำ โดยล่าสุดได้รับคัดเลือกไปร่วมเรียนรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ จ.ขอนแก่น ที่ปรากฏให้เห็นในสารคดีโชคสามชั้น บอกว่า การมาร่วมกิจกรรมกับทาง อบต.ทำให้ใช้เวลาได้อย่างมีประโยชน์ แทนที่จะเอาเวลาไปมั่วสุมทำสิ่งไม่ดี
"ผมมีความตั้งใจอยากทำเกษตรอินทรีย์ ปลูกผักปลอดสารพิษ และนำเสนอเกี่ยวกับการทำเกษตรในชุมชนผ่านสื่อ ซึ่งตอนนี้ทำแฟนเพจในเฟซบุ๊คชื่อ "วัยรุ่นติดดิน" และต้องการจะนำเสนอกิจกรรมดีๆของวัยรุ่นในชุมชนด้วย" เต้ย กล่าวด้วยความมุ่งมั่น
ตลอดการฝึกอบรมเรื่องนักสื่อสารสุขภาวะรุ่นใหม่ 2 วันที่ทาง อบต.จัดขึ้น สิ่งสำคัญที่เด็กๆสะท้อนออกมา คือ พวกเขามีความสุขกับกระบวนการเรียนรู้ที่พวกเขามีโอกาสได้ซักถาม ได้แสดงความคิดเห็น ได้ลงมือทำจริง ได้ช่วยกันคิดช่วยกันทำ ช่วยกันแก้ปัญหา ซึ่งพวกเขาบอกว่าบรรยากาศแบบนี้ไม่ค่อยมีในห้องเรียน
“ที่เลือกทำกิจกรรมพัฒนาเยาวชน เพราะถือว่าเป็นการพัฒนาพลเมืองในอนาคตที่เราจะไม่ต้องเหนื่อย ทุกวันนี้เราต้องสู้รบปรบมือกับผู้ใหญ่ที่เราไปปรับอะไรเขาไม่ได้ การทำงานกับเด็กวันนี้ ตอนปลายเราจะเหนื่อยน้อยลง ไม่ใช่เหนื่อยตลอด” รองฯหนึ่ง กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการทำงาน
ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินไป สำหรับผู้ที่มีความตั้งใจอย่าง "รองหนึ่ง" ซึ่งแต่ละ อบต. จะมีช่องทางในการนำงบประมาณภายนอกมาใช้พัฒนาเยาวชนอยู่แล้ว เช่น การจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชน กองทุนคุ้มครองเด็ก เป็นต้น เพียงแต่ไม่ค่อยมี อบต.ไหน ดึงงบประมาณส่วนนี้มาใช้
ถ้า อบต.ส่วนใหญ่ทำได้แบบนี้ เรื่องราวแง่บวกของ อบต.ก็คงมีให้เห็นมากขึ้น ที่สำคัญเป็นการช่วยสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ให้สังคมด้วย
(อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง ท่ามะปรางดีจัง...ทอดผ่าป่าขยะรีไซเคิล)