
“ภาคีเครือข่ายต้านทุจริตฯ”บุกมท.จี้ “บิ๊กป๊อก”สางโกง
“ภาคีเครือข่ายต้านทุจริตฯ” บุกมหาดไทย จี้“บิ๊กป๊อก”สาง“ตำบลละ5ล้านส่อโกง” ผวา..! เมืองมะขามหวานอู้ฟู่ 62 ล้าน เข้าข่ายฮั้วประมูล เตรียมลุยสอบทุกปม
19 เม.ย. 60 – ที่กระทรวงมหาดไทย(มท.) ภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของชาติ(ภตช.) นำโดยนายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ เลขาธิการ ภตช พร้อมคณะฯเดินทางมายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ พล.อ อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เพื่อขอให้ตรวจสอบโครงการมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ในระดับตำบล (ตำบลละ 5 ล้าน) 7,225 ตำบล รวมวงเงิน 36,275 ล้านบาท หลังได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านและผู้ประกอบการ จำนวนกว่า 500 ราย ว่าอาจจะมีความไม่ชอบมาพากลในการดำเนินการ โดยเฉพาะของอำเภอหนองไผ่ จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้รับจัดสรรโครงการวงเงิน 62.045 ล้านบาท โดยมีนายณัฐพงศ์ ศิริชนะ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นตัวแทนมารับหนังสือร้องเรียน
โดยนายมงคลกิตต์ กล่าวว่า ภตช. ได้มอบหมายให้คณะทำงานตรวจสอบการทุจริตการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ภตช. ลงพื้นที่ตำบลหนองไผ่ ตำบลท่าแดง เทศบาลตำบลบ่อไทยฯ เมื่อวันที่ 10-11 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยการสุ่มตรวจรับฟังปัญหาโดยตรงจากชาวกว่า 500 ราย พบว่า แต่ละพื้นที่โครงการที่ดำเนินการไปมีจุดบกพร่อง น่าสงสัย อาจจะเป็นการใช้งบประมาณไม่คุ้มค่า ส่งมอบเนื้องานไม่ครบถ้วน ซึ่งไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการเท่าที่ควร ดังนั้น ภตช. จึงขอให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการตรวจสอบการใช้งบประมาณโครงการสนับสนุนเงินลงทุนตำบลละ 5 ล้านบาท จำนวน 62.045 ล้านบาท 13 ตำบล ทั้งหมด 222 โครงการ ของอำเภอหนองไผ่ จังหวัดเพชรบูรณ์เป็นความต้องการของ ประชาชน ในหมู่บ้าน ตำบล และมีความคุ้มค่า หรือไม่ ใช้งานได้หรือไม่ มีโครงการเหมือนกันแต่ซอยย่อย ใช้วิธีตกลงราคา เป็นการเลี่ยงสอบราคา ประกวดราคาหรือไม่ ในการทำราคากลาง การคำนวณ ปริมาณเนื้องาน ถูกต้อง เป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ การตรวจรับงานเป็นไปด้วยความถูกต้องครบถ้วนตามข้อกำหนดของผู้ว่าจ้าง (TOR) หรือไม่ และทางผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ มีแนวทางการกำกับติดตามโครงการรอบคอบแล้วหรือไม่
“ในพื้นที่คาดว่า อาจจะมีการทุจริตหรืออาจจะจัดงบซ้ำซ้อนสังเกตจาก พื้นที่ตำบลหนองไผ่ จากการสร้างฝายกั้นน้ำ พบข้อขัดแย้งกัน เป็นงบประมาณตำบลละ 5 ล้านของอำเภอหนองไผ่ หรือ งบของ อบต.หนองไผ่ที่เป็นงบปกติ ทางส่วนราชการใดเป็นผู้สร้างฝายกั้นน้ำกันแน่ เพราะจากป้ายในการจัดสรรงบประมาณ ระบุว่า อบต.หนองไผ่ เป็นผู้สร้าง โครงการก่อสร้างฝายแบ่งน้ำพร้อมผนังกันน้ำเซาะ หมู่ที่ 5 กว้าง 4 เมตร ยาว 38 เมตร หนาเฉลี่ย 0.15 เมตร หรือมีปริมาตรคอนกรีตไม่น้อยกว่า 88.53 ลูกบาศก์เมตร ตามแบบ อบต.กำหนด พร้อมป้ายโครงการ จำนวน 1 ป้าย งบ 474,000 บาทเป็นงบฯของปี 2559 แต่ทางอำเภอหนองไผ่ยืนยันว่า เขาเป็นผู้ก่อสร้าง ซ่อมแซมฝายกั้นน้ำ หมู่ 6 เนินมะกอก ตำบล หนองไผ่ งบ 477,500 บาท ที่เป็นงบตำบลละ 5 ล้านบาท ก็ยังไม่สามารถยืนยันได้ใครเป็นผู้สร้าง นอกจากนี้ยัง พบว่า ราคาใกล้เคียงกัน แต่ปริมาณเนื้องานต่างกันอีกด้วย เช่น โครงการซ่อม ต่อเติม คอนกรีตเสริมเหล็กใน ต.ท่าแดง 16 โครงการ ที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม แต่เมื่อดำเนินงานจริงอาจจะมีการทำถนนตัด เพื่อให้เข้าไปยังบ้านผู้บริหารเทศบาลบ่อไทยจริงหรือไม่ และโครงการสร้างประปาหมู่บ้านใน ต.บ่อไทย ขณะเดียวกันยังตรวจสอบพบผู้มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลัง มีการฮั้วประมูลกันอีกด้วย” เลขาฯภตช. ระบุ
