เมืองย่าโมจัดสงกรานต์สายบุญ
เทศบาลนครโคราชจัดงานสงกรานต์งดกิจกรรมรื่นเริง เปลี่ยนเป็นถนนสายบุญ อัญเชิญพระคู่บ้านคู่เมือง ลอดซุ้มประตูชุมพลให้ปชช.ได้สรงน้ำ
11 เม.ย.60 นายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนคร(ทน.)นครราชสีมา เปิดเผยการจัดกิจกรรมเทศกาลสงกรานต์ ว่า ปีนี้ ทน. ได้งดจัดงานรื่นเริง โดยเปลี่ยนจัดงานสงกรานต์ย้อนยุค เพื่อทำนุบำรุงวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของไทย ช่วงเช้าตรู่ วันที่ 13 เมษายน จัดพิธีทำบุญตักบาตรพระเถระ 9 รูป ที่ลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) ช่วงบ่าย เริ่มเวลา 13.00 น. เนรมิตซุ้มประตูชุมพล เริ่มตั้งแต่ถนนจอมพล ถึงทางเข้าวัดพระนารายณ์มหาราชวรวิหาร (วัดกลางนคร ) จัดตกแต่งเป็นเส้นทางบุญ โดยอัญเชิญพระคันธารราษฎร์พระคู่บ้านคู่เมือง ลอดซุ้มประตูชุมพล เคลื่อนผ่านเป็นระยะทางประมาณ 800 เมตร เพื่อให้ประชาชนได้สรงน้ำพระ นำความอุดมสมบูรณ์เข้าสู่เมือง รวมทั้งเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตและครอบครัวส่วนการละเล่นน้ำสงกรานต์ ทน. ฯ ได้เปิดท่อแดงดับเพลิง ตามหัวเมืองรวม 10 จุด เพื่อบริการน้ำสะอาด ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้เล่นน้ำสงกรานต์อย่างจุใจ ซึ่ง ทน. ฯ จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผลักดันให้กิจรรมมหาสงกรานต์โคราช แห่พระลอดซุ้มประตูเมือง ให้เป็นงานยิ่งใหญ่ระดับภูมิภาคและจัดต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี
ด้านพระสีหราชสมาจารมุนี รองเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระนารายณ์มหาราชวรวิหาร กล่าวถึงรายละเอียดการแห่พระลอดซุ้มประตูเมือง ว่า ช่วงเที่ยงวัน ที่วัดพระนารายณ์ ฯ จัดพิธีสักการะพระทศพลญาณประธานบารมีประจำ ที่พระวิหารหลวง สักการะพระคันธารราษฎร์ โดยพระสงฆ์ 9 รูปเจริญชัยมงคลคาถา อัญเชิญพระคันธารราษฎร์ หรือ พระปางขอฝน เป็นพระพุทธรูปสำคัญจากวัดพระนารายณ์ ขึ้นสู่ราชรถจัดขบวนแห่ให้ผู้ร่วมงานเดินตาม รอบเมืองตามเส้นทางที่กำหนดลอดซุ้มประตูเมืองให้ประชาชน และนักท่องเที่ยว ได้ถวายสรงน้ำ กราบไหว้สักการะ บูชา ซึ่งมีการแสดงนางรำชุด “ ตำนานสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ” การละเล่นสงกรานต์แบบไทยดั่งเดิม ก่อพระเจดีย์ทราย และรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ ถือเป็นการรื้อฟื้นประเพณี วัฒนธรรมอันดีงาม เมื่อปี พ.ศ.2522 หรือ 38 ปีที่ผ่านมา ยุคสมัยเป็นเทศบาลเมืองนครราชสีมา ได้เคยอันเชิญ หลวงพ่อพระคันธารราษฏร์ ให้ชาวโคราชได้สรงน้ำพระ หลังจากนั้นก็ไม่ได้จัดขึ้นมาอีก รวมทั้งเป็นจุดเริ่มต้นสร้างความเชื่อทัศนคติว่าเทศกาลสงกรานต์ของไทย ไม่ได้สำคัญแค่เพียงเล่นสาดน้ำกันเท่านั้น มุ่งหวังให้ประเพณีอันดีงามกลับคืนมาเจริญรุ่งเรืองอีกครั้ง แล้วสืบสานต่อไปยังคนรุ่นหลัง
สำหรับ วัดพระนารายณ์แห่งนี้ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงสร้างขึ้นมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ปรากฏ ระบุว่า สร้างเมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ.2199 หรือกว่า 361 ปี เมื่อครั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงย้ายเมืองหลวงมาจาก อ.สูงเนิน มาตั้งอยู่ใจกลางเมือง
วัดพระนารายณ์ มีพระอุโบสถตั้งอยู่เกาะกลางสระบัวทิศตะวันออกของวัด พระวิหารหลวง และเทวรูปพระนารายณ์สี่กร จำหลักด้วยหินทรายฝีมือขอมโบราณ อันเป็นสัญลักษณ์แสดงพระนามผู้สร้างวัด จึงเป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองที่ประชาชนให้ความเคารพนับถือ ในสมัยก่อน เคยมีพิธีข้าราชการทุกแผนก จะต้องสาบานตนว่า ต้องรับราชการสนองพระเดชพระคุณด้วยความจงรักภักดี ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต พิธีนี้เรียกว่า พิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ทางราชการได้ใช้วัดพระนารายณ์มหาราช เป็นสถานที่ในการประกอบพิธี รวมทั้งให้เป็นสถานที่ทำพิธีสวดเสกน้ำพระพุทธมนต์ถวายในงานพระราชพิธีเสวยราชสมบัติ