ข่าว

 จาก"จำปากอ"สู่"บาเจาะ"หนองน้ำแห่งเมืองนรา

จาก"จำปากอ"สู่"บาเจาะ"หนองน้ำแห่งเมืองนรา

07 ก.ย. 2552

กรณีคาร์บอมบ์ที่นราธิวาส จนมีชาวบ้านที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่บาดเจ็บกันเกือบ 50 รายนั้น ได้ข่าวมาว่าคนร้ายใช้รถยนต์ของช่างรังวัดผู้หนึ่งที่ถูกคนร้ายยิงเสียชีวิต ณ อ.บาเจาะ เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ในการปฏิบัติภารกิจอันโหดเหี้ยมครั้งนี้

 อ.บาเจาะ ตั้งอยู่เหนือสุดของ จ.นราธิวาส มีพื้นที่ติดต่อกับ อ.สายบุรี และ อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี รศ.ประพนธ์ เรืองณรงค์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาและวัฒนธรรมภาคใต้ อธิบายว่า “บาเจาะ” อาจมาจากคำว่า “เบินจะห์” ซึ่งหมายถึง หนองน้ำ หรือ “บือเจาะ” ที่แปลว่า ที่ชื้นแฉะ ในภาษามลายูก็ได้

 เดิม บาเจาะ เป็นส่วนหนึ่งของสายบุรี ต่อเมื่อในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ.2451 ได้รับการยกฐานะเป็นกิ่ง อ.จำปากอ และ อ.จำปากอ ตามลำดับ “จำปากอ” หรือ “จือปากอ” หมายถึง ต้นดอกจำปา (บุหงาจำปากอกูนิง) หรือต้นดอกจำปี (บุหงาจำปากอปูเต๊ะฮ์)

 ต่อมาใน พ.ศ.2460 เปลี่ยนชื่อจาก อ.จำปากอ มาเป็น อำเภอ “บาเระหนือ” (คำว่า “บาเระ” ในภาษามลายู แปลว่า แถว หรือ แนว) หลังจากนั้นมีการย้ายที่ว่าการอำเภอไปตั้งที่ ต.บาเจาะ จึงเปลี่ยนชื่อมาเป็น อ.บาเจาะ 1 ใน 13 อำเภอของ จ.นราธิวาส มาจนถึงปัจจุบัน

 จากอดีตครั้งยังเป็น กิ่ง อ.จำปากอ มาจนถึง อ.บาเจาะในวันนี้ เป็นเวลาราว 100 ปีพอดี เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา จึงมีการจัด “งานเฉลิมฉลอง 100 ปีของดีอำเภอบาเจาะ” ขึ้น ได้ข่าวว่า ในงานมีเล่าประวัติศาสตร์ท้องถิ่น โดยปราชญ์ผู้รู้ในพื้นที่ ซึ่งนับเป็นเรื่องดีที่ชาวบ้านจะได้เรียนรู้ที่มาที่ไปของชุมชน อันจะนำไปสู่ความเข้าใจใน “รากเหง้า” ของตนเอง และการยอมรับใน “คนอื่น” รวมทั้งความหลากหลายทางวัฒนธรรมต่อไป

 แต่โปรแกรม “การแข่งขันหัวเราะ” นั้น ไม่แน่ใจว่า ชาวบาเจาะจะหัวเราะได้อย่างเป็นสุขแค่ไหน ตราบใดที่เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ยังคงดำเนินต่อไปให้ใจหายใจคว่ำกันทุกวี่วัน

 เรือนอินทร์ หน้าพระลาน