นายมงคลกิตต์ กล่าวต่อว่า จุดบกพร่องหลายจุดในโครงการ มีภาพรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3.6 หมื่นล้านบาท ราคากลางของการคำนวณอาจจะสูงเกินกว่าความเป็นจริงเท่าตัว ถ้าเทียบกับราคากลางกระทรวงพาณิชย์ ใช้งานได้ไม่นานก็พังก่อน อีกทั้งยังไม่หมดระยะเวลาประกันก็ไม่มีใครมาซ่อม มีการดำเนินโครงการซ้ำๆกัน ใน ตำบล อำเภอ เดียวกัน แต่กลับไม่สอบราคา ประกวดราคา ถ้ายังปล่อยให้ดำเนินการตามนี้รับรองได้เงินเหลือกลับคืนคลังไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท จึงอยากเรียนไปยังพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.อนุพงษ์ ช่วยสั่งการให้ลงไปตรวจสอบในทุกจุดเพื่อเรียกเงินคืน และให้เป็นตัวอย่าง ต่อไปรัฐบาลจัดงบอะไรลงไปก็จะสูญเงินเปล่าไปกว่าครึ่ง ไม่คุ้มภาษีประชาชน และจะเป็นปัญหากับรัฐบาลที่เคยประกาศเจตนารมณ์ในการต่อต้านการทุจริต อย่างไรก็ตามขณะนี้เรากำลังสุ่มตรวจ โครงการตำบลละ 5 ล้านบาท โครงการประชารัฐ ไม่ว่า จะเป็นจังหวัด อุตรดิตถ์ ลพบุรี สิงห์บุรี ปทุมธานี นนทบุรี อำนาจเจริญ อุบลราชธานีอยู่ และได้ข้อมูลเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะสรุปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
ด้านรองปลัดมท. กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยยินดีจะรับข้อเสนอไปตรวจสอบทุกกรณี แต่ต้องเข้าใจว่า โครงการดังกล่าวเป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยใช้วิธีจ้างกับรับเหมางาน แต่ระเบียบได้วางไว้ชัดเจนอยู่แล้ว ในกรณีที่โครงการมีจำนวนไม่เกิน 500,000 บาท ทางกรมบัญชีกลางจะเข้ามาเป็นผู้ตกลงราคา นอกจากนี้ในขั้นตอนท้ายสุดทางสำนักงบประมาณก็จะมีส่วนเข้ามาช่วยกลั่นกรอง ถ้าพบว่า มีความซ้ำซ้อนจริงก็ถือว่า ผิดแน่นอน ส่วนกรณีที่พบผู้มิทธิพลอยู่เบื้องหลัง ขอให้สบายใจได้ ไม่ต้องกังวล เพราะเราจะใช้บุคลากรจากส่วนกลางลงไปตรวจสอบ จะไม่มีการมาลูบหน้าปะจมูก
“ที่ผ่านมาใครๆก็ว่ากระทรวงมหาดไทยขี้โกง แต่ในครั้งนี้เรามีกลไกของ สตง. ป.ป.ช. และป.ป.ท. เข้ามาร่วมตรวจสอบด้วย ดังนั้นถ้าหน่วยงานเหล่านี้ไม่กล้า ก็ไม่รู้แล้วว่า ใครจะกล้า ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่า โครงการตำบลละ 5 ล้าน ขณะนี้มีเยอะมาก แล้วมีเวลาการดำเนินงานที่จำกัดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จะเห็นได้ว่า เราพยายามลดบทบาทของเราลงมา ให้ชาวบ้านได้คิดโครงการ จัดซื้อจัดจ้าง ร่วมตรวจสอบโครงการ แล้วทางราชการจะเป็นผู้กลั่นกรองอนุมัติ เพราะฉะนั้นอะไรที่ไม่ดี เราพร้อมแก้ไข ยืนยันว่า หากตรวจสอบพบทุจริตคอร์รัปชั่น เราจัดการแน่ ให้ว่ากันไปตามถูกผิด เปิดกว้าง และเคารพความเห็นประชาชน ต่อกรณีนี้หากเราตรวจสอบแล้วเสร็จเมื่อไหร่ก็จะแจ้งให้ทราบต่อไป” รองปลัด มท. กล่าว
ขณะที่นายพิบูลย์ หัตถกิจโกศล ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวชี้แจงว่า เพิ่งทราบเรื่องดังกล่าว และกำลังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงไปตรวจสอบในรายละเอียดอยู่ เพราะเนื่องจากภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตฯ ที่มายื่นหนังสือร้องเรียนยังกระทรวงมหาดไทยนั้น ยังเป็นในลักษณะภาพรวมที่ส่วนใหญ่จะเน้นลงไปในพื้นที่ ต.หนองไผ่เป็นหลัก จึงยังไม่ทราบว่าจะมีพื้นที่ตำบลอื่นๆในจังหวัดด้วยหรือไม่ ขณะเดียวกันทางกระทรวงมหาดไทยได้ประสานมาแล้ว และจะส่งผู้ตรวจราชการกระทรวงลงไปตรวจสอบหาข้อเท็จจริงในพื้นที่อีกด้วย ซึ่งเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อปี 2559 ก่อนตนจะมารับตำแหน่ง และเป็นช่วงแรกๆที่โครงการลงไปยังพื้นที่ ยืนยันว่าเราจะดำเนินการแน่นอน เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความโปร่งใส.